รบ.สั่งทุกภาคส่วนระดมกำลังรับฝนรอบสอง
ใต้ตอนล่างยังน่าห่วง
นายกฯสั่งดูแลกลุ่มเปราะบาง
จ่ายเยียวยาผู้เดือดร้อนโดยเร็ว
ปภ.เผยเหลือ6จว.จมบาดาล
ดับ25/กระทบ3แสนครัวเรือน
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังน่าห่วง นายกฯ สั่งทุกภาคส่วนระดมสรรพกำลังรับมือฝนระลอกสอง ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือเยียวยา ปภ.เผยยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 36 อำเภอ 290 ตำบล 1,728 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 302,982 ครัวเรือน เสียชีวิต 25 ราย เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีฝนระลอกสองตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมกำลังพลเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรวม 5,592 ราย พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ รวม 6,437 หน่วย เช่น เรือชนิดต่างๆ 676 ลำ รถบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 72 คัน เป็นต้น
สถานการณ์คลี่คลายแล้ว4จาก10จว.
รองโฆษกฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมามีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 10 จังหวัด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล ยังเหลือพื้นที่น้ำท่วมใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบลดลงจาก 664,173 ครัวเรือน เหลือ 302,982 ครัวเรือน ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เตรียมรับมือฝนกระหน่ำเพิ่ม
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจะมีฝนเข้ามาเติมในพื้นที่ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่ยังมีน้ำท่วมสูง หน่วยงานต่างๆ ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงรวม 489 แห่ง รองรับประชาชนได้ 66,800 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้พักพิงในศูนย์ต่างๆ รวม 40,768 ราย ส่วนประชาชนที่ไม่ได้อพยพมายังศูนย์พักพิง ได้จัดตั้งโรงครัวและรถประกอบอาหารรวม 23 แห่ง แจกจ่ายอาหารปรุงสุกไปในพื้นที่ที่ยังมีผลกระทบอย่างทั่วถึง” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
สั่งดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากความห่วงใยไปยังกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายูในพื้นที่ประสบภัยที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีอยู่ 18,648 ราย โดยในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจำนวน 299 ราย ซึ่งหากเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วม จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลที่ปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ติดตามอาการและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
ให้เงินถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด
“สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยา จะใช้แนวทางเดียวกับการดูแลพี่น้องภาคเหนือ โดยเน้นย้ำให้ลดขั้นตอนลดเอกสารและเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนความเสียหายอื่นๆ เช่นพื้นที่การเกษตร การประมง และปศุสัตว์ ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์โดยเร็ว” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
ปภ.สรุปสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด
เมื่อวันที่ 3ธันวาคม2567 นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทําให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 3 ธ.ค. 67 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต25 ราย
6จังหวัดยังประสบภัยน้ำท่วม
ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ 1.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.เมืองฯ อ.จุฬาภรณ์ อ.ปากพนัง อ.หัวไทร และอ.เชียรใหญ่ รวม 65 ตำบล 471 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 49,849 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองท่าดีมีระดับน้ำลดลง
2.พัทลุง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ควนขนุน อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว และอ.เขาชัยสน รวม 19 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,707 ครัวเรือน เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำลดลง
3.สงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด อ.สิงหนคร อ.กระแสสินธุ์ และสทิงพระ รวม 36 ตำบล 221 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,643 ครัวเรือน เสียชีวิต 9 ราย ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำลดลง
ปัตตานีกระทบ 1.4 แสนครัวเรือน
4.ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น อ.โคกโพธิ์ อ.ยะรัง อ.ยะหริ่ง อ.เมืองฯ อ.สายบุรี อ.กะพ้อ และอ.ปะนาเระ รวม 115 ตำบล 647 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 147,002 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 7 ราย ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีระดับน้ำลดลง
5.ยะลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ยะหา และอ.รามัน รวม 37 ตำบล 220 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 59,443 ครัวเรือน เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีระดับน้ำลดลง
6.นราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ และอ.เจาะไอร้อง และ รวม 18 ตำบล 83 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,338 ครัวเรือน ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีมีระดับน้ำลดลง
ปภ.ระดมกำลังช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันละบรรเทาสาธารณภัย KA 32 พร้อมด้วย The Guardian Team เข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย
นอกจากนี้ ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง
นราธิวาสยังวิกฤต2อำเภอ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า เกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ล่าสุด ท้องฟ้าโดยรวมเริ่มมีแสงแดดส่องจ้าแพรปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และฝนได้หยุดตกเป็นเวลา 2 วันติดต่อกันแล้ว ส่งผลทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชน เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติแล้วร้อยละ60
ส่วนพื้นที่ที่ยังวิกฤติของ จ.นราธิวาส ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโก-ลก ล้นตลิ่งอยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.ตากใบ ยังคงมีปริมาณน้ำท่วมขัง จำนวน 7 ชุมชน 5 ตำบล 19 หมู่บ้าน โดยแยกเป็น อ.สุไหงโก-ลกยังมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่ 7 ชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ประกอบด้วย คือ ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าประปา ชุมชนโปฮงยามู ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง และชุมชนท่าบือเร็ง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 50 ถึง 90 ซ.ม. ซึ่งนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกล จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 จ.ปราจีนบุรี มาสูบน้ำระบายออกจาก 7 ชุมชนเป็นการเร่งด่วน เกรงจะมีฝนตกลงมาซ้ำ
อาศัยในศูนย์อพยพกว่า300คน
ในส่วนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 7 ชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ยังคงอพยพอาศัยอยู่ที่ ศูนย์อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 2 แห่ง คือ ที่โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง และโรงเรียนเทศบาล 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 94 ครัวเรือน รวม 326 คน
นอกจากนี้ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อีก 2 ตำบล ของ อ.สุไหงโก-ลก โดยแยกเป็น ต.มูโนะ ยังมีน้ำท่วมขัง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านลูโบ๊ะลือซง ม.2 บ้านปาดังยอ ม.3 และบ้านปูโป๊ะ ม.4 และในพื้นที่ ต.ปาเสมัส ยังมีน้ำท่วมขัง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านตือระ ม.2 บ้านกัวลอซีลา ม.3 และบ้านน้ำตก ม.5 ซึ่งยังมีน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ยเกือบ 1 เมตร
ส่วนพื้นที่ อ.ตากใบ แยกเป็นมีน้ำท่วมขัง 3 ตำบล คือ 1. ต.นานาค จำนวน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านแฆแบ๊ะ ม.1 บ้านตาเซ๊ะ ม.2 บ้านปะดาดอ ม.3 และบ้านกัวลอต๊ะ ม.4 ซึ่งภาพรวมยังมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร 2. ตำบลโฆษิต จำนวน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านสะหริ่ง ม.1 บ้านโฆษิต ม.4 และบ้านปลักปลา ม.5 , และ 3. ตำบลเกาะสะท้อน ยังมีน้ำท่วมขัง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านเกาะสะท้อน ม.2 บ้านศรีพงัน ม.3 บ้านตะเหลี่ยง ม.4 บ้านโคกกาเปาะ ม.5 บ้านจาแบปะ ม.7 และบ้านชุมบก ม.9 ซึ่งมีปริมาณฯท่วมขังสูงกว่า 1 เมตรเช่นกัน ซึ่งพื้นที่ อ.ตากใบ เป็นผลมวลของมวลน้ำป่าที่ไหลมาบรรจบในแม่น้ำโก-ลก ค่อยระบายลงสู่ทะเลด้านปากอ่าว อ.ตากใบ ที่มีสายน้ำค่อนข้างคดเคี้ยวจึงทำให้การระบายน้ำล่าช้า
ตร.น้ำลงเรือแจกของช่วยชาวบ้าน
ในส่วนของความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดย พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผู้บังคับการกองปราบปราม รักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจน้ำ สั่งการให้ พ.ต.อ.ปรเมษฐ โพยนอก ผู้กำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ จ.นราธิวาส นำเครื่องอุปโภคบริโภคและน้ำดื่ม ลงเรือออกแจกจ่ายให้กับพื้นที่ประชาชน ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของ ต.เกาะสะท้อน หลังจากวานนี้มีปริมาณไม่เพียงต่อความต้องการของประชาชน
พัทลุงลุยน้ำแจกข้าวกล่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณวัดสระทังชายทะเล ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐจัดให้มีโรงครัวเคลื่อนที่ นำวัตถุดิบจำพวกไก่สด ไข่ไก่ น้ำมันพืช ข้าวสาร มาปรุงอาหารพร้อมทานออกแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใน ม.12 ต.หานโพธิ์ สภาพน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว ระดับน้ำประมาณ1-1.50 ซม. ประชากร 213 ครัวเรือน 577 คน ถูกน้ำท่วมขังทังหมด บ้านที่ถูกน้ำท่วมโดยสิ้นเชิงและอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้วจำนวน 15 ครัวเรือน สภาพน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำทะเลหนุน หากฝนหยุดตกน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 เดือน การคมนาคมได้รับความลำบาก ทางหน่วยงานดังกล่าวจึงใช้วิธีลุยน้ำเข้าไปมอบข้าวกล่องพร้อมน้ำดื่มให้กับชาวบ้านถึงหน้าบ้านกว่า 500 กล่อง สำหรับ อ.เขาชัยสนถูกน้ำท่วมขัง 5 ตำบล ได้แก่ ต.เขาชัยสน ต.โคกม่วง ต.จองถนน ต.หารโพธิ์ และ ต.ควนขนุน ประชากรถูกน้ำท่วมจำนวน 15,212 ครัวเรือน 29,628 คน
เดือดร้อนกว่าแสนราย/ฝนถล่มซ้ำ
นายก้องสกุล จันทรราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เผยน้ำท่วมในครั้งนี้ประชากรได้รับความเดือดร้อน 110,000 กว่าราย ล่าสุดยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.ริมทะเลสาบตั้งแต่ อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว อ.เขาชัยสน อ.เมืองและ อ.ควนขนุน เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุน ล่าสุดทางกรมอุตุได้ประกาศเตือนจะมีฝนตกหนักจนถึงวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ขอให้ชาวบ้านอย่าเพิ่งเคลื่อนย้ายสิ่งของลงมาก่อน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรมอุตุ ฯ ประกาศเตือน ฉบับที่ 4 ภาคใต้ระวังฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 3-7ธันวาคมนี้
นายกฯส่ง’ประเสริฐ’ดูแลน้ำท่วมใต้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ 6 ธ.ค.นี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่อุทกภัยในจังหวัดภาคใต้ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ส่วนนายกฯ จะไปวันไหนนั้นตนยังไม่ทราบ ทั้งนี้ หน้าที่ของกระทรวงดีอีนั้น ในพื้นที่อุทกภัยมีเสาสัญญาณโทรศัพท์ล้มในบางส่วน แต่ความเสียหายเกี่ยวกับการใช้สัญญาโทรศัพท์ยังไม่มาก ตนจึงได้กำชับไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และบริษัทให้บริการเครือข่าย ให้เข้าไปอำนวยความสะดวกในพื้นที่อับสัญญาณ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ติดต่อจากภายในไปสู่ภายนอกได้ ส่วนระบบแจ้งเตือนภัยนั้น ในพื้นที่ระบบที่วางไว้เราดำเนินการอยู่แล้ว โดย สทนช.ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อรับมืออุทกภัย ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“เดชอิศม์”แจงชาวใต้เข้าใจนายกฯ
ทางด้าน นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสดรามานายกรัฐมนตรีไม่ลงพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า คนใต้ส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะตรงกับการประชุม ครม.นอกสถานที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และมีการวางแผนประชุมไว้ แต่ในช่วงน้ำท่วมนายกฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งรองนายกรัฐมนตรีหลายท่านลงพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ นายกฯ ยังโทรศัพท์มาถึงตัวเองโดยตรงให้ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ รวมถึงได้สั่งทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
มั่นใจ หลังจากนี้ลงใต้แน่นอน
เมื่อถามว่า มีเสียงชาวบ้านติติงเรื่องนี้หรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการ คืออยากให้นายกฯ เร่งฟื้นฟู และแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำไหลลงทะเลที่มีความยากลำบาก เพราะมีการสร้างถนนขวางทางน้ำหรือบางที่อาจจะไม่มีท่อระบายน้ำ คูคลองต่างๆ ตันทำให้น้ำไหลไม่สะดวก จึงอยากให้นำปัญหาทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาทีเดียว หากครั้งหน้ามีปริมาณน้ำมากก็จะไม่เดือดร้อนเท่าครั้งนี้
เมื่อถามว่า นายกฯ ได้มีการประสานว่าจะลงพื้นที่ภาคใต้วันไหนหรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่เชื่อว่านายกฯจะลงพื้นที่แน่นอน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี