"เอกนัฏ" เปิดโรดแม็ป 3 ปี ดันไท ฮับโกโก้แห่งอาเซียน เชื่อมท่องเที่ยวด้วยซอฟต์พาวเวอร์โชว์ศักยภาพ “ดีพร้อม” ยกระดับผู้ประกอบการโกโก้สู่สินค้า GI โกยรายได้เพิ่มอีก 8 พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ร้าน โกโก้ วัลเลย์ คาเฟ่ ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมติดตามความสำเร็จการส่งเสริมอุตสาหกรรมโกโก้ในพื้นที่ เพื่อเร่งเดินหน้าประเทศไทยสู่ฮับโกโก้ของอาเซียน สนองยุทธศาสตร์ผู้นำแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนของรัฐบาล โดยมีแผนระยะ 3 ปี เชื่อมโยงกับซอฟต์พาวเวอร์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) รุกพัฒนาผู้ประกอบการโกโก้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านการพัฒนาในแต่ละภูมิภาคก้าวสู่การเป็นสินค้า GI เพื่อตอกย้ำการเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่เน้นความโดดเด่นในเชิงคุณภาพ และอัตลักษณ์ทางรสชาติ ด้วยการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และมาตรฐานต่าง ๆ คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอีกกว่า 8 พันล้านบาท พร้อมชูต้นแบบความสำเร็จ โกโก้วัลเล่ย์ ธุรกิจโกโก้ครบวงจรตั้งแต่การปลูก แปรรูป การสร้างแบรนด์ และแหล่งท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนโดยรอบกว่า 300 ครัวเรือน
นายเอกนัฏ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย“ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” พร้อมมุ่งสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน และมุ่งเซฟอุตสาหกรรมไทยที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการสร้างรายได้และเป็นการกระจายมูลค่าเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะ “เกษตรอุตสาหกรรม” ซึ่งเกษตรกรไทยมีศักยภาพและมีการเพาะปลูกในทุกภูมิภาค โดยจะมุ่งสนับสนุนทั้งพืชเศรษฐกิจเดิม และพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โกโก้ ที่สามารถสร้างมูลค่าตั้งแต่ผลสด เมล็ดแห้ง และการแปรรูปเป็นสินค้าสร้างสรรค์ อีกทั้งยังพบว่าตั้งแต่โกโก้เริ่มได้รับความนิยมในไทย ยังเป็นแรงจูงใจในหลายด้าน เช่น โมเดลธุรกิจคาเฟ่ ท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร รวมถึงการจ้างงานในชุมชนที่มากขึ้น ทั้งนี้ ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีผลผลิตโกโก้ รวมทั้งหมด 1,016.78 ตัน พบการตื่นตัวของผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาสนใจนำทุกส่วนจากโกโก้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงหลายรูปแบบ เช่น เครื่องสำอาง น้ำสกัดโกโก้ ฯลฯ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายใต้เป้าหมายการผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำในแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพ กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมโกโก้ในอาเซียน ด้วยเล็งเห็นความนิยมและแนวโน้มการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงจากจุดแข็งของไทยที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้คือ การผลักดันให้พันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาและปลูกในแต่ละภูมิภาคก้าวสู่การเป็นสินค้า GI เพื่อตอกย้ำการเป็นแบรนด์ของท้องถิ่น ที่บ่งบอกถึงคุณภาพ แหล่งที่มาของสินค้า และโอกาสเพิ่มมูลค่าของโกโก้ในรูปแบบของสินค้าและบริการ รวมถึงพัฒนาให้มีความโดดเด่นในเชิงคุณภาพ อัตลักษณ์ทางรสชาติ และหลีกเลี่ยงการแข่งขันในเชิงปริมาณ ดังเช่นที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมาแล้วกับอุตสาหกรรมกาแฟ รวมถึงการพัฒนาสารสกัดจากโกโก้ไทยที่เป็นทั้งสารสกัดจากกลิ่น รสชาติ และคุณประโยชน์ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าใหม่ที่เหนือไปกว่ารูปแบบของเดิม โดยได้มอบนโยบายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) สนับสนุนโกโก้ในเชิงรุกผ่านการเข้าไปให้ความรู้ การนำเครื่องจักร เทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงในด้านการพัฒนามาตรฐานทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโกโก้โดยตรง ตลอดจนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) วางแผนการส่งเสริมโกโก้ในระยะ 3 ปี (2567 – 2569) โดยวางเป้าเพิ่มจำนวนผลผลิตภาคเหนือเพิ่มขึ้น 240 ตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 57 ตัน ภาคใต้เพิ่มขึ้น 113 ตัน ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 682 ตัน และภาคกลางเพิ่มขึ้น 5 ตัน คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ด้วยมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) พัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร ผ่านการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดโกโก้ ตั้งแต่ในขั้นตอนการแปรรูปเพื่อให้ตรงความต้องการของตลาด เทคนิคการคัดเลือกเมล็ดโกโก้ เทคนิคการหมัก การรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อการทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ
2) พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ซึ่งจะพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์พร้อมนำเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงสำหรับเกษตรแปรรูปมาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการ เช่น เครื่องคั่วเมล็ดโกโก้อัจฉริยะด้วยระบบ AI เครื่องบีบสกัดไขมันเนยโกโก้ ฯลฯ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสินค้าสร้างสรรค์
3) พัฒนาปัจจัยเอื้อ ด้วยการยกระดับมาตรฐานเมล็ดโกโก้ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่าสากล อีกทั้งยังได้ส่งเสริมด้านเกษตรปลอดภัยโดยเฉพาะการปรับตัวผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
4) ส่งเสริมด้านการตลาดโดยนำผู้ประกอบการแปรรูปโกโก้ ซึ่งในปีนี้ได้เน้นการทดสอบตลาดในงานแสดงสินค้า เช่น THAIFEX ANUGA ASIA 2024 งาน Craft Cocoa Village ฯลฯ ส่วนในปี 2568 – 2569 จะเน้นการผลักดันเข้า สู่โมเดิร์นเทรดให้มากขึ้น นอกเหนือไปจากเกษตรอุตสาหกรรม โกโก้ยังมีความสำคัญในมิติซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอาหาร ที่สามารถพัฒนาได้ทั้งสินค้าสร้างสรรค์ รูปแบบของอาหารใหม่ ๆ และสามารถทำให้ไทยในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมมีส่วนแบ่งมูลค่าจากตลาดโกโก้ และอาหารที่มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงกับงานเทศกาล (Festival) ที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจคาเฟ่ สปา สินค้าของฝากและสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ด้านความงามและสุขภาพรวมถึงการบูรณาการกับสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทยที่มีแผน 3 ปี ในการเพิ่มเทรนเนอร์มืออาชีพ สร้างผู้มีความรู้ในการทำคราฟต์ช็อกโกแลต และสร้างตรารับรองโกโก้ รวมทั้งการร่วมกันจัด Asian Chocolate Festival เพื่อตอกย้ำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายโกโก้ที่สำคัญของโลกพร้อมสร้างเครือข่ายอย่างน้อย 33 ประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้โมเดลชุมชนดีพร้อม และดีพร้อมฮีโร่ เพื่อให้เศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และธุรกิจเป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ และนำไปสู่การส่งต่อความสำเร็จไปยังชุมชนอื่น ๆ
นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเสริมว่า ดีพร้อมได้กำหนดให้จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ต้นแบบการปลูกโกโก้ทั่วประเทศภายใต้แนวคิด “น่านโมเดล” โดยมุ่งหวังสร้างความนิยมการปลูกพันธุ์โกโก้น่าน 133 ที่เป็นสินค้า GI โดยการเพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกและจำนวนผู้ประกอบการ สร้างต้นแบบธุรกิจ หรือดีพร้อมฮีโร่ขึ้น โดยมีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ คือโกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley) ต้นแบบธุรกิจโกโก้ครบวงจรของน่านที่มีศักยภาพตั้งแต่การปลูก แปรรูปจนถึงการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลก โดยทุกวันนี้โกโก้วัลเลย์ ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของจังหวัดน่าน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบโกโก้และช็อกโกแลต และขณะเดียวกันธุรกิจนี้ยังได้ส่งต่อความรู้การปลูกโกโก้ให้กับเกษตรกรในชุมชน สร้างรายได้ และผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนโดยรอบมากกว่า 300 ชุมชน เช่น กลุ่มขายผลสดโกโก้ กลุ่มชนเผ่า กลุ่มย้อมผ้า ทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และสปา เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ได้สอดรับกับความต้องการตลาด เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่มสำเร็จรูป คราฟท์ช็อกโกแลต ในครั้งนี้ด้วย
นายมนูญ ทนะวัง ผู้ก่อตั้ง Cocoa Valley Resort เปิดเผยว่า โกโก้ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดน่านส่วนใหญ่เป็น “โกโก้สายพันธุ์ น่าน133” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทยที่พัฒนาขึ้นโดยโกโก้วัลเล่ย์ เริ่มต้นจากการทดลองปลูกบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ใน Cocoa Valley Resort ด้วยแนวทางแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี และให้ความสำคัญกับความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งการมีดินที่สมบูรณ์และภูมิอากาศที่เหมาะสม ช่วยเสริมให้ต้นโกโก้ที่มีคุณภาพ สามารถออกผลผลิตได้จำนวนมาก และมีเอกลักษณ์ เช่น มีผลเรียวยาวสีชมพู กลิ่นหอม รสชาติเข้มข้นกว่าโกโก้สายพันธุ์อื่น และมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 50 – 60 เม็ดต่อผล ซึ่งหลังประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ จนได้รับรองสายพันธุ์ โดยกรมวิชาการเกษตร จึงได้ส่งต่อองค์ความรู้การปลูกโกโก้สายพันธุ์ น่าน133 ไปยังเกษตรกรรายอื่น ๆ ในจังหวัดน่าน และเครือข่ายของโกโก้ วัลเล่ย์อยู่กว่า 400 ครอบครัว จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ พะเยา ลำปาง พิษณุโลก ระยอง และชลบุรี ช่วยให้เกษตรกรท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขายผลสดของโกโก้สายพันธุ์ น่าน133 ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งต่างจากเดิมที่เคยได้กิโลกรัมละ 8 – 10 บาท
ทั้งนี้ นายมนูญ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของโกโก้วัลเลย์ยังมีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น โดยส่งเสริมการปลูกโกโก้ในพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการดูแลและจัดการผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การหมัก ตาก จนถึงการแปรรูป เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมียม เช่น ช็อกโกแลตแท่ง ผงโกโก้ และเครื่องดื่มโกโก้ ที่ตอบโจทย์กลุ่มตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยยังนำโกโก้มาแปรรูปเป็นช็อกโกแลตบริสุทธิ์ เพื่อนำมาทำเป็น เครื่องดื่ม และเบเกอรี่ บริการในร้าน Cocoa Valley Café โดยเมนูของร้านทั้งหมดใช้ ช็อกโกแลตแท้มาเป็นส่วนผสมหลักในทุกเมนู และใช้เวลากว่า 8 เดือน จากดอกสู่ผลสุกจากผลสุกสู่เมล็แห้ง และจากเมล็ดแห่งสู่ช็อคโกแลตบริสุทธิ์ โดยใช้โกโก้ที่มีส่วนผสมของไขมันโกโก้ อยู่ 100% ซึ่งไขมันโกโก้เป็นไขมันที่ดีที่สุดและแพงที่สุดของไขมันพืช อีกทั้งโกโก้นั้นมีประโยชน์มากมาย ที่มากกว่าความอร่อยคือ โกโก้มีสารโพลีฟีนอลล์ (polyphenols) มีคุณสมบัติในการด้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดไขมันในเลือด และช่วยลดความดันโลหิต
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เข้าให้คำปรึกษา เข้ามาช่วยยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของตลาดด้วยสินค้าที่ผลิตจากโกโก้แท้ โดยเน้นสร้างมูลค่าและเอกลักษณ์ที่แตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ อาทิ ช็อกโกแลตบาร์ โกโก้พร้อมชง ชาโกโก้ บราวนี่โกโก้ โกโก้คุกกี้ โกโก้สแน็ค สครับโกโก้ สบู่ ลิปบาล์ม และบอดี้โลชั่น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้กระบวนการปลูกและแปรรูปโกโก้ พร้อมพักผ่อนในที่พักท่ามกลางธรรมชาติ และยังเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์แปรรูปโกโก้ไปสู่โมเดิร์นเทรด อาทิ ห้างสรรพสินค้าโตคิว Tops The Mall และกำลังจะขยายตลาดสู่ประเทศญี่ปุ่น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี