“สุริยะลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับ ถนนพระราม 2 พังถล่ม สั่งเพิ่มระเบียบบทลงโทษในสมุดพกตัดคะแนนลำดับชั้นผู้รับเหมา หากเกิดเหตุมีคนตาย ระงับสิทธิก่อสร้าง 2-3 ปี รอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบหาสาเหตุคานถล่ม พร้อมเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้านบาท หยุดงานก่อสร้าง 14 วัน
เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 29 พ.ย.67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เกิดเหตุโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับ ถนนพระราม 2 พังถล่ม พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต เบื้องต้นทราบว่า ผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 6 ราย ซึ่งตอนนั้นตนประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ที่เชียงราย โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตนรีบลงมา
นายสุริยะ กล่าวว่า ถนนเส้นนี้ได้กำชับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้รับเหมา และมีการประชุมเกือบทุกเดือน เน้นเรื่องความปลอดภัย โดยหากมีประวัติการทำงานหรืออุบัติเหตุ จะมีการนำสมุดพกมาตัดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งโครงสร้างการก่อสร้างใหญ่ขนาดนี้จะมีผู้รับเหมาพิเศษประมาณ 80 ราย ที่ผ่านมาทั้ง 80 ราย ยังไม่เคยมีใครต้องถูกตัดคะแนน เพราะทุกคนมีความกระตือรือร้นเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตนได้ปรึกษากระทรวงการคลัง หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจะไม่ให้ผู้รับเหมรับงานในช่วง 2-3 ปี ซึ่งยังไม่ทันได้ใช้มาตรการนี้ก็เกิดเหตุการณ์นี้เสียก่อน หลังจากนี้ก็จะไปเร่งรัดทางกรมบัญชีกลางเรื่องมาตรการดังกล่าว
"ทางกระทรวงสั่งการให้ดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้ผู้รับจ้างเยียวยารายละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งสั่งการให้บริษัทผู้รับผิดชอบโครงการหยุดงานก่อสร้างทันที 2 สัปดาห์ (14วัน) พร้อมทั้งให้กรมทางหลวงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริง และประเมินความปลอดภัยของโครงสร้าง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกรมทางหลวง สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดำเนินการและสรุปรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมภายใน 15 วัน "นายสุริยะ กล่าว
พร้อมระบุว่า ส่วนในช่วงนี้ที่กำลังจะมีการรื้อย้ายโครงสร้างข้างบน ต้องมั่นใจว่าการกู้ศพอีกสองรายจะไม่เกิดอุบัติเหตุกับกู้ภัยอีก เบื้องต้นการรื้อถอนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 14 วันหรืออาจจะเร็วกว่านั้น
นายสุริยะ กล่าวว่า ส่วนสมุดพกการตัดคะแนนเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำหนดออกมา ซึ่งใช้มา 6-8 เดือนแล้ว หากเกิดเหตุร้ายแรงก็จะมีการตัดคะแนนผู้รับเหมา โดยสมุดพกเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมคิดว่าผู้รับเหมาพิเศษที่มีทั้งหมด 80 ราย ถึงแม้ว่าจะทำงานผิดพลาด เราก็คิดว่าจะต้องมีการทำหัวข้ออุบัติเหตุตามความมากน้อย หากอุบัติเหตุมากก็ตัดคะแนนมาก อุบัติเหตุน้อยก็ตัดคะแนนน้อย และหากมีอุบัติเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตก็จะถูกระงับสิทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคมมีการคิดเห็นอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังมานี้การจัดชั้นผู้รับเหมา เรื่องนี้ทางกรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการ จำเป็นต้องนำข้อมูลจากกรมบัญชีกลางมาใช้เป็นข้อมูลเดียวกัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งพอเกิดเหตุครั้งนี้ขึ้นมา จึงจำเป็นต้องใช้สมุดพกอย่างเร่งด่วนขึ้นมา และต้องมีการบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
"สำหรับบทลงโทษหากเกิดเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตก็จะถูกระงับสิทธิ์ รับงานก่อสร้างโครงการของรัฐ 2-3 ปี และจากเดิมผู้รับเหมาบางรายมีรายได้เป็นพันล้าน หากเกิดเหตุถูกระงับสิทธิ์ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีก็ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ชนิดที่ว่าขาดสภาพคล่องภายในองค์กร ซึ่งจะทำให้บริษัทเกิดความตระหนักในการระมัดระวังอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ส่วนบริษัทที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้จะถูกตัดคะแนนอย่างแน่นอน แต่เรื่องของการตัดสิทธิ์ระงับการก่อสร้าง น่าจะยังไม่โดนตัดสิทธิ์เนื่องจากเรื่องของการระงับไม่อยู่ในระเบียบต้องไปเพิ่มระเบียบขึ้นมาก่อน"นายสุริยะ กล่าว
เมื่อถามว่าถนนเส้นนี้มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และเกิดอุบัติเหตุบ่อยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร นายสุริยะ บอกว่า จะเห็นโครงสร้างลักษณะนี้มีขนาดใหญ่มากและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นอย่างที่ตนบอกว่าในที่สุดหากทางผู้รับเหมาคิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุและไม่ถูกปรับตกชั้นก็จะไม่มีความใส่ใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายสุริยะให้สัมภาษณ์อยู่นั้น ทางด้านน.ส.รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ สส.กรุงเทพมหานคร และนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.เขต 1 สมุทรสาคร พรรคประชาชน มีข้อซักถามและข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ข้อแรกคือ จะดำเนินการอย่างไรกับบริษัทที่ถูกสั่งห้ามก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่เคยความผิดพลาด แต่กลับไปเปิดบริษัทใหม่เพื่อหลีกเลี่ยง อยากให้มีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับบริษัทเหล่านี้ให้ชัดเจน
ซึ่งนายสุริยะได้เห็นด้วย และตอบคำถามประเด็นนี้ว่า โดยปกติแล้วการก่อสร้างโครงการใหญ่ของรัฐนั้นจะเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ใครตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาก็จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างได้โดยง่าย ต้องเข้าหลักเกณฑ์จึงจะสามารถเข้ามาดำเนินการได้
คำถามข้อที่ 2 คือ อยากให้เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาหน้าใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และใช้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านหลักเกณฑ์ ได้มีโอกาสเข้าไปรับงานก่อสร้างโครงการใหญ่ของรัฐ ไม่ใช่ผูกขาดแต่กลับผู้รับเหมาเจ้าเดิม ๆ ประเด็นนี้นายสุริยะไม่เห็นด้วย โดยชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องคัดสรรผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาดำเนินการได้ ซึ่งต้องผ่านหลักเกณฑ์หลายข้อ
ส่วนข้อที่ 3 เห็นว่า ภาครัฐอะลุ่มอล่วยกับผู้รับเหมาที่ทำงานผิดพลาดบ่อยครั้งไปหรือไม่ อย่างเช่นถนนพระรามที่ 2 ที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ด้านนายสุริยะตอบคำถามว่า ต่อไปจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกับผู้รับเหมาเพื่อทำงานให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหากับพี่น้องประชาชนอีก
ด้านนายณัฐพงษ์ บอกว่า รู้สึกเสียความรู้สึกที่ทีมงานของนายสุริยะนั้นกันไม่ให้เข้าไปเสนอแนะความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยอยากให้มีการแก้ปัญหาไม่ให้การก่อสร้างบนถนน พระรามที่ 2 นั้นสร้างปัญหากับประชาชนอีก
นายสุริยะ ตอบว่า รู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยโดยส่วนตัวแล้วยินดีที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าเดิมต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี