นายกรัฐมนตรีเตรียมมอบบัตรประชาชนให้ผู้ได้รับสัญชาติไทยเชียงราย “ครูแดง”แนะเร่งให้บัตรผู้เฒ่านับแสนคนที่กำลังเดือดร้อนจากกระบวนการพิจารณาซับซ้อน-ล่าช้า ชี้เป็นกลุ่มเปราะบาง พ่อเฒ่าแม่เฒ่าวอนผู้นำรัฐบาลช่วยด่วน
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมามอบบัตรประจำตัวประชาชนแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เพราะประเด็นปัญหาสถานะบุคคลเป็นเรื่องที่สะสมมานาน นับวันยิ่งมีความซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก กลไกระดับปฏิบัติการของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ระดับนโยบายกำหนด จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ควรได้รับการพัฒนาสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเผชิญความเดือดร้อน จากการเข้าไม่ถึงสิทธิในสวัสดิการของรัฐ และไม่สามารถทำหน้าที่พลเมืองและหน้าที่ทางการเมืองได้
นางเตือนใจกล่าวว่า กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติเป็นกลุ่มคนที่น่าเห็นใจมากที่สุดกลุ่มหนึ่งเพราะมีความเปราะบาง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ ไม่มีความรู้ทางกฏหมายและแนวทางปฎิบัติที่ถูกต้อง จึงต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนลูกหลานและหน่วยงานที่ทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคล
นางเตือนใจกล่าวว่า กรณีศึกษาผู้เฒ่าที่เป็นชาวเขาดั้งเดิมติดแผ่นดิน เกิดและมีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่อง แต่ถูกบันทึกข้อมูลสถานที่เกิดในเอกสารที่สำรวจโดยทางราชการไม่ตรงกัน หรือถูกบันทึกรายการสถานที่เกิดผิดจากความเป็นจริงจากเกิดในประเทศไทย เป็นการเกิดนอกประเทศ ซึ่งพชภ.ได้หารือและดำเนินการร่วมกับกรมการปกครอง ว่าควรมีการแก้ไขข้อมูลได้ตามที่เป็นจริง โดยอธิบดีกรมการปกครองขณะนั้นจึงส่งหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 เพื่อทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ และล่าสุดนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย )ได้ส่งหนังสือเวียน ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ยืนยันให้นายทะเบียนสามารถแก้รายการสถานที่เกิดหรือข้อมูลอื่นๆ ให้ตรงกับความเป็นจริงได้ โดยเน้นว่าสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม
อดีตสมาชิกวุฒสภา จ.เชียงราย กล่าวว่า ยังมีปัญหาในกลุ่มผู้เฒ่าที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่มีภูมิลำเนาบนแผ่นดินไทยต่อเนื่อง 30 -60 ปี ผสมกลมกลืนกับสังคมไทย ได้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีชื่อในทะเบียนบ้านประเภท ทร.14 มีสิทธิที่จะยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบปัญหาประกอบการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีเรื่องรายได้ การเสียภาษี การตรวจสอบประวัติและความประพฤติ การสัมภาษณ์ความรู้ภาษาไทย ผู้เฒ่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุมัติการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับผู้เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นชนกลุ่มน้อย เพื่อลดปัญหา อุปสรรคในการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ
“มูลนิธิพชภ.ได้ทำงานผลักดันแก้ไขปัญหาแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ต่อเนื่องกว่า 12 ปี เราพบว่า กระบวนการแปลงสัญชาติ ยังมีปัญหา เพราะไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะสำเร็จเมื่อใด กระบวนการแปลงสัญชาติฯ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานไม่น้อยกว่า 10 แห่ง มีขั้นตอนการพิจารณาหลายระดับ จากสำนักทะเบียนอำเภอ ถึงคณะกรรมการระดับชาติ การแปลงสัญชาติจึงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผู้เฒ่าที่เป็นชาวเขาและชนกลุ่มน้อย และคนต่างด้าวทั่วไปส่วนใหญ่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี โดยไม่สามารถติดตามได้ว่าคำร้องขอแปลงสัญชาติของตนอยู่ในขั้นตอนใด” นางเตือนใจ กล่าว
ที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยด้วยวิธีแปลงสัญชาติ จึงไม่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีจำนวนกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ ในขณะที่ประชากรสูงวัยของประเทศไทยมีจำนวนถึง 20% ของประชากรทั้งหมด แต่ผู้สูงวัยหรือผู้เฒ่าไร้สัญชาติกลับถูกทิ้งไว้ไว้ข้างหลัง ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในสวัสดิการสังคมตามกฏหมายและนโยบายของรัฐ ถูกประเภท
“เป็นโอกาสดีหากรัฐบาลจะเร่งพิจารณา กำหนดนโยบายพิเศษเพื่อแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยคณะรัฐมนตรีมอบอำนาจให้สภาความมั่นคง กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคประชาสังคม ร่วมกันคิดรูปแบบ รวมทั้งทบทวนกฎหมาย นโยบายเพื่อขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้แก่ผู้สูงอายุ สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนระดับชาติเพื่อขจัดความไร้รัฐ ไร้สัญชาติอย่างเป็นระบบ ปรับปรุงกลไกลการทำงานจากระดับอำเภอ จังหวัดและกรม และกระทรวง บูรณา การความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในระดับประเทศและระดับสากล”นางเตือนใจ กล่าว
นายทูล วงค์ษา อายุ 63 ปี ตัวแทนผู้เฒ่าไร้สัญชาติชาวไทลื้อ จ.เชียงราย กล่าวว่า ตนอยู่ประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ 2505 จึงมีความรักและผูกพันธ์ผืนแผ่นดินไทย มีความจงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และเลื่อมใสการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือการเข้าสู่สัญชาติของไทลื้อผู้สูงอายุไร้สัญชาติด้วย รวมถึงผู้ที่อยู่มานาน แต่อายุไม่ถึง 60 ปี และผู้ได้รับบัตรเล่มต่างด้าวก็ไม่ควรรอ 5 ปี จึงมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติได้
ขณะที่แม่เฒ่าซือฉะมิ วัย 72 ปี ชาวบ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า ทั้งพี่ชายและพี่สาวของตนต่างได้รับสัญชาติไทยกันแล้ว ลูกหลานต่างเป็นคนไทย ตนรู้สึกน้อยใจว่าทำไมตัวเองถึงยังไม่ได้ ไม่อยากให้มีขั้นตอนมากมายเพราะตนอายุเยอะแล้ว อยู่บนดอยสูง เดินทางลำบาก และไม่รู้จะอยู่รอวันที่จะได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ได้อีกนานแค่ไหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี