ดร.พิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นประธานการประชุมสัมมนาจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ณ โรงแรมเบลล่า บีบางกรวย จ.นนทบุรี โดยการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฉบับใหม่ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ศธ 0206.4/ว 19 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งสายงานนิเทศการศึกษาต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์และต้องได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ประกอบกับมติ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ได้พิจารณาแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้ศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้ความสามารถและศักยภาพในการแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การกำหนดสมรรถนะและประสบการณ์ของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ 2. (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ 3. (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ซึ่งทั้ง3 เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกันในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลฯ สำหรับตำแหน่งศึกษานิเทศก์
“การพัฒนาศึกษานิเทศก์ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะการพัฒนาระบบคัดกรองศึกษานิเทศก์แบบใหม่ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องผ่านการพัฒนาสมรรถนะผ่านระบบ e-Learning ก่อนเข้ารับการคัดเลือก และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการพัฒนาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 วัน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง” ดร.พิเชฐร์กล่าว
รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ยังเน้นย้ำถึงการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของศึกษานิเทศก์และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากนี้ยังมีกรอบแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ตามมาตรา 50 สามารถยื่นขอมีวิทยฐานะชำนาญการผ่านระบบ DPA โดยใช้ PA ร่วมกับ Project-based Development ในการประเมิน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน
“เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาศึกษานิเทศก์คือการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยมุ่งให้ศึกษานิเทศก์มีความรู้ความสามารถในการแนะนำและชี้แนะแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศในภาพรวม” ดร.พิเชฐร์ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี