27 พ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมแซฟไฟร์ 108-110 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี มีการจัดการประชุมวิชาการ Mini-Symposium) “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, We can)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า ในโลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมอย่างฉับพลัน (Disruption) ในหลายมิติ ส่งผลกระทบทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ได้แก่ 1.การปฏิวัติทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม 2.การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น 3.การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมีปัจจัยทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและความขัดแย้งทางการเมือง
4.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tension) จากการแข่งขันของ 2 ชาติมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา 5.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งมีปัจจัยจากเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้คนหันไปซื้อ-ขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ 6.การเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ มีการนำเทคโนโลยีอย่าง AI รวมถึงการตรวจวินิจฉัยโรคทางไกล (Telemedicine) มาใช้ เพื่อให้บริการสุขภาพมีความแม่นยำและเข้าถึงได้ง่าย
7.การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและแรงงาน จากการศึกษาแบบเดิมสู่การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล การทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแบบฟรีแลนซ์ 8.การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจเสมือนจริง เป็นการสร้างประสบการณ์ในพื้นที่ออนไลน์ และ 9.การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ที่กำลังพาโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบแยกส่วนกัน แต่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ดังนั้นการเข้าใจและเตรียมตัวรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้บุคคลและองค์กรสามารถปรับตัวและสร้างโอกาสในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าอีกหลายประเทศ ไทยกำลังเผชิญหน้ากับโครงสร้างประชากรที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง
ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นความท้าทายทั้งในแง่เศรษฐกิจ สุขภาพ การเมืองและสังคม แต่ก็อาจเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่สามารถใช้เป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และร่วมกันผลักดันการพัฒนาประเทศในทุกมิติไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามุมมองของคนไทยต่อสังคมสูงวัยยังค่อนข้างแคบ กล่าวคือ หลายคนยังมองว่าเป็นเพียงเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น เช่น การจัดสวัสดิการต่างๆ หรือการดูแลสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง สังคมสูงวัยคือเรื่องของทุกคนและทุกช่วงวัยในสังคม
ซึ่งตนขอเสนอข้อคิดไว้ 5 ประการ คือ 1.รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมโดยรวมที่มีต่อสังคมสูงวัย เช่น ที่บอกว่าสังคมสูงวัยคือเรื่องของทุกคนและทุกช่วงวัยในสังคม มีตัวอย่างในระดับครอบครัวที่ประชากรวัยแรงงานต้องเป็นผู้ดูแลผู้สูงวัย หากขาดระบบสวัสดิการที่ดีภาระอาจตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนั้น ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระแต่เป็นพลังของสังคม สามารถเป็นครูชีวิต และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Live Long Learning) เป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัว
2.มีกลไกสานพลังแนวราบ เป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน มีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติจริง มีการสื่อสารกับสังคมเพื่อให้ทั้งสังคมเรียนรู้ไปพร้อมกัน 3.ปรับสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงพื้นที่และกลไกให้เอื้อต่อการเรียนรู้และทำงานร่วมกันของคนทุกวัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ลดช่องว่างระหว่างวัย ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาสังคมไทยให้เท่าเทียมละยั่งยืน
4.ใช้วัฒนธรรมสังคมเกื้อกูลเป็นธงนำ ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งของสังคมไทย โดยการเข้าสูงสังคมสูงวัยย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้วัฒนธรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และ 5.ขยายผลนวัตกรรมและรูปธรรมความสำเร็จไปสู่วงกว้าง เช่น การปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่สอดคล้องกับสังคมสูงวัย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการจ้างงาน สร้างค่านิยมการออมตั้งแต่อายุยังน้อย ฯลฯ
“การพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนในบริบทของสังคมสูงวัย ต้องอาศัยความร่วมมือของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยในสังคม ดังเช่นงานที่ สช. ร่วมกับองค์กรภาคี 12 องค์กร เป็นเจ้าภาพร่วมกัน สานพลังทำงานนี้บนแนวคิดการสานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน ผมคิดว่าเป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านมองการเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข สังคมที่เกื้อกูลกัน สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปาฐกถาหัวข้อ “สังคมสูงวัย..จุดเปลี่ยนสู่ศักยภาพใหม่ของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า” โดยกล่าวว่า หากประเทศไทยไม่มีใครสนใจทำอะไร หรือทำอย่างที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน คำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นโจทย์ที่ทั้งท้าทายและเศร้า หากให้ตนเฉลยก็คือเป็นระเบิดเวลาของประเทศไทย
ซึ่งขณะนี้คนไทยอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ โดยหากย้อนไปเมื่อราว 50 ปีก่อน อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยคือ 59 ปี แต่ปัจจุบันผู้หญิงมีอายุขัยที่ 79 ปี ส่วนผู้ชายคือ 74 ปี หรือเพิ่มขึ้น 20 ปี ในช่วงครึ่งศตวรรษ ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ เมื่อ 50 ปีก่อนเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านคน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4 แสนกว่าคน รวมถึงพบอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด นอกจากนั้น อัตราการเจริญพันธุ์ที่บอกว่าอยู่ที่ 1.2 เด็กที่เกิดก็เกิดอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อมเสียมาก ส่วนคนที่พร้อมก็บอกว่าไม่มีลูก หรือแม้จะอยากมีแต่กลับไม่ตั้งครรภ์
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนที่พร้อมมีลูกมักแต่งงานช้า ด้วยการเรียนหนังสือสูงขึ้นและทำงานยาวนานขึ้น แต่มีช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่แคบลง เมื่อแต่งงานช้าก็มีลูกยาก ดังนั้นหากไม่ทำอะไรเลย ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจำนวนมากจะเกิดจากคนที่ไม่พร้อม คำถามคือแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ฟังถึงตรงนี้เริ่มเศร้าแล้วใช่หรือไม่ นี่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงไม่ใช่การคาดเดา
อีกด้านหนึ่ง สัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มไปถึงร้อยละ 30 ในปี 2575 และในปี 2577 อาจคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ สวนทางกับเด็กและคนวัยทำงานที่สัดส่วนเล็กลง คำถามคือจะทำอย่างไรกับคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต และแม้กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยก็ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติแล้ว แต่ก็ยังกังวลเรื่องบุคคลสีเทามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จะแอบแฝงเข้ามา ประเทศไทยมีระบบอะไรในการคัดกรองชาวต่างชาติที่มีคุณภาพ
“เดิมถ้าเอาผู้สูงอายุหารด้วยคนวัยทำงาน เราจะบอกว่าผู้สูงอายุ 1 คน มีคนวัยทำงาน 4 คนช่วยสนับสนุน ช่วยดูแล 4 ต่อ 1 ปัจจุบันนี้เหลือ 2 ต่อ 1 อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือเท่าไร? อาจจะไม่เหลือเลยเพราะลูกไม่ดูแลพ่อแม่ เป็นไปได้ไหม? ยิ่งน่าคิด แต่น้อยกว่า 2 ต่อ 1 แน่ บางคนก็โชคดีแต่บางคนก็โชคไม่ดี แล้วคนวัยเด็กปัจจุบันที่จะโตเป็นคนวัยทำงานต่อไปจะต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุยืนขึ้น และเผลอๆ ปู่ย่าตายายยังมีชีวิตอยู่อีกเพราะเราอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ ถามตัวพวกเราในขณะนี้ก็ได้ กลับไปดูครอบครัวเรา ตอนนี้เริ่มมีผู้สูงอายุเยอะขึ้นใช่ไหม?” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุ
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองกับชนบท ผู้สูงอายุในชนบทมีสัดส่วนที่สูงกว่าในเมืองและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนที่ออกจากบ้านเกิดไปทำงานต่างถิ่น หากคนคนนั้นประสบความสำเร็จก็จะไม่กลับ แต่หากไม่สำเร็จก็จะกลับ ดังนั้นผู้สูงอายุที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือเริ่มอ่อนแอลงก็จะกลับบ้าน คำถามคือประเทศไทยจะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแต่เฉพาะเรื่องเงิน แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตด้วย
กล่าวคือ คนที่มีฐานะดีและมีเงินออมยังพอเอาตัวรอดได้ ในขณะที่คนที่ไม่ชอบออมแต่ชอบเป็นหนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะลำบากขนาดไหน จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ประสิทธิภาพในการผลิตจะเป็นอย่างไร หากคนที่มีคุณภาพไม่ท้อง โดยอีก 10 ปีข้างหน้า คนวัยทำงานก็จะมีคุณภาพไม่ค่อยดีนักและจำนวนก็ยังมีไม่มากด้วย ดังนั้นหากมองในมุมของรัฐบาลก็คือจะต้องเจอปัญหาที่หนักมาก เพราะจะเก็บภาษีอากรไม่ค่อยได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สาธารณะอยู่ร้อยละ 60 แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้าจะยังก่อหนี้ได้อีกหรือไม่
หรือหากก่อหนี้เพื่อนำเงินมาแจก อีก 10 ปีข้างหน้าใครจะใช้หนี้ ก็จะเป็นระเบิดเวลาของรัฐบาลหรือไม่ ดังนั้นหากใครคิดว่าจะรอสวัสดิการจากรัฐ บอกได้เลยว่าไม่รอด หากแต่ละคนไม่ช่วยเหลือตนเอง และชุมชนไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งเมื่อช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมากขึ้น ปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมอื่นๆ ก็จะตามมา หรืออย่างกองทุนประกันสังคม ที่ช่วยกันร่วมจ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ หากผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีการนำเงินประกันสังคมมาใช้เป็นสวัสดิการมากขึ้น แต่คนวัยทำงานที่จ่ายเงินสมทบมีน้อยลง อีก 10 ปีข้างหน้าจะอยู่ได้หรือไม่
แม้กระทั่งสวัสดิการบำนาญข้าราชการ ในอนาคตรัฐจะยังมีเงินใส่ลงไปหรือไม่ อย่างสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็จะเห็นว่าเริ่มมีปัญหาแล้ว ดังนั้นหากปล่อยกันไปแบบนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้น สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการก่อตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยหวังให้ประชาชนมาสมัครใจออมแล้วรัฐจะสมทบเงินให้อีกส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนไทยไม่นิยมออม โดยมีผู้สมัครเพียงหลักแสนคนเท่านั้น
“สภาพแวดล้อม ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากพลัดตกหกล้มวันละ 4 คน ลองคิดว่าคนที่บาดเจ็บพิการอีกหลายหมื่นคน แล้วต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเรามีจำนวนผู้สูงอายุจำนวนมากและเราไม่ปรับสภาพแวดล้อม มันจะเป็นอย่างไร? เพราะฉะนั้นอาจจะต้องนึกถึงอาคารสถานที่ ทั้งหน่วยราชการ อาคารสาธารณะ ถนนหนทาง ที่จะต้องคิดถึงมัน ถ้าไม่ปรับให้เข้ากับสังคมสูงวัย คือเราจะมีผู้สูงอายุในจำนวนมาก มันจะเป็นอย่างไร?” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า แนวทางอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องสร้างระบบ เพราะเป็นความจริงที่หนีไม่พ้น หากไม่มีระบบรองรับคือพังแน่นอน ซึ่งปัญหาคือคนไทยไม่ชอบมองไปข้างหน้า แต่ชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ หรือไปตายเอาดาบหน้า แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะไปตายเอาดาบหน้าจะได้หรือไม่ก็ไม่รู้ และประเทศไทยก็ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ละด้านกระจายไปอยู่ตามกระทรวงต่างๆ
ทั้งนี้ ตนอยากทิ้งท้ายว่าหากนึกถึงสัจธรรมของมนุษย์ เรื่องเกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมดา แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือทำอย่างไรเมื่อเกิดแล้วจะให้แก่ช้าที่สุดและเจ็บให้สั้นที่สุด กล่าวคือ เมื่อช่วงเวลาแก่ไม่ยาวนาน ช่วงเวลาเจ็บก็จะสั้นไปด้วย หมายถึงคนคนหนึ่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ยาวนาน ไปจนถึงจุดที่พึ่งพาตนเองไม่ได้แล้วโดยอยู่ในช่วงนี้แบบไม่นานนักแล้วก็ตาย หรือก็คือสามารถทำงานหาเงินให้ได้นานๆ และมีเงินออมไว้ใช้ยามที่ต้องหยุดจริงๆ แล้ว
เมื่อคิดแบบนี้ก็จะเห็นว่า การรับมือสังคมสูงวัยต้องเริ่มทำตั้งแต่ยังเป็นวัยหนุ่ม-สาว เช่น การดูแลสุขภาพ การออม หรือเรื่องสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้นานขึ้น จะลุกขึ้นเรียนรู้การปรับสภาพแวดล้อมอย่างไร หรือเรื่องสุขภาพ ทุกคนรู้ว่าทำอย่างไรจะมีสุขภาพแข็งแรงแต่ก็ไม่ค่อยจะทำกัน รวมถึงในอนาคตที่เมื่อจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นจะเกิดปัญหาผู้ใช้บริการล้นโรงพยาบาล แล้วจะทำกันอย่างไร ชุมชนสังคมจะทำอย่างไร
“เห็นด้วยกับผมไหมว่าเราต้องยืดเวลาการแก่? ก็คือเราต้องพึ่งตัวเองให้ยาวที่สุด ฉะนั้นลองบวกไปอีก 10 ปีว่าตัวเองเท่าไร? คุณจะดิ้นทุรนทุรายขนาดไหน? ทุกวัยนะ ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยที่ยังไม่ตาย” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการประชุมวิชาการ Mini-Symposium) “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, We can)” จัดขึ้นระหว่างช่วงครึ่งวันบ่ายของวันที่ 27 พ.ย. 2567 และช่วงครึ่งวันเช้าของวันที่ 28 พ.ย. 2567 โดยจะมีการประชุมห้องย่อย หัวข้อ “เราจะร่วมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อก้าวไปสู่ Smart Aging Society ได้อย่างไร?” แบ่งเป็นวันละ 2 หัวข้อย่อย คือวันที่ 27 พ.ย. 2567 จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องสภาพแวดล้อม ส่วนวันที่ 28 พ.ย. 2567 จะเป็นเรื่องมิติสังคมและคุณภาพชีวิตกับเรื่องสุขภาพและสุขภาวะ
นอกจากนั้น ในวันที่ 28 พ.ย. 2567 ยังมีเวทีชวนคิดชวนคุยในหัวข้อ “เดอะแบก” หรือ “อุ้มบุญ” : เมื่อพ่อแม่เข้าสู่สูงวัยลูกหลานต้องเตรียมตัวอย่างไร ให้ใจเป็นสุขและได้บุญร่วมกัน?” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังพัฒนาโยบายรองรับสังคมสูงวัย เพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568 พร้อมด้วย น้องพรีน-พิชญาพร โพธิ์สง่า ก่อนปิดท้ายด้วยปาฐกถาปิดงาน เรื่อง “ต่อยอดจุดแข็งประเทศไทย ไปสู่ “Smart Aging Society” โดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี