ปรับบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม เปลี่ยนสู่แบบพัฒนา ลดเสี่ยง-เลี่ยงโรค
แม้ว่าช่วงนี้ข่าวสารประเด็นอื่นๆ จะอยู่ในความสนใจของสังคมมากกว่า “ปลาหมอคางดำ” แต่โครงการจับปลาของกรมประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบยังคงเดินหน้าต่อเนื่องไม่แผ่ว ตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศไว้ คือ จับออกจากแหล่งน้ำให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ตามด้วยการใช้ประโยชน์จากปลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนวันนี้มีการรายงานว่าปริมาณปลาหมอคางดำในหลายจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเรียนรู้จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและประสบการณ์ความเสียหายจากโรคระบาดสัตว์หลายครั้ง มาปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงเพื่อป้องกันโรคและลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับผลผลิตได้
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยจำนวนไม่น้อยยังเลี้ยงแบบดั้งเดิม (Extensive Shrimp Culture) หรือที่เรียกกันว่าเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยการเปิดให้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อเวลาน้ำขึ้นเข้ามาในบ่อเลี้ยงและกักเก็บน้ำไว้ และอาศัยพันธุ์ลูกกุ้งจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่จะมีศัตรูของกุ้ง เช่น ปู และปลา ไหลปะปนเข้าไปในบ่อด้วย ซึ่งเกษตรกรจะปล่อยให้กุ้งอยู่ในบ่อเลี้ยงประมาณ 6 เดือน - 1 ปี โดยอาศัยอาหารตามธรรมชาติในบ่อเลี้ยง เช่น แพลงตอนและพืช และเกษตรกรจะให้อาหารในช่วงที่ใกล้จะจับสัตว์น้ำเพื่อให้ได้น้ำหนักดี นอกจากรายได้หลักจากกุ้งแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจาก ปูและปลา แต่วิธีนี้ทำให้ได้ผลผลิตกุ้งต่ำและเสี่ยงจากโรคระบาดสูง โอกาสขาดทุนสูงจนต้องเลิกเลี้ยงทิ้งบ่อกุ้งกลายเป็นบ่อร้างในหลายพื้นที่
การเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมจึงมีความสี่ยงสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องโรคที่มากับสัตว์พาหะหรือเชื้อที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ตรวจพบพาหะนำโรคกุ้งและการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคในน้ำที่สูบเข้ามาในบ่อเลี้ยงและยิ่งเป็นบ่อแบบธรรมชาติที่ไม่มีการกำจัดพาหะของโรคออกโดยการกรองหรือฆ่าเชื้อในน้ำก่อนนำน้ำมาใช้เลี้ยงกุ้ง จึงทำให้เราไม่ได้ผลผลิตตามเป้าหมายและได้รับความเสียหาย ซึ่งต่างจากในอดีตที่แหล่งน้ำธรรมชาติยังไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ เมื่อกุ้งได้รับความเสียหายจากโรค แต่ปลาเหล่านี้ไม่ได้รับความเสียหายจากโรคกุ้งจึงเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงกุ้งได้ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีโอกาสหลุดไปเพิ่มจำนวนในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาหมอคางดำมีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนการเลี้ยงแบบพัฒนา (Intensive Shrimp Culture) จะเป็นบ่อขนาดเล็กที่สำคัญเกษตรกรให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมบ่อเลี้ยง การทำบ่อพักน้ำ (เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานเหมาะกับการเลี้ยง) การปล่อยลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีมาจากบ่ออนุบาล ให้อาหารและอาหารเสริมกับกุ้งให้ได้คุณภาพตามต้องการ ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการเลี้ยงเพื่อป้องกันโรค ทุกขั้นตอนต้องทำตามหลักวิชาการหรือตามเทคนิคของแต่ละฟาร์ม เช่น การเติมจุลินทรีย์บางชนิดลงไปในบ่อ วิธีนี้จะทำให้ได้ผลผลิตสูงแต่ก็จะมีต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมีผู้เลี้ยงกุ้งและเอกชนหลายรายที่เปลี่ยนไปเลี้ยงระบบปิดและหมุนเวียนน้ำภายในฟาร์มกลับมาใช้ใหม่ เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงจากโรคระบาด
เกษตรกรที่ยังใช้วิธีการเลี้ยงกุ้งแบบดั้งเดิม หากปรับเปลี่ยนสู่การเลี้ยงแบบพัฒนา ด้วยการกรองน้ำ ฆ่าเชื้อในน้ำและพักน้ำเหมือนเกษตรกรหลายรายที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็จะอยู่รอดมาอย่างต่อเนื่องขายผลผลิตได้ตามราคาตลาด ยังรักษาฟาร์มมาได้นับสิบๆปี โดยไม่ต้องปล่อยให้เป็นบ่อร้าง หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาอาการตายด่วน (Early Mortality Sysdrome : EMS) และอีกหลายโรค ที่กระทบต่อผลผลิตกุ้งของไทยเสียหายอย่างหนักทุกพื้นที่เฉลี่ย 30-50% แต่ก็ยังมีเกษตรกรไม่น้อยที่อยู่รอดปลอดภัย ป้องกันผลผลิตในบ่อเลี้ยงไม่เสียหายจากอาการตายด่วนและได้รับราคาดี
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่การเลี้ยงแบบพัฒนา ต้องดำเนินการควบคู่กับการไล่ล่าปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจกรรม Big Cleaning ครั้งใหญ่ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงฯ เร่งจับปลาทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ – ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร เพื่อกำจัดและควบคุมปลาหมอคางดำให้อยู่ในพื้นที่จำกัด เพื่อเร่งปล่อยปลาผู้ล่า ก่อนดำเนินการขั้นต่อไปในการสำรวจพื้นที่โดยเทคโนโลยี E-DNA ให้รู้แหล่งที่อยู่ของปลาและกำจัดก่อนมีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น จนถึงขั้นตอนของการทำเทคนิคการเหนี่ยวนำโครโมโซม 4N เพื่อทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 มีเป้าหมายจับปลา 3 ล้านกิโลกรัม
นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี