ผศ.ดร.อนุกูล โรจนสุขสมบูรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บัณฑิตศึกษาและกิจการนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง “ลิเกในประเทศไทย” ว่าตนได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาของลิเกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในการวิจัยครั้งนี้มี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของลิเกในประเทศไทย ซึ่ง ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้ทำการศึกษารวบรวมไว้แล้ว ตนจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลต่อยอดเพิ่มเติมตามช่วงระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากประวัติแล้วลิเกเริ่มมีพัฒนาการมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการผสมผสานเป็นแม่แบบครั้งแรกคือมาจากละครรำ และมีรากฐานเดิมมาจากราชสำนัก แต่มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของระยะเวลาและการถ่ายทอดท่ารำ ทำให้ท่ารำมีความหลากหลายขึ้นตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
รองคณบดีฝ่ายวิจัย ยังกล่าวด้วยว่างานวิจัยเรื่องนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อศิลปินลิเกในประเทศไทย โดยถือเป็นงานวิจัยเล่มแรกที่ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเช่นนี้ จากการเชิญศิลปินแห่งชาติ ครูบุญเลิศ นาจพินิจ และศิลปินลิเกอาวุโสที่ได้รับการยอมรับหลายท่านมาประชุมสัมมนาร่วมกัน พบว่าปัจจุบันในประเทศไทยมี 27 จังหวัดที่มีศิลปินลิเกพำนักอาศัยและทำการแสดง ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของศิลปินลิเกใน 10 จังหวัดนำร่อง ทั้งประวัติความเป็นมา ฉายาในการแสดง ภูมิลำเนา ผู้ที่ถ่ายทอดวิชาลิเกให้ ฯลฯ เพื่อขึ้นเป็นทะเบียนรายชื่อหรือทำเนียบศิลปิน ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ศิลปินลิเกอาวุโส และผู้แทนของแต่ละจังหวัด คือต้องแสดงลิเกมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี เป็นที่ยอมรับทั่วไป และมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปรวมทั้งมีการแบ่งเป็นกลุ่มลิเกระดับดาวและระดับครู โดยมีศิลปินลิเกที่ผ่านเกณฑ์ในครั้งนี้ทั้งหมด 285 ท่าน
ผศ.ดร.อนุกูล กล่าวว่า สำหรับสถานะของลิเกในยุคปัจจุบัน ลิเกนอกจากจะเป็นศิลปะบันเทิงแล้วยังเป็นวิชาชีพที่ใช้หาเลี้ยงตนเองของศิลปิน จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการแสดงเพื่อความอยู่รอด นอกจากการแสดงทั่วไปในงานวัด งานศพ งานบวช งานเฉลิมฉลองต่างๆ แล้วยังมีการแสดงลิเกตามวิกต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ลิเกปิดวิก” ในเขตกรุงเทพมหานครในหนึ่งวันจะมีคณะลิเกที่ทำการแสดงไม่ต่ำกว่า 20 คณะ กระจายตัวอยู่ตามชุมชนตามตลาดต่างๆ และมีกลุ่มผู้ชมที่ติดตามอยู่ อีกทั้งมีการบันทึกการแสดงเป็นแผ่นวีซีดี ออกอากาศบันทึกการแสดงสดทางวิทยุและเคเบิลทีวีหรือที่เรียกกันว่า “ลิเกจานดำ” เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคณะลิเกอีกด้วย สำหรับในส่วนของวัฒนธรรมการชมลิเกที่เรียกว่า “แม่ยก” หรือ “แฟนคลับ” นั้นมีมาช้านานแล้ว นอกจากจะมีการให้พวงมาลัยให้ดอกไม้แก่ศิลปินแล้ว บางคนจะให้ในรูปแบบของทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพบอยู่ อีกทั้งยังมีการปรากฏตัวของกลุ่มผู้ติดตามชมลิเกในสื่อ โดยมีการจัดทำเว็บไซต์ของกลุ่มผู้ชม เพื่อรวมตัวกันไปชมลิเก ปัจจุบันลิเกยังสามารถอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนาน เพราะมีการต่อยอดและมีการถ่ายทอดวิชาลิเกให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นระยะ และมีการรวมตัวของกลุ่มศิลปินลิเกอย่างเหนียวแน่น จากการสัมภาษณ์ลิเกรุ่นเยาว์พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความใฝ่ฝันที่จะไปยืนอยู่บนเวที มีแฟนๆ มาให้กำลังใจ ได้ออกผลงานเพลงเป็นศิลปินกับค่ายเพลงโดยอาศัยพื้นฐานลิเก จึงเชื่อมั่นได้ว่าวิชาการและวิชาชีพอันเป็นสมบัติของชาตินี้จะไม่สูญหายไปอย่างแน่นอน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี