สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) พัฒนากำลังคนและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ของไทย พร้อมร่วมงาน TPCA Show 2024 แสดงศักยภาพความพร้อมของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของภูมิภาค นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงของประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูงรักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำโดย รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีกับภาคอุตสาหกรรม PCB ของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยคณะผู้แทนไทยได้เยี่ยมชมโรงงานผลิต PCB ชั้นนำของไต้หวัน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยมชมภาควิชา Semiconductor Engineering คณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหลงหัว ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม
เป้าหมายของการเยือนครั้งนี้คือการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง TPCA กับหน่วยงานไทย ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในหลายมิติ ได้แก่ การพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมเฉพาะทางด้าน PCB สำหรับนักศึกษาและบุคลากรไทย การจับคู่การฝึกงานระหว่างนักศึกษาไทยกับบริษัทผู้ผลิต PCB ชั้นนำ การส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตไทยในอุตสาหกรรม PCB และการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา
ผศ.ดร.พูลศักดิ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน โดยที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้ร่วมกับ BOI และ TPCA จัดโครงการ Online Job Matching เชื่อมโยงบัณฑิตไทยกับบริษัท PCB ชั้นนำจากไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี การมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยจากทุกภูมิภาคในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม PCB ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ
ในส่วนของการร่วมงาน TPCA Show 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน PCB ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สอวช. และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้เข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการในโซน “Thai Pavilion” เพื่อนำเสนอ STEMPlus แพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม อุดมศึกษา และภาครัฐ โดย นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. ได้นำเสนอบทบาทของ สอวช. และ STEMPlus แพลตฟอร์ม ในการเป็นกลไกกลางเชื่อมโยงความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรมกับการผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในด้านความพร้อมของกำลังคนคุณภาพสูง
นอกจากนี้ ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยยังได้นำเสนอศักยภาพในการผลิตบุคลากรคุณภาพสูงป้อนสู่อุตสาหกรรม ทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา และความพร้อมของห้องปฏิบัติการและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม PCB ไทย ผ่านการพัฒนากำลังคนทักษะสูง การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการยกระดับมาตรฐานการศึกษา อันจะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างงานคุณภาพสูงสำหรับกำลังแรงงานไทย และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี