15 ธ.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการสภาการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า ขณะนี้ กองทุน กยศ. ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 กำลังมีปัญหาสภาพคล่องและอาจประสบปัญหาทางการเงินจนอาจไม่สามารถสนับสนุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งในช่วงงบประมาณปี 2561-2567 กองทุน กยศ. ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนกระทั่งมีการของบประมาณในปีงบประมาณ 2568 เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2568 กองทุนต้องจ่ายเงินกู้ยืมและภาระผูกพันจ่ายเงินกู้ยืมกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท ส่วนรายรับจากการชำระหนี้มีเพียง 2.7 หมื่นล้านบาท เงินสดสะสมอาจติดลบเร็วๆนี้ และ จะเกิดปัญหาสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการศึกษาได้
“ขณะนี้มีผู้กู้ยืม กองทุน กยศ. กว่า 7.1 ล้านราย อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3.6 ล้านราย ชำระหนี้เรียบร้อย 1.9 ล้านราย หาก กยศ ขาดสภาพคล่องรุนแรง อาจทำให้นักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ต้องขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ขาดโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจึงควรจัดสรรงบประมาณปี 2568 เพิ่มอย่างน้อยอีก 1.5 หมื่นล้านบาทให้กับกองทุน กยศ.” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า องค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กร Unicef สหประชาชาติ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งการเพิ่มบทบาทของ กยศ. ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย
“อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้างยิ่งขึ้น มีความจำเป็นในการต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาอย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการผ่านระบบการให้ทุนการศึกษา และต้องเพิ่มงบทุนการศึกษาให้เพียงพอโดยเฉพาะทุนการศึกษาในการเรียนสาขาวิชาชีพต่างๆ” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า จากการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา บ่งชี้ชัดเจนว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลงเพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิดช่วงปี 2563-2564 ซึ่งนำสู่ปัญหาการศึกษาอีกมากที่จะตามมา
ความรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัยศึกษา สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอลงหมดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดและต้องปิดโรงเรียน เด็กนักเรียนและนักศึกษาในช่วงดังกล่าวต้องได้รับการเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ชดเชยที่ขาดไป เพราะเด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา เด็กเหล่านี้จะอ่อนแอในวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้ และประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/likesara/847013 วิจารณ์สนั่น! สาวรีวิววิธีบิดหนี้ กยศ. 5 แสน กลโกงมาครบ 'เปลี่ยนชื่อ-ถ่ายทรัพย์สิน'
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี