พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 41/2567 ณ ห้องประชุม
ราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA โดย สพฐ.ได้รายงานผลการประชุมแอดมิน และแกนนำ การขยายผลการสร้างข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ไปตั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา 718 User เพื่อนำเสนอแพลตฟอร์มอบรมออนไลน์ขยายผลการสร้างข้อสอบวัดความฉลาดรู้ฯ จำนวน 16 รุ่น และสำรอง ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567-เดือนมีนาคม 2568 ตัวอย่างการดำเนินงานของแกนนำระดับเขตพื้นที่ฯ เช่น อบรมครูแกนนำสพม.สมุทรปราการ ครูเครือข่ายโรงเรียน ในจังหวัดสมุทรปราการ
“ซึ่งศธ.มีเป้าหมายอยากทำให้ครบทุกๆ จุด และอบรมครูเป็นรุ่นๆ ไป ทั้งสถานศึกษาในสังกัด อว. สถานศึกษาใน กทม. และสถานศึกษาในท้องถิ่น เป็นการขับเคลื่อนไปด้วยกันในภาพรวม ในการสร้างครูแกนนำการออกแบบข้อสอบ PISA และมีการนำข้อสอบวัดความฉลาดรู้ฯไปขยายผลการดำเนินการ” รมว.ศธ.กล่าว และว่า นอกจากนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้นำเสนอแผนการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อดำเนินการตามหลักการ “ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ติดตามผล พัฒนาปรับปรุง” ให้ดียิ่งขึ้น
พร้อมทั้ง มีการเปิดเว็บไซต์ “การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา” http://www.ipst.ac.th/d2ieq ให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานสากล โดยใช้องค์ความรู้จาก PISA และมี LINE Openchat “การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา” เพื่อเป็นช่องทางรับข้อมูลข่าวสารและตอบข้อสงสัยต่างๆ ให้กับคุณครู
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา “เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา และ เด็กตกหล่น” โดยสำนักงานปลัดศธ.(สป.ศธ.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ก็ได้รายงานการเชื่อมโยงข้อมูลผลการติดตามเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ผ่านเดสก์บอร์ด https://exchang.moe.go.th ที่มีการอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งพบว่ามีจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่ตรวจสอบแล้ว จำนวน 335,580 คนพบตัว 319,446 คน และไม่พบตัว 16,134 คน
นอกจากนี้ สพฐ. ได้รายงานการจัดกิจกรรมการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในหลายกิจกรรมแล้ว เช่น การใช้นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ใน สพม.ราชบุรี “ราชบุรีโมเดล” โดยทำแผนการเรียนรายบุคคลวิชาชีพคนเลี้ยงวัว ส่วนที่ - เมืองสองแคว ร่วมพัฒนาโรงเรียนต้นแบบประจำอำเภอ จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ - สพป.นราธิวาส เขต 2 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการอบรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ แก่โรงเรียนในสังกัด 10 แห่ง - สพป.กรุงเทพมหานคร เขต 1 บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนกรุงเทพฯเป็นหนึ่ง “พาน้องกลับมาเรียน พาการเรียนไปให้น้อง” (OBEC ZeroDropout) ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร
สำหรับในส่วนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)ไปดูรูปแบบการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษาที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ เนื่องจากมีเด็กหลายกลุ่ม เช่น เด็กกลุ่มที่อยู่ในเรือนจำ เด็กกลุ่มที่ไปอยู่ต่างประเทศ เด็กกลุ่มอยู่นอกระบบการศึกษาต่างๆ ก็ให้ไปดูรูปแบบว่าเขาทำกันอย่างไร หากไปพูดคุยกับเด็กแล้วเด็กอยากกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้หรือไม่ เพราะเปิดเทอมแล้ว จึงให้ไปดูระเบียบกฎหมาย ในการดำเนินการ ก็ให้เวลาถึง 15 ธ.ค.นี้ ให้นำข้อสรุปมารายงานว่าจะมีโมเดลอย่างไรในการขับเคลื่อน
รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สำนักงานปลัด ศธ. ได้รายงานความก้าวหน้า มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา รร.ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม ว่า ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 4/2567 เห็นชอบหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ของ ศธ. วงเงิน 264,458,436 บาท ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ประสบภัยน้ำท่วมหลายจังหวัด ซึ่งได้มอบให้ สป.ศธ.เป็นเจ้าภาพหลักในการรวบรวมข้อมูลปัญหาและการแก้ไข และให้ประสานกับ สพฐ.ในการดูปัญหาน้ำท่วมของโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้
“สำหรับของขวัญปีใหม่ปีนี้จะคล้ายๆ กับปีที่แล้วแต่ก็อาจจะมีเพิ่มเติมมาอีก เบื้องต้นสพฐ.จะจัดของขวัญปีใหม่ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถหยุดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 2-6 ธ.ค.2567 และให้นับเป็นเวลาเรียนปกติ เพื่อให้นักเรียนได้อ่านหนังสืออยู่ที่บ้านเพื่อเตรียมตัวสอบ หรือถ้าบางโรงเรียนมีความพร้อมก็ให้จัดติว หรือ จัดกล่องความรู้ สู่ความสุข จัดสอนเสริม เพิ่มเทคนิค สร้างความมั่นในใจการสอบ TGAT/TPAT ตามนโยบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ตามแนวทางประกาศ สพฐ. เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1.ให้สถานศึกษาอนุญาต ให้นักเรียนเรียนเสริมความรู้ทั้งในหรือนอกห้องเรียน (ที่บ้านหรือโรงเรียน) 2.ให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม จัดสถานที่ในโรงเรียนเพื่อใช้ในการเรียนเสริมความรู้ให้แก่นักเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 3.ให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีมาตรการ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ และมีมาตรการป้องกัน ดูแลด้านความปลอดภัย ให้แก่นักเรียน เป็นต้น” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวและว่า สำหรับในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเปิดศูนย์ “อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน (Fix it Center) เทศกาลปีใหม่ 2568” เพื่อให้บริการตรวจสภาพรถก่อนการเดินทางฟรี ทั่วประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี