5จว.ใต้นายังท่วม
บ้านจม1.2แสนหลัง
หาดใหญ่ถนนทรุด
จนท.เร่งซ่อมแซม
ปภ.ทำงานเชิงรุก ประสานจังหวัดภาคใต้ช่วยผู้ประสบอุทกภัย ส่วน หาดใหญ่ จ.สงขลาถนนทรุด หลังจากถูกน้ำกัดเซาะ “เฉลิมชัย”ลงพื้นที่ 6 ธันวาคมนี้ ขนทัพช่วยชาวบ้านที่สงขลา-พัทลุงด้านพิพัฒน์ ลุยน้ำ ระดมช่างซ่อมเครื่องมือของชาวบ้านที่เสียหาย ขณะที่นายกฯ สั่ง ศปช.ประชุมติดตามสถานการณ์ไม่หยุด
เมื่อวันที่ 5ธันวาคม นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมด้วยนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีปภ.และทีม ปภ.กลาง (ส่วนหน้า) ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.นราธิวาส โดยมี ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
นายภาสกร กล่าวว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ด้วยความห่วงใยจากรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย จึงให้ปภ.จัดตั้งปภ.กลาง (ส่วนหน้า) ขึ้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปภ.ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2567 เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากหลายพื้นที่ส่งผลกระทบใน 10 จังหวัดภาคใต้ (ชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรังสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด (จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) รวม 22 อำเภอ 161 ตำบล 1,034 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 122,482 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 29 ราย
สำหรับ จ.นราธิวาสเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสายหลัก คือแม่น้ำโก-ลก แม่น้ำบางนราและแม่น้ำสายบุรี ขณะนี้ทางจังหวัด ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ทั้ง 13 อำเภอ รวม 77 ตำบล ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ปภ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ศูนย์ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 12 สงขลา เขต 16 ชัยนาท และเขต 18 ภูเก็ต สามารถช่วยเหลือพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันแม้สถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นระยะ ทั้งห้วงสัปดาห์นี้จนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2567 โดย จ.นราธิวาส มีพื้นที่ซึ่งต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยทั้ง 13 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีสาคร อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี และอ.ตากใบ
นายภาสกร กล่าวต่อว่า จากการบินตามเส้นทางบิน ได้เห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วม จ.นราธิวาสเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรบางจุด อย่างไรก็ตามช่วงอาทิตย์ถัดไปจากการจำลองโมเดลคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำผ่านเข้ามา ทำให้ภาคใต้ตอนล่างได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชน ปภ.กลาง (ส่วนหน้า) ยังคงประสานจังหวัด เข้าเผชิญเหตุ และเร่งให้การช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครัวเรือนละ 9,000 บาท รวม 5 แสนกว่าครัวเรือน ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกับกับช่วยเหลือประชาชนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาขณะนี้ปภ.ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อจ่ายเยียวยาผู้ประสบภัย โดยทำคู่ขนานกับช่วงที่เกิดสถานการณ์ เพื่อให้เงินช่วยเหลือถึงมือประชาชนโดยเร็ว
“หัวใจหลักของ ปภ.คือการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็ว แม่นยำ และทั่วถึง ซึ่งช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ผ่านมา ปภ.ได้แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่าน SMS ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งในชื่อ DDPM เพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับสถานการณ์ ขนย้ายสิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่ รวมถึงจังหวัดก็ได้แจ้งเตือนผ่านกลไกของจังหวัดทุกรูปแบบ และทีม ปภ.ส่วนกลาง ได้ตั้งส่วนหน้าที่ จ.นราธิวาส เพื่อประสานการทำงานร่วมกับจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือและการเผชิญเหตุสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงเร่งขั้นตอนเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย” อธิบดี ปภ.กล่าว
ที่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ อ.หาดใหญ่ เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลและพื้นที่รอบนอกตัวเมืองหาดใหญ่ ส่งผลให้ถนนยุบตัว เป็นโพรงขนาดใหญ่ บริเวณปากซอยข้างสำนักงานการไฟฟ้าฯ หาดใหญ่ ทางเจ้าหน้าที่วิศวกรรมจราจร เทศบาลหาดใหญ่ ต้องนำแผงเหล็กมากั้นรอบถนนเพื่อไม่ให้รถวิ่งผ่าน เนื่องจากเกรงว่าถนนอาจจะยุบตัวขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่ถนนยุบตัว น่าจะเกิดจากดินใต้ผิวถนน ถูกน้ำกัดเซาะอย่างรุนแรงช่วงน้ำท่วม โดยช่วงที่เกิดการยุบตัว มีรถยนต์ที่วิ่งผ่าน แล้วล้อตกไปในโพรง แต่โชคยังดีที่เป็นหลุมขนาดเล็กอยู่ ก่อนจะทรุดตัวขยายวงและเป็นขนาดใหญ่ขึ้น
ทั้งนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่เตรียมซ่อมแซมแล้ว เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นทางคู่ขนาน ถนนเพชรเกษม ขาเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ และเป็นถนนที่ชาวบ้านใช้สัญจรเข้าออกภายในซอย
ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากติดตามสถานการณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รวมทั้งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ทส.ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในการให้ช่วยเหลือ ได้จัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชประสานงานกับจังหวัด เข้าไปอพยพคน ขนย้ายสิ่งของ และสัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมสนับสนุนยานพาหนะ เรือ เครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงรถโรงครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารปรุงสุกแจกจ่ายให้กับประชาชน แจกจ่ายน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำช่วยระบายน้ำในพื้นที่อย่างทันท่วงที และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์ เตรียมพร้อมอากาศยานของกระทรวงฯ พร้อมปฏิบัติการทันทีที่ได้รับการร้องขอ และมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
“ในวันที่ 6-7 ธันวาคมนี้ ได้กำหนดที่จะลงพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และตรัง เพื่อติดตามและแก้ปัญหาน้ำท่วม ให้กำลังใจพี่น้องประชาชน นอกจากนี้จะติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาวิกฤตของปลาพะยูน และแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่ จ.ตรัง ด้วย” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตั้งจุดบริการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน จักรยานยนต์ และเครื่องยนต์การเกษตรขนาดเล็ก ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ โดยให้ จ.สงขลาเป็นพื้นที่นำร่อง
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.สงขลา ได้มอบถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 6 จุด ได้แก่ มัสยิดบางแฟบ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ โรงเรียนเทศบาล 5 วัดหาดใหญ่ใน โรงเรียนบ้านควนจง วัดถ้ำตลอด อบต.ปากบาง และเทศบาล ต.บ้านนา อ.จะนะพบว่าขณะนี้ในภาคใต้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บูรณาการร่วมกับส่วนราชการในจังหวัดเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
วันเดียวกัน น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ที่ประชุมศปช.เกาะติดสถานการณ์และสั่งอำนวยการในทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะลงพื้นที่ จ.ยะลา ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อติดตามการช่วยเหลือของ ศอ.บต.ที่ปรับบทบาทเป็น ศปช.ส่วนหน้า ภาคใต้ ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำของ สทนช.ภาคใต้
“ขณะนี้หลายจุดเริ่มเข้าสู่การฟื้นฟู ทำความสะอาดบ้านเรือน ก่อนย้ายจากศูนย์พักพิงกลับเข้าอาศัย ขณะที่ ปภ.เน้นย้ำให้เตรียมเอกสารสำหรับขอรับความช่วยเหลือให้พร้อม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่ายบ้านที่ถูกน้ำท่วมสิ่งของที่ได้รับความเสียหาย สำเนาบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน กรณีเป็นบ้านเช่า ให้ใช้สัญญาเช่า กรณีบ้านไม่มีเลขที่ ให้ใช้หนังสือรับรองบ้านไม่มีเลขที่ จากกำนันผู้ใหญ่บ้านเทศบาล และกรณีมอบอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
ส่วนการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มีผู้ยื่นคำร้องในระบบแล้ว 57 จังหวัด 302,575 ครัวเรือน ทาง ปภ.นำส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ให้ผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท แล้ว 39 ครั้ง เงินถึงมือผู้ประสบภัยแล้ว 297,782 ครัวเรือน เป็นเงินรวม 2,680,026,000 บาท
น.ส.ศศิกานต์ เปิดเผยด้วยว่า ในภาพรวมน้ำท่วมภาคใต้ยังมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยทุกพื้นที่ใน จ.ปัตตานีสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ ส่วนจ.นราธิวาส แม้ระดับน้ำ 3 ลุ่มน้ำหลักกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังต้องระวังลุ่มน้ำบางนราและลุ่มน้ำโก-ลก เนื่องจากยังมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยฝนเริ่มเคลื่อนตัวขึ้นไป บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ส่วนภาคใต้ตอนล่างแนวโน้มของฝนลดลง โดยช่วงนี้ภาคใต้ยังมีฝนกระจายตัวเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ในวันที่ 12-13 ธันวาคมนี้ จะมีฝนเพิ่มขึ้นอีกระลอก ศปช.ยังเฝ้าระวังการระบายน้ำของเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ตามที่คณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง มีมติให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 16 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน เป็น 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อเตรียมรับน้ำที่จะไหลเข้ามาอีกซึ่งได้เน้นย้ำให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี