“Take The Rights Path” วันเอดส์โลก ปี 2567 ชูธงลดการตีตรา เพิ่มทางเลือกเปิดทางเข้ารับการบริการให้ผู้คน ประเทศไทยมุ่งบรรลุการยุติเอดส์ภายในปี พ.ศ.2573
กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย (TNP+) คณะกรรมการองค์การพัฒนาด้านเอดส์ ( กพอ.) ผู้เชี่ยวชาญของไทยและนานาชาติ ทั้งจาก RTI International, University of California San Francisco (UCSF), ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (US.CDC), องค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID), และกองทุนโลก (GFATM), องค์การอนามัยโลก (WHO) และ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ลงพื้นที่ดูงานในสถานพยาบาลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ใน 4 จังหวัด คือ สงขลา นครราชสีนา นครสวรรค์ และเชียงราย ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะ พูดคุย ทำความเข้าใจสถานการณ์ และการปฏิบัติงานในเรื่องการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ในสถานบริการสุขภาพคลินิก ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ องค์กรหรือชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้เริ่มขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557
การลงพื้นที่ดูงานครั้งนี้ ทางคณะทำงานทั้งไทยและต่างประเทศ มีข้อสรุป และเสนอแนะต่อที่ประชุม ดังนี้ นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย ให้ความเห็นว่า
“จากการลงพื้นที่ใน จ.นครราชสีมา เป็นอะไรที่ประทับใจมาก เพราะมีการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคประชาสังคม แล้วก็ทีมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เพราะการลดการตีตราเลือกปฏิบัติ จะทำโดยภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องทำผ่านเครือข่าย ทางชุมชนด้วย เนื่องจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการตีตรา แล้วก็กลับมาเป็นอาสาสมัครที่จะขับเคลื่อน เพื่อให้เพื่อน ๆ ของเขาได้ประสบการณ์ที่ดี ไม่ให้รู้สึกว่า การถูกเลือกปฏิบัติหรือการตีตรา”
อย่างไรก็ตาม นพ.สุเมธ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการตีตราหรือเลือกปฏิบัติ ยังไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว ยังมีอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตัวคนที่เป็นผู้กระทำเอง เขาอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องนี้ หรืออาจจะทำโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือแม้แต่อาจจะรู้ แต่ต้องทำตามกฎ ระเบียบต่างๆ รวมถึง อาจเป็นเรื่องทัศนคติ อคติส่วนตัว เป็นต้น ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การถูกตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน ถูกละเมิดโดยนำผลเลือดไปเปิดเผย หรือเป็นเรื่องของเพศสภาพ จากการลงพื้นที่เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนได้ให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะ ก็เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค และทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องร่วมมือกันกำหนดวิธีการ หาแนวทางที่จะลดการตีตราไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการยุติเอดส์ ในปี 2030
ขณะที่ คุณจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR)/TNCA กล่าวว่า บทเรียน 10 กว่าปี ที่ผ่านมาเราพบว่า การมองแค่เรื่องโรค มองแค่มิติสุขภาพไม่พออีกต่อไป เพราะว่าคน 1 คน มีความทับซ้อนหลายเรื่องมากในชีวิต เช่น อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อ ในขณะเดียวกันอาจจะเป็น Sex Workerด้วย มีการใช้ยาเสพติดด้วย หรืออาจจะเป็น lgbt ด้วย ความทับซ้อนเหล่านี้ เราจะปิดหูปิดตาไม่เห็น ไม่มองไม่ได้อีกต่อไป ถ้ามุมมองเปลี่ยน วิธีการให้บริการหลังจากนี้จะเปลี่ยนไป คิดว่าวิธีคิดจะเปลี่ยนถ้าเลนส์การมองเปลี่ยนนอกจากนี้ เสนอให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับผู้เสพ การที่ยังมีกฎหมายนี้มีผลทำให้คนอาจจะไม่เดินเข้าสู่การรับบริการ ในขณะที่การใช้ยาของเขาอาจจะมีความเสี่ยงต่อการนำไปสู่เรื่องของ HIV หรือตับอักเสบบีซี หรือว่า Overdose ได้
ทางด้าน นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์กุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากเป็นเรื่องของกฎหมายเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ หรือพูดเฉพาะการตีตราเอดส์อย่างเดียว คิดว่า Scale จะเล็กไป แต่คำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติ จริงๆ แล้วก็เหมือน Criteria ข้อบ่งชี้ เช่น จะรับคนเข้าทำงาน ก็ต้องมีข้อกำหนดว่าต้องการคนแบบไหน บางหน่วยงานก็มีสิทธิ์เลือก เพราะฉะนั้น เรื่องพวกนี้คงต้องคุยกันในระดับการออกกฎหมาย สำหรับตัวเอง มองว่า เป้าหมายหลักเดียวคือ เราต้องการทำให้ดีอยู่แล้ว แต่ในรายละเอียดก็มีข้อที่แต่ละคนอาจจะเห็นแตกต่างกัน
นพ.ภานุมาศ กล่าวต่อว่า “ข่าวดี ต้องจ่าย ข่าวร้าย ลงฟรี เราไม่เคยมีข่าวว่า คนติดเชื้อ HIV 4 แสนคน กินยาแล้วดีอย่างไร แต่ถ้ามีคนไข้ ประท้วง 3 คน แล้วบอกว่าโดนอย่างนั้น อย่างนี้ จะเป็นข่าวเลย ถามว่า แล้วเราต้องทำอย่างไร ปัญหาที่เกิดจาก 3 คน 4 คนนี้ เราก็ต้องมุ่งแก้ไข ผมคิดว่า บางทีก็เป็นฝันกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ ที่ดูแลคน 400,000 คน แล้วไม่มีเรื่องเป็นข่าวดี สำหรับผมนะ เราไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังเลย”
นพ.สุทัศน์ โชตะนะพันธ์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการลงพื้นที่ดูงานในครั้งนี้ ว่า ผลสรุปโดยภาพรวมทุกพื้นที่ดำเนินการเรื่องลดการตีตรา หลายสถานพยาบาลสามารถดำเนินการได้ค่อนข้างดี มีความแตกต่างกันบ้าง ในขนาดของโรงพยาบาลที่ใหญ่กับเล็ก โดยภาพรวมทางทีมถือว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ดำเนินการได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเรื่อง 3 คูณ 4 คือ 3 ระดับ ของของการลดการตีตรา คือ ระดับบุคคล ระดับกลุ่มคน ระดับนโยบาย และมาตรการอีก 4 ด้าน ซึ่งมาตรการสุดท้ายที่เน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการตีตราเราทำได้ดี
“การดูงานของทั้งคณะ รอบนี้มี 2 วัตถุประสงค์ คือ ประเมินความต่อเนื่อง ว่าเรายังดำเนินการตามที่เคยวางมาตรการไว้ไหม ซึ่งก็เป็นไปตามแผน และเขาอยากมาดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อนำไปใช้กับที่อื่นต่อไป สุดท้ายก็คงเป็นการมาช่วยให้เรากระชับเรื่องของเครือข่าย แล้วก็เพิ่มมุมมองที่เราอาจจะยังมองไม่เห็นเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ ประเทศไทยยึดหลักให้บริการเอชไอวี ที่มีคุณภาพสูงและปราศจากจากการตีตรา เพื่อการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน และใช้เป็นกลยุทธ์ ให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการยุติเอดส์ที่เป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี พ.ศ. 2573 และเกิดความยั่งยืนในระบบสาธารณสุขของประเทศ ภายใต้ สโลแกน “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” และมีความมุ่งมั่นในการยกระดับมุ่งสู่ “สถานบริการสุขภาพไทย –ปราศจากการตีตราและเลือกปฎิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี มุ่งสู่การยุติเอดส์” เนื่องในวันเอดส์โลก ปี 2567 ภายใต้คำขวัญ “Take The Rights Path”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี