สภาอุตสาหกรรม จับมือหอการค้านครพนม จัดประชุมร่วมนักลงทุนจีน ส่งออกโคขุน ข้าวอินทรีย์ เตรียมจีบตั้งโรงงานยางพาราแปรรูป เขตเศรษฐกิจพิเศษ
26 พ.ย.67 ที่ห้องประชุมบริษัท โตโยต้า เจริญศรี จำกัด นายธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้า จ.นครพนม นายวรพนธ์ บุตรธิเดช ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม พร้อมด้วยนักธุรกิจ องค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม ต้อนรับคณะสถาบันความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institulc:MI) ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซี่ยน (Chaina-ASEAN Business Center:CABC) และนักลงทุนจากเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หรือกว่างซี (Guangxi) ที่มีนครหนานหนิงเป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน มีความสนใจในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และมีกำหนดการเดินทางมาประชุม ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 เพื่อรับฟังข้อมูลส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมดังกล่าวข้างต้น
โดยมีเจ้าของกิจการจากกว่างซี จำนวน 13 คน พร้อมผู้ติดตามและล่ามรวมทั้งสิ้น 30 คน ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการ เช่น ผู้ผลิตแผ่นรองดูดซับน้ำจากดินเบา และ ตลาดสินค้าในบ้านอาเซียนยุโรป อเมริกา,อุตสาหกรรมปิโตรเลียม (น้ำมันสำเร็จรูป),อุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้า พลังงานใหม่,การเกษตร,อุปกรณ์ไฟฟ้า,การบริหารจัดการโลจิสติกส์-คลังสินค้า,อุตสาหกรรมการผลิต เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องยนต์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชุด ตู้จ่ายไฟ หม้อแปลง เครื่องจักร วิศวกรรม เครื่องจักรสำหรับเรือ เครื่องจักรผสม,อุตสาหกรรมการลงทุน รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สำนักงานเชิงวัฒนธรรม อุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า รองเท้า หมวก,สินค้าอุปโภคบริโภค,ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้าส่องสว่าง,อุปกรณ์กีฬาและสินค้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง งานฝีมือ ของเล่น กระเป๋าเดินทาง,การค้าภายในประเทศ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า และเทคโนโลยี,การผลิตอาหารเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ,อุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศแบบรวมศูนย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน,ตลาดวัสดุก่อสร้างและโรงแรม,การก่อสร้างและการผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ นายวรพนธ์ บุตรธิเดช ประธานสภาอุตสาหกรรมนครพนม ได้มือจับกับหอการค้านครพนม และนักธุรกิจในจังหวัด ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมโคเนื้อ โคขุน ข้าวอินทรีย์ และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา กล่าวว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน ได้เติบโตอย่างโดดเด่นในกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้รับการกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าที่สำคัญสู่ตลาดจีนตอนใต้
โดยพื้นที่กลุ่มจังหวัดสนุก มีศักยภาพการผลิตมีโคเนื้อทั้งหมดประมาณ 541,400 ตัวต่อปี คือ โคขุน (Premium และ Mediun) จำนวน 3,000 ตัวต่อเดือน หรือ 36,000 ตัวต่อปี ส่วนโคเนื้อ (Red meat)จำนวน 10,500 ตัวต่อเดือน หรือ 126,000 ตัวต่อปี โดยมีการแปรรูปในพื้นที่ 3 จังหวัด มีสถานประกอบการรับชำแหละ จำหน่าย และ แปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9000 : 2015 , GMP Codex , HACCP Halal และ Certicated ได้แก่ บริษัท นครพนมบีฟ จำกัด (นครพนม) ชำแหละโคเนื้อ 240 ตัวต่อเดือน ส่วนสหกรณ์ กปร.กลาง โพนยางคำจำกัด (สกลนคร) สามารถชำแหละได้ 544 ตัวต่อเดือน และ สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด (มุกดาหาร) ชำแหละได้ 216 ตัวต่อเดือน
ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตข้าว เพื่อส่งออกแบบครบวงจรในประเทศไทย ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดสนุก ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวครบวงจร ด้วยศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่ง และด้านโลจิสติกส์เชื่อมต่อกับจีน รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางกลุ่มนักธุรกิจนครพนม จึงนำเสนอโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมข้าวคุณภาพสูง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั้งข้าวทั่วไป (Common Rice )และข้าวอินทรีย์ (Organic Rice) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล สามารถส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั่วโลก รวมถึงยุโรปและอเมริกา พร้อมศักยภาพในการพัฒนาสู่มาตรฐาน Organic Chaina เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจีนโดยเฉพาะ
นายวรพนธ์ บุตรธิเดช กล่าวต่อว่าด้วยความพร้อมของโครงการพื้นฐานการผลิตที่ครบวงจร จ.นครพนมมีโรงสีข้าวที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล พร้อมกำลังการผลิตขนาดใหญ่ครอบคลุม ผลิตภัณฑ์จากข้าวครบวงจร ทั้งข้าวสาร รำข้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าสูง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง(Hud) การค้าข้าวแห่งภาคอีสาน เพื่อส่งออกสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุด
นอกจากนี้ จ.นครพนม เป็นจังหวัดที่ปลูกยางพาราเป็นอันดับ 6 ของอีสาน ประมาณ 313,040 ไร่ โดยจากฐานข้อมูลการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่าต้นยางถ้ามีอายุเกิน 25 ปี จะให้ผลผลิตน้ำยางน้อยลง จึงต้องตัดโค่นนำต้นยางไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เกษตรกรชาวสวนยางจะตัดขายส่งไปยังโรงอบต้นยางที่ จ.บึงกาฬ เพื่อส่งต่อไปที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ จ.ระยอง ในการพบปะนักธุรกิจจากกว่างซี จะนำเสนอให้นักลงทุนชาวจีนมาเปิดโรงงานเฟอร์นิเจอร์แบบครบวงจร หากเป็นรูปธรรมสามารถสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้จำนวนมาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี