ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 47/2567 ณ ห้องประชุมสพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom ว่า ที่ประชุมได้ประชุมติดตามขับเคลื่อนนโยบาย จากกรณีที่มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ธุรการ กลุ่มลูกจ้างของ สพฐ.ประมาณ 7 หมื่นกว่าคน ที่ได้มาชุมนุมเรียกร้องไม่เอาการจ้างแบบเหมาบริการ ซึ่ง สพฐ.ก็ได้รับความเดือดร้อนความต้องการของลูกจ้าง และได้เสนอเรื่องไปที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกรมบัญชีกลาง แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคคำตอบกลับมา ในขณะที่เวลาล่วงเลยมาแล้ว 2 เดือน ลูกจ้างได้รับผลกระทบและเดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ทาง สพฐ.จึงได้ออกหนังสือไปยัง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้ ผอ.สพท.แจ้งไปยังโรงเรียนในสังกัดที่ได้รับอัตราจ้าง ให้ทำสัญญาจ้าง และให้จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้น ภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ลูกจ้างของ สพฐ. 7 หมื่นกว่าคน ก็จะได้รับเงินค่าจ้าง เพื่อลดความเดือดร้อนของลูกจ้าง แต่หลักการ ให้จ้างตามงบประมาณที่ได้รับในลักษณะจ้างเหมาบริการไปก่อน หาก สำนักงาน กพ.หรือหน่วยงานที่ สพฐ.หารือไป ตกลงว่าให้เปลี่ยนการจ้างได้ สพฐ.ก็จะของบประมาณมาเพิ่มเพื่อมาจ่ายเป็นเงินสมทบค่าประกันสังคมให้ แต่ตอนนี้ต้องจ่ายตามเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางคือจ่ายในลักษณะจ้างเหมาบริการ จ่ายตามระเบียบพัสดุไปก่อน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ได้คลิกออฟ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน พาการเรียนไปให้น้อง” หรือ “OBEC Zero Dropout” ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าจนถึงวันนี้ สพฐ. พบว่ามีเด็กกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา จำนวน 1.2 แสนคนแล้ว ถือว่าเราทำงานเรื่องนี้กันอย่างจริงจังส่วนตัวเลขรวมเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของ ศธ.พบว่ามีจำนวน 4 แสนกว่าคนแล้วเช่นกัน
“เมื่อวานนี้ผมได้เปิดงาน “Kick off กรุงเทพเป็นหนึ่ง “พาน้องกลับมาเรียน พาการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร และมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)” กับ 8 หน่วยงาน ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพฯก็ทำกันอย่างจริงจัง เป้าหมายก็คือต้องไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา สพฐ.ก็ได้ติดตาม ค้นหา พาน้องกลับมาเรียน และพาการเรียนไปให้น้อง ซึ่งตอนนี้ได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่ติดตาม ค้นหา ซึ่งส่วนหนึ่งเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษา ส่วนที่ไม่กลับมา เราก็พาการศึกษาไปให้ ส่วนกลุ่มเด็กที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล หรือที่บ้าน สพฐ.ก็ให้จัดสื่อ จัดครูเข้าไปให้บริการ ทุกคนต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จึงมอบให้ผอ.สำนักต่างๆ ทุกสำนักเตรียมจัดทำคำของบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสอดคร้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับจุดเน้นของ สพฐ. ซึ่งปีนี้ ตนได้ฝากเน้นย้ำให้ทุกสำนักรองจัดทำงบประมาณแนวใหม่ ที่เป็นโครงการใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียน ตอบโจทย์การพัฒนาครู การพัฒนาสื่อและเป็นไปตามนโยบายใหม่ๆ เช่น นโยบาย Anyway Anytime นโยบายลดภาระครู นโยบายพอร์ตฟอลิโอออนไลน์ ซึ่งในอนาคตเราอยากเห็นเด็กของเราไปสมัครเรียนต่อ ที่ไหนไม่ต้องถือแฟ้มสะสมผลงานไปแล้ว เพียงมีแฟลชไดร์ฟก็ได้แล้ว
โดยในปี 2569 สพฐ.จะเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น รวมทั้งจะดูแลสุขภาพเด็ก ในปี 2569 สพฐ.จะทำบัตรสุขภาพเด็กผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน โดยเด็กแต่ละคนจะมีข้อมูลว่าป่วยเป็นโรคอะไร หรือมีปัญหาสุขภาพอะไร นำหนัก ส่วนสูง มีปัญหาอะไรในชีวิตเพื่อให้มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกคน จะได้มีความปลอดภัย มีความสุขตาม
นโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี