ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอเรื่อง “การพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
โดยข้อเสนอดังกล่าวที่ ครม.เห็นชอบ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่องบประมาณ ได้แก่
1. ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได้ จาก 600-1,000 บาท เป็น 700-1,250 บาท
2. ปรับเพิ่มเบี้ยผู้พิการ จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท
3. เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท เปลี่ยนจาก "มุ่งเป้า" เป็น "ถ้วนหน้า" และ ปรับเกณฑ์อายุจาก "แรกเกิด-6 ปี" เป็น "อายุครรภ์ 4 เดือน-6 ปี"
ส่วนที่ดีก็สมควรยกย่องชื่นชม แม้เงินจะน้อยนิด เช่น สวัสดิการเด็กแรกเกิดที่ปรับเป็นถ้วนหน้าและขยายเกณฑ์อายุให้ครอบคลุมในครรภ์ แต่อนิจจาสำหรับผู้สูงอายุไทย หากจะให้เป็นธรรมต่อประชาชน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ควรที่จะนำรายงานเรื่อง “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” (2567) ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพราะสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติ 'เห็นชอบ' เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ช่วงต้นปี
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการมีข้อสรุปได้ว่า ในแต่ละปีงบประมาณ จะมีการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามสถานการณ์สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น ประเด็นเรื่องแหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้เป็นงบประมาณในการจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นภาระผูกพันงบประมาณรายจ่ายในระยะยาวต่อไปในอนาคต
ดังนั้น เพื่อให้การจ่ายบำนาญพื้นฐานประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในระยะยาว ควรปรับปรุงแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มเติม ในระยะเริ่มแรกสามารถเริ่มต้นจากการนำเงินงบประมาณส่วนที่เหลือจากการปรับลดรายการงบกลางมาใช้ ซึ่งจากสถิติพบว่าการใช้จ่ายบางรายการในงบกลางนั้นไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล โดยมีเงินงบประมาณส่วนนี้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมาธิการยังได้มีข้อเสนอแหล่งรายได้ในอนาคต ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า สามารถมีเงินงบประมาณเพียงพอ โดยรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องแหล่งงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อบำนาญพื้นฐานประชาชนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ หรือการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมาธิการได้พิจารณากรอบในการจ่ายเบี้ยบำนาญพื้นฐานประชาชน โดยเริ่มปรับฐานการจ่าย ดังนี้
- ปีแรก จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 1,200 บาท
- ปีที่สอง จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 2,000 บาท
- ปีที่สาม จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 3,000 บาท
โดยสรุปสำหรับรายงานเรื่อง “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” (2567) ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ก็คือ ประเทศไทยได้มีการศึกษาโดยละเอียดแล้วว่า จะหาเงินมาจากไหน และ สามารถเพิ่มระดับการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุเป็นระดับขั้นอย่างไร
แต่อนิจจาผู้สูงอายุและประชาชนไทย เช่นเดียวกับ รายงานการศึกษาเรื่อง “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” (2565) โดยคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบเช่นเดียวกัน และ ร่าง พรบ. อีกอย่างน้อย 6 ฉบับ ที่ถูกนั่งทับ ปัดตก หรือ ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานศึกษาไปเรื่อย
ทั้งที่เรามีข้อเสนอทางวิชาการและหลักฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมากมาย เช่น ธนาคารโลกมีงานวิจัยว่า หากประเทศไทยดำเนินการ “ปฏิรูปภาษี” และ “ปฏิรูปงบประมาณ” จะสามารถลดการขาดดุลงบประมาณได้มากกว่า “การไม่ทำอะไร” (status quo) ยิ่งไปกว่านั้น การ "ปฏิรูปภาษี" เช่น เพิ่ม VAT และ ขยายฐานภาษี สามารถสร้างรายได้ คิดเป็น 3.5% ของ GDP (Thailand Public Spending and Revenue Assessment, World Bank, 2023)
โดยข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ สำหรับแหล่งงบประมาณเพื่อทำสวัสดิการ สามารถประมวลสรุปได้ ดังนี้
1.ปฏิรูประบบภาษี เพิ่มการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน รวมถึงลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) โดย BOI ยกเว้นภาษีให้เฉพาะกลุ่มทุนไทยปีละมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท
2.ปฏิรูประบบงบประมาณ ตัดงบที่ไม่จำเป็น แล้วมาพัฒนาสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตมนุษย์
3.พัฒนาระบบการออม จูงใจหรือบังคับให้ “ทุกคน” ในวัยทำงานต้องรับผิดชอบออมเงิน
สอดคล้องดังที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยให้สัมภาษณ์กับโครงการวิจัยว่า “ผมมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ถ้าจะไปอย่างเต็มสูบ ไม่รื้อระบบภาษีครั้งใหญ่ ผมไม่คิดว่าจะทำได้ ทั้งหมดนี้เพื่อปูทางไปสู่แนวคิดที่ว่า ทุกคนจะต้องมีหลักประกัน ถ้ารัฐยังไม่มีกำลัง ก็ต้องมีการร่วมจ่าย ... การเมืองประชาธิปไตยมันช่วยแน่ๆ” และ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า “ที่ผ่านมาคนรวยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยเกินไป คนกลุ่มนี้ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากคนในชาติ หากเราสามารถคำนวณ Effective Tax Rate ของคนรวยได้ เราน่าจะเห็นช่องทางในการเก็บภาษีได้อีกมาก”
แล้วทำไมประเทศไทยยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม? ผู้เขียนมีความเห็นว่า การรวมพลัง synergy แบบข้ามขั้วสีเสื้อแดงเหลือง ทำให้ได้ ครม. หน้าเดิม แบบวนกระทรวง เป็นสัญญาณคำตอบประการหนึ่ง แล้วท่านผู้อ่าน มีความคิดเห็นว่าอย่างไรกันบ้างครับ?
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ : เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี