วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และศธ. ณ โรงเรียนแม่แตง และ โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม ในการประชมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจร จ.เชียงใหม่
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่เขต 15 (กลุ่มภาคเหนือตอนบน) ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ที่โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม เพื่อรับฟังการรายงานผล กระทบและการดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย -รับฟังรายงานผลการช่วยเหลือฟื้นฟูสถานศึกษาและประชาชนทึ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย -มอบนโยบายทางการศึกษา ข้อสั่งการและมาตรการป้องกันและฟื้นฟูสถานศึกษาจากอุทกภัย โดยมีศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน เข้าร่วมประชุม
รมว.ศธ. กล่าวว่า จากฟังรายงานการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานศึกษาที่ได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย พบมีมูลค่าความเสียหาย จำนวน 205,714,812 ล้านบาท ซึ่งสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ได้รับความเสียหายทุกสังกัด โดยทุกหน่วยงานได้ร่วมบูรณาในการฟื้นฟูสถานศึกษาอย่างเต็มที่ สำหรับเป้าหมายการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่นั้น พบว่า การบริหารจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มุ่งสร้างความเป็นเลิศ โดยเฉพาะการวางเป้าหมายการจัดการศึกษาในอีก 20 ปีข้างหน้าที่มีการสำรวจพบว่า ในอนาคตจะเป็นการจัดการศึกษาที่ไร้พรมแดน เพื่อความมั่งคั่ง นั่นคงในชีวิตที่มีความสุข ขณะที่การแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือ zero drop out ในจังหวัดเชียงใหม่ยังพบว่าเด็กหลุดระบบการศึกษา จำนวน 25,000 คน ซึ่งสำรวจได้เพียงร้อยละ 30 เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่พบตัวตนตามช่วงอายุแล้ว มีการอพยพถิ่นฐาน และได้รับรายงานว่าได้มีการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อติดตามค้นหาเด็กให้เข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานศึกษาที่ได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย นั้น มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ 205 แห่ง พบมูลค่าความเสียหาย จำนวน 192.6 ล้านบาท โดยใช้แผนที่จับข้อมูลสถานศึกษาและจัดทำระบบเตือนภัยในการฟื้นฟูสถานศึกษาหลังน้ำลด พร้อมได้รับความช่วยเหลือจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตนได้มอบให้สถานศึกษามีขับเคลื่อนโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งแม้สถานศึกษาส่วนใหญ่มองว่า การเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจะถูกปิดล็อคด้วยหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 จนทำให้ไม่สามารถคิดค้นหลักสูตรหรือนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆได้ หรือแม้กระทั่งการใช้งบประมาณมาดำเนินการ แต่ตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้นและอยากให้ทุกโรงเรียนได้คิดนอกกรอบมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากการติดตามนโยบายการศึกษาทำให้ตนเชื่อว่าสถานศึกษาภาคเหนือตอนบนมีการพัฒนาที่สมบูรณ์อย่างมาก
‘การลงพื้นที่ครั้งนี้ผมได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนอกจากจะติดตามสถานารณ์น้ำท่วมโรงเรียนภาคเหนือแล้ว ผมยังได้รับทราบว่ามีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ยังไม่ได้รับงบประมาณดูแล ก็จะติดตามเพื่อจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนฟื้นฟูต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ถือเป็นประโยช์อย่างยิ่งในการมาติดตามนโยบายในครั้งนี้ทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ และคิดว่าในเขต 15 นี้จะมีการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาได้ดี เนื่องจากภาคการศึกษาทุกส่วน รวมถึงโรงเรียนเอกชนมีความพร้อมมากในการให้ความช่วยเหลือแบ่งปัน“ พล.ต.เพิ่มพูน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี