วันที่ 2 ธันวาคม 2567 ตามนโยบายนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ โดยข้อที่ 9 ได้กำหนดว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ในการรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา
เวลา 14.00 น. ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ บช.สอท. นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.ฯ ปฏิบัติราชการ บช.สอท., พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2, พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 ร่วมกับ คุณ Benjamin Chervenak U.S. Secret Service, the Resident Agent In Charge, คุณ Caroline A. Marshall รักษาราชการแทน ผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย สำนักงานสอบสวนกลาง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ คุณไบรอัน แอนเดอร์สัน รองผู้ช่วยทูตประจำภูมิภาค พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “ปฏิบัติการ “ล่าข้ามโลก” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินเดียข้ามชาติ”
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 ม.ค.67 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีผู้เสียหายเป็นหญิงสูงอายุสัญชาติอเมริกันรายหนึ่ง มีปัญหาเรื่องการล็อกอินเข้าบัญชีอีเมล์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft Account) จึงได้ลองค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของทีมช่วยเหลือจากบริษัทไมโครซอฟต์ผ่าน Google Search และได้พบหมายเลขโทรศัพท์ จากเว็บไซต์หนึ่ง จึงได้ลองติดต่อ จากนั้นได้มีบุคคลปลายสายซึ่งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดีย ได้แอบอ้างว่าเป็นทีมช่วยเหลือของบริษัทไมโครซอฟท์ โดยได้ทำทีให้การช่วยเหลือผู้เสียหาย แล้วหลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งโปรแกรมควบคุมการเข้าถึงคอมพิวเตอร์จากระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามที่คนร้ายแนะนำ และกดอนุญาตให้คนร้ายแก้ไขข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์
ต่อมาคนร้ายแจ้งว่าได้แก้ไขบัญชีอีเมล์ให้เสร็จแล้ว ทางไมโครซอฟต์จะ Refund เงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 49.99 USD แต่คนร้ายอ้างว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายเกินไป เป็นจำนวน 49,999 USD คนร้ายจึงแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินคืน เนื่องจากใส่ตัวเลขจำนวนเงินผิด หากผู้เสียหายไม่โอนเงินคืน คนร้ายต้องถูกไล่ออกจากบริษัท ผู้เสียหายสงสารและหลงเชื่อ สุดท้ายจึงโอนเงินไปยังบัญชีนิติบุคคลของธนาคารหนึ่ง ในประเทศไทย จำนวน 49,840 USD หรือประมาณ 1,738,916 บาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) นอกจากนี้ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินเรียบร้อย คนร้ายยังได้ส่งข้อความเยาะเย้ยผู้เสียหายว่าถูกหลอกให้โอนเงินอีกด้วย
ต่อมา ผู้เสียหายได้ติดต่อธนาคารและแจ้งกับเจ้าหน้าที่ FBI ในสหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินเบื้องต้น ทำให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว ผู้เสียหายมีบัญชีธนาคารจำนวน 2 บัญชี โดยคนร้ายได้ใช้โปรแกรมควบคุมระยะไกลโอนเงินของผู้เสียหายจากบัญชีธนาคาร A ไปยังบัญชีธนาคาร B จำนวน 49,999 USD ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้ทำรายการโอนด้วยตนเองแต่อย่างใด ทำให้มียอดเงินเข้าบัญชีธนาคาร B คนร้ายจึงหลอกว่าโอนผิด แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินจากธนาคาร เข้าบัญชีคนร้ายที่อ้างว่าเป็นของบริษัทไมโครซอฟ
ต่อมา FBI สหรัฐอเมริการได้ประสานมายัง บช.สอท. เพื่อดำเนินการอายัดบัญชี และสืบสวนจับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง โดย พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.4 บก.สอท.2 พร้อมชุดสืบสวนได้สืบสวนจนพบหลักฐานว่า มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยได้ใช้บัญชีธนาคารที่จดทะเบียนโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด รับโอนเงินจากผู้เสียหายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวการสำคัญที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดและใช้บัญชีธนาคารดังกล่าว เป็นคนสัญชาติอินเดีย
โดยคนอินเดียกลุ่มนี้ มักหลอกลวงคนไทยที่ต้องการกู้เงินหรือยืมเงินให้นำเอกสารส่วนตัวไปให้ จากนั้นจะนำเอกสารของคนไทย มอบให้ตัวแทนนายหน้าที่รับจดทะเบียนนิติบุคคลไปดำเนินการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยตัวแทนมีค่าดำเนินการจดทะเบียนจำนวน 7,000 บาท จากนั้นจะนำเอกสารนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นบัญชีม้าในการรับเงินจากเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้ามชาติ โดยบัญชีม้านิติบุคคลสามารถโอนเงินได้ครั้งละเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องยืนยันตัวตน และสร้างความน่าเชื่อถือให้เหยื่อโอนเงินง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อนิติบุคคล
จากการสืบสวน พบความเชื่อมโยงของเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้าย ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารของ นายชาญ (ขอสงวนนามสกุล) กรรมการของ หจก.พัลเมตโต โดยในวันเกิดเหตุนั้น พบว่ามีการโอนเงินจาก หจก.ทินท์ เรียลตี้(บัญชีม้า) ไปยังบัญชีธนาคารของนายชาญ จำนวน 104,400 บาท เมื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีนายชาญ พบว่ามีเงินในบัญชีถึง 1,000,048.96 บาท จึงได้อายัดบัญชีธนาคารดังกล่าว เพื่อส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังพบว่าบัญชีธนาคารของนายชาญ ได้ถูกใช้โอนเงินซื้อทองคำแท่งจากร้านทองแห่งหนึ่ง ย่านพาหุรัด กทม. เป็นจำนวนมาก โดยมีชายชาวอินเดียเป็นผู้ไปรับทองคำแท่งดังกล่าว จึงเชื่อว่าเป็นลักษณะการกระทำเป็นขบวนการและมีการแบ่งหน้าที่กันทำ
ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.สอท.2 พร้อม เจ้าที่ตำรวจกลุ่มงานสนับสนุน ทางไซเบอร์ บก.ตอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมนำหมายค้นศาลจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่ 243/2567 ลง 19 มิ.ย. 67 เข้าทำการตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.สามกอ อ.เสนา จว.พระนครศรีอยุธยา พบ นางสาวอารยา (ขอสงวนนามสกุล) และนายอาสวานิ สัญชาติอินเดีย เป็นผู้ครอบครองและพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าว ตรวจค้นภายในบ้าน พบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบัตร ATM ซึ่งเป็นชื่อบัญชีของนายชาญ และของกลางอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 19 รายการ พร้อมสืบสวนขยายผล ในเวลาต่อมา
จากการขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐาน สามารถแจ้งข้อกล่าวหาคนไทยจำนวน 3 รายได้แก่ (1) นายชาญ (ขอสงวนนามสกุล) ในข้อหา ยินยอมให้ผู้อื่นนำบัญชีไปใช้, (2) น.ส.ประนอม (ขอสงวนนามสกุล) กรรมการ หจก.ทินท์ เรียลตี้ และ (3) น.ส.สร้อย (ขอสงวนนามสกุล) กรรมการ หจก. ทินท์ เรียลตี้ โดยทั้ง 3 ราย ให้การเบื้องต้นว่า พวกตนได้นำเอกสารส่วนตัว อาทิ บัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน ให้แก่ชายชาวอินเดียรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาจึงทราบภายหลังว่าตนเองถูกนำหลักฐานไปจดทะเบียนนิติบุคคลและเปิดบัญชีม้านิติบุคคล
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับ ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญได้อีกจำนวน 2 ราย คือ (1) นายกฤษณะฯ ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 5696/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.67 และ (2) นายอาสวานิ ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 5697/2567 ลงวันที่ 25 พ.ย.67 ในข้อหา “สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน” พร้อมกับได้ประสานตำรวจสากลในการออกหมายแดง เพื่อติดตามจับกุมคนร้ายซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีมาดำเนินคดีต่อไป
โดยวันนี้ ตำรวจไซเบอร์ นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. ร่วมกับ ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา อาทิ U.S. Secret Service, FBI และ HSI และผู้แทนจากธนาคารที่สามารถประสานอายัดเงินในบัญชีของคนร้ายได้ทันเวลา ได้ร่วมกันส่งมอบเงินคืนให้แก่ตัวแทนผู้เสียหาย จำนวน 1,643,349.40 บาท โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และตัวแทนผู้เสียหาย ต่างได้แสดงความขอบคุณผู้บังคับบัญชา และชุดสืบสวนของตำรวจไซเบอร์ ที่ร่วมกันปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรม ข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี