27 พ.ย. 2567 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวในการประชุมวิชาการ Mini-Symposium) “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, We can)” ที่ห้องประชุมแซฟไฟร์ 108-110 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ในประเด็นแนวคิดการขยายอายุเกษียณในกลุ่มข้าราชการ ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในประเด็นสังคมสูงวัย กิจการผู้สูงอายุ รวมถึงการเกษียณ ตั้งแต่ช่วงที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งตนเป็นประธานกรรมการปฏิรูปด้านสังคม
โดยในเวลานั้น หรือในปี 2557 ซึ่งล่าสุดก็ครบ 10 ปีพอดี มีการพูดคุยกันถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ต่อมาได้มีแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมเกิดขึ้นในปี 2561 มีเรื่องสำคัญอยู่ 5 เรื่อง และหนึ่งในนั้นคือการขยายอายุเกษียณของข้าราชการพลเรือน จากอายุ 60 เป็น 63 ปี โดยเสนอขั้นตอนการปฏิรูป ให้ขยับขึ้นทุกๆ 2 ปี จาก 60 เป็น 61 ปี 62 ปี และ 63 ปี ตามลำดับ รวม 6 ปี ดังนั้นหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนดังกล่าว ในปี 2567 หรือปีนี้ ข้าราชการพลเรือนของไทยก็จะต้องเกษียณที่อายุ 63 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศมีปัญหาการเงินการคลังด้วย เวลานั้นตนได้เป็น สว. แล้ว และอยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคม และมองเห็นว่าหากยังดำเนินการไปตามแผนปฏิรูปเดิมก็จะเกิดปัญหา จึงนำผลการศึกษาเสนอต่อรัฐบาลในช่วงนั้นให้ชะลอแผนขยายอายุเกษียณออกไปก่อน แต่สิ่งที่ควรทำอย่างมากคือหาโอกาสจ้างงานผู้ที่เกษียณแล้วให้ทำงานเพื่อเป็นพลัง และรัฐบาลก็เห็นชอบตามข้อเสนอ จึงไม่มีการขยับการขยายอายุเกษียณของข้าราชการ
“ในขณะที่ยังไม่ได้ขยับข้าราชการพลเรือนไปเกิน 60 ตอนนั้นมีคนใกล้ได้ 61 หรือ 62 ก็ดีใจกันใหญ่ พวกใกล้เกษียณ แต่ในที่สุดก็หยุดไป แต่ทาง กพ. เขามีระบบอีกอันหนึ่งคือบางสายอาชีพหรือบางสายงานขยายได้ถึง 70 โดยขยายเป็นช่วงๆ ไป มีการขออนุมัติได้แล้วขยายไป เช่น สายงานแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เกี่ยวกับทางด้านช่างศิลป์ นาฎศิลป์อะไรต่างๆ และตอนหลังเขาขยายไปอีก 40-50 สาขา ซึ่งอันนี้เผอิญ กพ. ไม่ได้มา เราก็ลงลึกไม่ได้ ตรงนี้เป็นช่องทางให้ส่วนราชการขยายราชการได้เหล่านี้ แต่ไม่ได้ทุกคนนะ” นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติไม่ค่อยมีส่วนราชการใดใช้ช่องทางนี้มากนัก เพราะต้องใช้งบประมาณของหน่วยงานในการจ้าง และไม่สามารถนำงบในส่วนของข้าราชการที่เกษียณไปตอนอายุ 60 ปี ไปจ้างข้าราชการใหม่ได้ หน่วยงานจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะขยายอายุเกษียณ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ข้าราชการบางประเภทที่มีกฎหมายเฉพาะของตนเองนั้นขยายไปถึงอายุ 70 ปีแล้ว เช่น สายงานตุลาการ หรือมหาวิทยาลัยก็พบว่าระยะหลังๆ มีการจ้างงานคนหลังอายุ 60 ปีแล้ว จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่
ประการต่อมา ปัจจุบันประเทศไทยมีข้าราชการประมาณ 3 ล้านคน และต้องใช้งบประมาณทั้งเงินเดือน ค่าจ้างตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ราว 1.3 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยมีงบประมาณแผ่นดินเฉลี่ย 3.4 ล้านล้านบาทต่อปี เท่ากับร้อยละ 40 ของงบประมาณแผ่นดินเป็นงบฯ บุคลากร และยังมีแนวโน้มโป่งขึ้นไปเรื่อยๆ และมีโอกาสแตกได้ในวันข้างหน้า และตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ได้นับรวมพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่กระจายอำนาจไปแล้วและให้ อปท. ไปจ้างบุคลากรกันเอง หากนับรวมด้วยก็จะมากกว่านี้
“นี่คือปัญหา ดังนั้นการขยายอายุราชการมันจะเผชิญกับปัญหาคือค่าใช้จ่ายมันโป่ง แล้วจะเอาอย่างไร? ดังนั้นวันนี้บ้านเราก็คือ 60 ไปแล้วให้เกษียณ ให้นั่งกินนอนกิน ก็คือเลี้ยงกันไปไม่ได้ทำงาน คนที่ได้ทำงานหลังเกษียณแล้วที่เป็นข้าราชการ..น้อย! มีบางวิชาชีพเท่านั้น ยกตัวอย่างหมอ ถ้าเขาจ้างและจ่ายเงินตาม Workload (ภาระงาน) แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ อย่างพยาบาล ทั้งประเทศเป็นหมื่นเลยไม่ได้ทำงาน ฉะนั้นเรายังไม่ได้ใช้ข้าราชการหลัง 60 เป็นพลัง” นพ.อำพล ระบุ
นพ.อำพล ยังกล่าวอีกว่า กมธ.พัฒนาสังคมฯ ในช่วง 5 ปีของ สว. ชุดที่ตนดำรงตำแหน่ง ได้จัดทำรายงานทั้งหมด 10 เล่ม นำเสนอต่อรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือเรื่องการจ้างงานคนหลังอายุ 60 ปี ที่ควรหาช่องทางการจ้างแบบแตกต่างหลากหลาย ซึ่งรัฐบาลก็รับข้อเสนอ รวมถึงเรื่องสานพลังสร้างระบบรับมือสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นที่มาของการจัดประชุมในครั้งนี้ และอีกเรื่องของการพัฒนากิจการผู้สูงอายุ
โดยรายงานฉบับที่ว่าด้วยการสานพลังสร้างระบบรับมือสังคมสูงวัย เป็นที่มาของการขยายประเด็นผู้สูงอายุให้เป็นทุกมิติ จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็รับมาจัดเป็นเวทีสานพลัง ซึ่งก็ต้องให้เครดิตสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยที่มาร่วมทำงานชิ้นนี้ ส่วนรายงานเรื่องการพัฒนากิจการผู้สูงอายุ ต้องให้เครดิตสถาบันพระปกเกล้าที่มาช่วยทำวิจัยให้เป็นเวลา 2 ปี จนได้ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะรวม 10 เรื่อง ส่งให้รัฐบาลไปแล้วเช่นกัน ก่อนที่ สว. ชุดของตนจะพ้นวาระ
อนึ่ง มีผลการศึกษาในหลายประเทศ เช่น อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น อย่างประเทศอิตาลี กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 67 ปี อีกทั้งยังมีบำนาญก่อนชราภาพ และมีระบบการจ้างที่หลากหลาย หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นก็กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 65 ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยกตัวอย่างมานี้ล้วนเป็นชาติร่ำรวย หรือรวยก่อนแก่ ไม่ได้มีปัญหาลูกโป่งค่าใช้จ่ายสูงเสี่ยงแตกเหมือนประเทศไทย แถมยังเป็นชาติที่จนก่อนแก่ ไทยจึงมีปัญหาเยอะ
ขณะที่เรื่องบำนาญ มีข้อเสนอให้เร่งศึกษาและพัฒนาระบบเพื่อเอาคนที่อายุ 60 ไปแล้วให้เป็นพลังของชาติ ทั้งข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ โดยการขยายอายุข้าราชการต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะของระบบ ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการแก่ๆ แล้วไม่มีข้าราชการใหม่เลยเข้ามา ต่อไประบบจะมีปัญหา ก็จะต้องคิดตรงนี้ นอกจานั้นต้องไม่กระทบค่าใช้จ่ายภาครัฐ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี
“ต้องเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ข้าราชการมีรูปแบบการจ้างงานหลัง 60 ปีไปแล้วที่หลากหลายและยืดหยุ่น อันนี้เราพบสำคัญมากนะว่าต่างประเทศที่เขาทำไปแล้วเขาทำหลายระบบ ยืดหยุ่นมาก ไม่ใช่ว่าขยายหรือไม่ขยาย แต่ถ้าจะขยายหรือไม่ขยายเขาจะแยกแยะมาก เช่น สอดคล้องกับวิชาชีพ ประสบการณ์ ความสามารถ สถานที่ เวลาและความเหมาะสมอื่นๆ และเราได้เสนอชัดเจนว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ต้องอัพสกิล-รีสกิลคนเก่า ไม่ใช่ใช้ความรู้เก่า เทคโนโลยีเก่าทำงาน ไม่เช่นนั้นมันก็ทำให้อ่อนแอเป็นพลังที่สำคัญไปไม่ได้” นพ.อำพล กล่าวในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี