ผ่านพ้นไปแล้วกับ “การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี” เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า ศราวุธ เพชรพนมพรตัวแทนจาก พรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะ โดยได้ไป 327,487 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง คณิศร ขุริรัง จาก พรรคประชาชน ที่ได้ไป 268,675 คะแนน ซึ่งแม้จะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ในช่วงของการหาเสียง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ต่างทุ่มกำลังแบบ “จัดเต็ม” ขนบรรดาคนดังทั้งในและนอกพรรคมาร่วมปราศรัย
โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-14 พ.ย. 2567 ที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปช่วยนายศราวุธหาเสียง ซึ่งถือเป็นการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังพ้นระยะเวลารับโทษจำคุก 1 ปีขณะที่ฝั่งพรรคประชาชน ก็ดึงทั้งอดีตแกนนำพรรคการเมือง 2 รุ่นก่อนหน้าที่ถูกยุบไป ไล่ตั้งแต่ ธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่ รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัชตุลาธน จากพรรคก้าวไกล มาช่วยหาเสียงให้กับนายคณิศรจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายที่กฎหมายอนุญาตให้หาเสียงได้
ย้อนไปในวันที่ 19 พ.ย. 2567 หรือ 5 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล นักวิเคราะห์ข่าวการเมือง ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังกลับเมืองไทยและหลังพ้นโทษของนายทักษิณ ด้วยการหาเสียงให้กับผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ของพรรคเพื่อไทย ว่า แม้ความเคลื่อนไหวที่ จ.อุดรธานี จะน่าติดตาม แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนายทักษิณ เพราะเปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงอยู่แล้ว
ซึ่งเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ เช่น กรุงเทพฯ หรือ จ.เชียงใหม่ ที่พรรคการเมืองสีส้มได้คะแนนเสียงมากในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ครั้งที่ผ่านมาหรือ จ.นครศรีธรรมราช ก็ถือว่าไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยแต่ จ.อุดรธานี ตนเชื่อว่าผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยชนะอยู่แล้ว แต่หากชนะขาดลอยแบบถล่มทลาย นายทักษิณก็จะได้เครดิตไป ดังนั้น เวทีแรกที่นายทักษิณหวนคืนสู่การเมืองในฐานะนายใหญ่ในการหาเสียง มีการขึ้นเวทีและดูเหมือนจะประกาศนโยบายล่วงหน้า ตนมองว่าเพราะนั่นเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าอย่างไรก็คงไม่เสียศักดิ์ศรีแน่
อย่างไรก็ตาม คนภายนอกมักคิดว่าทุกอย่างมีการวางแผนมาเป็นอย่างดีแต่ตนคิดว่า “นายทักษิณเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่เงียบๆ หรือโลว์โปรไฟล์ (LowProfile)” จะให้นายทักษิณอยู่บ้านไม่มีบทบาททางการเมือง เทียบแล้วก็คงเหมือนการให้ตนอยู่บ้านไม่ออกโทรทัศน์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว และเมื่อดูลีลาการปราศรัยของนายทักษิณ จะพบว่านี่คือรูปแบบการปราศรัยในเวลาที่นายทักษิณรู้สึกฮึกเหิมมั่นใจในตนเอง
ทั้งนี้ ในมุมมองของตน “การปราศรัยที่ จ.อุดรธานี เป็นสถานการณ์ทั้งนายทักษิณและมวลชนที่สนับสนุนล้วนได้ทั้งคู่ หรือวิน-วิน เพราะผู้ที่ชื่นชอบก็อยากเห็นนายทักษิณซึ่งเป็นคนที่พวกเขาลงคะแนนให้ในการเลือกตั้งหลายสมัย” ดังนั้นตนคิดว่าคนในพื้นที่นั้นเขามีความสุขจริงๆ เพราะได้ดูตัวจริงไม่ต้องดูตัวแทนแล้ว ในมุมของคนที่เขาเลือก การดูตัวแทนมันไม่สนุกและน่าเบื่อ อย่างทางฝั่งพรรคสีส้ม คนที่สนับสนุนเขาต้องเลือกณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาชน แทนที่จะเป็นนายธนาธร หรือนายพิธา
“เวลาที่ตัวพ่อหรือตัวบิ๊กมาเอง ผมคิดว่าสำหรับประชาชนเป็นสิ่งที่ดี สำหรับผมไม่ชอบเห็นนักการเมืองโดนตัดสิทธิ์ด้วยซ้ำเพราะผมมองว่านักการเมืองคนนั้นก็เป็นที่นิยมของประชาชนอยู่ ทำไมต้องให้เป็นระบบการเมืองซึ่งทุกคนมีตัวแทน มีทายาท ทั้งๆ ที่ตัวจริงซึ่งเก่งกว่าและเหมาะกว่า จริงๆ แล้วควรเป็นคนที่ประชาชนได้เลือก งานนี้ผมคิดว่าสำหรับคุณทักษิณก็วินเหมือนกัน เพราะเหมือนได้หวนคืนได้กลับมาเป็นตัวของตัวเอง” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว
ม.ล.ณัฏฐกรณ์กล่าวต่อไปว่า การพูดจาหาเสียงของนายทักษิณอาจมีคนไม่ชอบ แต่คนที่ชอบเขาก็สนุก ให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ซัดคนอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งแบบเต็มๆ ไม่มีเกรงใจ แต่คนที่สนับสนุนทรัมป์เขาก็ชอบ ส่วนคนที่เกลียดทรัมป์ก็ยังคงเกลียด นายทักษิณก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีภาพเป็นผู้จุดกระแสความขัดแย้งในสังคม (Controversial) คือคนที่ชอบนายทักษิณอย่างไรเขาก็เลือก ส่งลูกสาวมาลงก็เลือก แต่คนที่เกลียดก็จะสู้กับระบอบทักษิณไปจนวันตาย
โดยหากดูการเมืองในสหรัฐฯ คนที่เกลียดหรือต่อต้านทรัมป์ มองว่าทรัมป์เป็นคนไม่มีจริยธรรม เขาก็จะสู้ไปจนวันตายเช่นกัน แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดผู้สมัครที่คนเหล่านี้สนับสนุนจะแพ้แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะจะรอการเลือกตั้งรอบหน้า ตนจึงมองว่าคล้ายกัน คนที่ชอบนายทักษิณจะมีความสุข ส่วนคนที่รอให้นายทักษิณพังอีกรอบก็คงกำลังลับมีดกันอยู่และคิดว่าจะสู้ต่ออย่างไร
“ส่วนกรณีที่นายทักษิณประกาศเปิดศึกกับนายธนาธร มองว่าเป็นสถานการณ์บังคับในการเมืองเวลานี้” เพราะเมื่อพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อีกทั้งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สถานการณ์จึงเหลือคู่แข่งเพียงรายเดียวที่ไม่อยู่ในขั้วเดียวกันก็คือพรรคประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาล และพรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นพรรคใหญ่ โดยพรรครุ่นก่อนหน้าพรรคประชาชนคือพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งหนที่แล้วเป็นอันดับ 1 ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็อยู่ในอันดับ 2
อนึ่ง ตนเคยไปออกรายการกับ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง พล.ท.พงศกร ตั้งข้อสังเกตว่า นายทักษิณมีความระคายเคืองในใจที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ และเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกในการเลือกตั้งโดยที่ฝ่ายชนะนั้นไม่มีกลไกพิเศษใดๆ เลย แม้แต่ในบางจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยชนะมาตลอด เช่น จังหวัดทางภาคเหนือ ในส่วนนี้หากนายทักษิณคิดจะอำลาวงการเมืองและไปจริงๆ โดยให้ลูกมาทำงานการเมืองต่อ การอำลาแบบพ่ายแพ้ ให้นึกถึงนักมวยที่แพ้แล้วก็อยากชกต่อ แต่เมื่อไม่ใช่วัยที่พร้อมอีกแล้วชกต่อไปก็ไม่สามารถชนะได้
ดังนั้น นักมวยส่วนใหญ่ต้องการจบไฟต์สุดท้ายก่อนแขวนนวมด้วยชัยชนะ แต่หากไฟต์สุดท้ายของนายทักษิณหมายถึงการเลือกตั้งรอบหน้า ณ เวลานี้พรรคสีส้มก็ยังดูเหนือกว่าหากพูดถึงสนามเลือกตั้งระดับชาติไม่ใช่ระดับท้องถิ่น ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณใน จ.อุดรธานี จึงกลายเป็นการโชว์ความพร้อมในการที่จะชนะในสนามการเมืองระดับชาติ
ส่วนการเปรียบเทียบระหว่างนายทักษิณกับนายธนาธร ซึ่งจริงๆ ควรเป็นเช่นนั้นหากทั้ง 2 คน ไม่ถูกตัดสิทธิ์อย่างหนึ่งคือ “นายทักษิณเป็นคนที่สร้างฐานะตนเองขึ้นมาจนเป็นอภิมหาเศรษฐี ในมุมนี้ถือว่านายทักษิณมีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจที่ครบเครื่องกว่านายธนาธร” แต่หากมองแบบข้อด้อย ธุรกิจของนายทักษิณมีรูปแบบเป็นสัมปทาน ซึ่งเมื่อได้สัมปทานแล้วโอกาสสร้างธุรกิจให้เติบโตนั้นจะค่อนข้างเร็ว
ขณะที่นายธนาธรจะถูกมองว่าไม่ใช่คนรุ่นแรกที่สร้างธุรกิจขึ้นมาจนร่ำรวย แต่เป็นการสร้างโดยคนรุ่นปู่และรุ่นพ่อ หากมองแบบนี้นายทักษิณก็เหนือกว่า “แต่สิ่งที่ได้เปรียบสำหรับนายธนาธรคือการเป็นนักอุดมการณ์ ซึ่งจะมองว่าเป็นอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าก็ได้” ความที่เป็นนักอุดมการณ์มาก่อนในการเคลื่อนไหว ในบทบาทของสื่อสารมวลชนซึ่งเขาทำ รวมถึงการสนับสนุนองค์กรประชาสังคม (NGO) คือนายธนาธรวางตนเองว่าจะเป็นนักการเมืองแบบนักอุดมการณ์ ซึ่งจะแตกต่างจากนักการเมืองที่ชูจุดขายเรื่องการเป็นนักบริหาร
“ดร.ทักษิณ ตั้งแต่สมัยไทยรักไทย มาจนถึงความสำเร็จสำหรับในนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ วางตนเองว่าประสบความสำเร็จในฐานะนักบริหาร ดังนั้นนักบริหารจะถูกมองว่าพร้อมที่จะรอมชอมเพื่อรักษาอำนาจ นี่คือข้อด้อยของภาพลักษณ์ของ ดร.ทักษิณ ที่นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วครั้งที่ผ่านมาที่ทำให้พรรคเพื่อไทยสูญเสียความนิยมจากประชาชนสายอุดมการณ์ที่ต้องการต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความที่ธนาธรวางตัวเองและพรรค รวมถึงพิธาด้วย เป็นพรรคแห่งอุดมการณ์ ภาพลักษณ์นั้นขายได้ในระยะยาวมากกว่าภาพลักษณ์ของนักธุรกิจ” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ระบุ
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ยังกล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยพยายามชูจุดขายเรื่องศักยภาพในการบริหารเศรษฐกิจ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่สามารถขายชุดอุดมการณ์แบบพรรคการเมืองสีส้มที่ผูกขาดภาพลักษณ์การเมืองแบบก้าวหน้า (Progressive Politic) ไปแล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งชื่อพรรคการเมืองว่าพรรคก้าวหน้าก็ตาม นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยเสียไปและไม่อาจกลับไปเป็นอย่างในอดีตได้ พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีทางได้รับความนิยมเหมือนกับพรรคไทยรักไทย
ทั้งนี้ คนที่เลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งรอบที่แล้วรู้สึกอึดอัดที่ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจ ทั้งที่ภาพลักษณ์ของพรรคสีส้มดีกว่าพรรคเพื่อไทยหลังเกิดการข้ามขั้ว แต่ก็ยังต้องต่อสู้กันต่อไปในเชิงตัวบุคคล กล่าวถึง หากเป็นการแข่งขันกันตรงๆ ระหว่างนายทักษิณกับนายธนาธร คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่การเลือกตั้งรอบหน้า จะเป็นการแข่งขันระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับนายณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคประชาชน
ซึ่งตนมองว่า “นายณัฐพงษ์มีบุคลิกภาพเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ หรือหากจะส่ง พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ปัจจุบันเป็นโฆษกพรรคพลังประชาชน ก็มองว่ามีบุคลิกเรียบร้อยไม่ต่างกัน แต่ไม่ใช่คนที่มีเสน่ห์” เมื่อเทียบกับนายพิธา ที่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบแต่ก็ต้องยอมรับว่านายพิธาเป็นคนมีเสน่ห์ อย่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นายพิธาที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็โปรยเสน่ห์ได้เก่งกว่าคนที่คาดไว้เยอะ ให้เปรียบเทียบง่ายๆ คือนายพิธามีเสน่ห์มากกว่า น.ส.แพทองธาร แต่ น.ส.แพทองธาร ก็ยังมีเสน่ห์มากกว่านายณัฐพงษ์
ดังนั้น แม้พรรคสีส้มจะมีนโยบายก้าวหน้าและดูกินใจในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยก็เทคะแนนให้เพราะพรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว แต่“น.ส.แพทองธาร มีออร่าในบุคลิกภาพที่เจ้าตัวสามารถดึงออกมาในการหาเสียงได้มากกว่านายณัฐพงษ์”โดยตัวบุคคลก็เป็นประเด็น ให้ดูการเมืองสหรัฐฯ ตัวแทนพรรคเดโมแครตตั้งแต่ยุคบารัค โอบามา จนถึงกมลา แฮร์ริส ใช้นโยบายชุดเดียวกัน ขณะที่นโยบายของทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน หากไม่นับเรื่องผู้อพยพหรือคนเข้าเมือง เรื่องอื่นๆ ทั้งคนอเมริกันและคนที่อื่นๆ ทั่วโลก หลายเรื่องเขาก็มองว่าโอเค
“แต่จุดขายที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งคือความโดดเด่นของความแรงของบุคลิกภาพของเขา ที่แฮร์ริสไม่มี แฮร์ริสไม่มีปัจจัยเสริมที่เป็นปัจจัย
คาริสมา (Charisma-เสน่ห์) ที่โอบามานั้นมี ดังนั้นบุคลิก ออร่า คาริสมา เสน่ห์ ความแรง ทั้งหมดนี้ถ้าเปล่งออกมาได้โอกาสชนะมีสูงกว่า ซึ่งถ้าเป็นธนาธรหรือพิธาจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่เมื่อเป็นการแข่งขันระหว่างอุ๊งอิ๊งค์ (น.ส.แพทองธาร) กับเท้ง (นายณัฐพงษ์)ผมคิดว่ามันไม่ง่ายสำหรับเท้ง” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี