กระทรวงยุติธรรม จับมือ UNDP และ UNGCNT จัดการประชุมระดับชาติ หัวข้อ "การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน"
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand: UNGCNT) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8 หัวข้อ "การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน" ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 โดย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ ร่วมกับ คุณนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคม เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย โดยมีนางสาวดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์การประชุมฯ และมีคณะเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกตลอดการประชุมฯ
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล และเน้นย้ำความสำคัญของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติแรงงาน ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะในประเทศไทย จากราย งานสถานการณ์ด้านแรงงาน ช่วงเดือนกรกฏาคม-กันยายน 2567 ว่ามีประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 59.24 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มี 40.48 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานในระบบประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 33,39 และมาตรา 40 ส่วนแรงงานอยู่นอกระบบประกันตนจำนวน 15.66 ล้านคน ขณะที่อีก 18.75 ล้านคน เป็นวัยชรา คนเรียนหนังสือ ทำงานบ้าน และอื่นๆ นอกจากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อยู่จำนวนประมาณ 3.3 ล้านคนเศษ แต่ยังมีกลุ่มที่อยู่ใต้ดินรวมกับที่ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 5 ล้านคน
"การพูดถึงการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะมีความหมายถึงแรงงานทุกระบบ ซึ่งประเทศไทยถ้านำนิยามสากลมาใช้เราจะมีผู้ว่างงานเพียง 4.14 แสนคน ที่ถือว่าน้อยมาก ส่วนตัวเห็นว่าเพราะมีแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระจำนวนมาก รวมถึงมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบจำนวนมากด้วย จึงเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแลและยากต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน"
พันตำรวจเอกทวี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นกรอบนโยบายของรัฐบาลที่สะท้อนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความร้บผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ปัญหาการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข โดยการผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti- Strategic Lawsuit Against Public Participation : Anti- SLAPP Law) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยโดยเร็ว นอกจากนั้น ควรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริต เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม พิจารณายกเลิกกฎหมายที่เป็นโซ่ตรวน เป็นอุปสรรค หรือเป็นเงื่อนไขในการพัฒนา รวมถึงกฎหมายที่มีความล้าสมัย ขยายผลการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมการคุ้มครองแรงงานในทุกมิติ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และควรต่อยอดการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่ม SMEs ด้วย เนื่องจากมีจำนวนมากในประเทศไทย โดยดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมการศึกษาให้กับแรงงานที่พบว่าประมาณ 65% มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน(มัธยม ศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช.) การที่แรงงานไม่ได้รับการศึกษาถึงขั้นที่รัฐกำหนดอาจถือว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้น การให้การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกละเมิด
สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกคนมองว่ากระทรวงยุติธรรมเป็นของพวกเราทุกคน เป็นพื้นที่ที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับคนทุกกลุ่ม และทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อจะได้รวบรวมและนำไปสู่การแก้ไข รวมถึงจะได้เป็นโอกาสในการผลักดันความเป็นธรรมให้กับแรงงานและภาคธุรกิจให้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้หลักการเคารพสิทธิมนุษยชน ร่วมกันขจัดปัญหาการทุจริตในมิติแรงงาน ทั้งในระบบ และนอกระบบ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และความเท่าเทียม ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
ด้าน คุณนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรม ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจก้บสิทธิมนุษยชนเป็นประเทศแรกในเอเชีย และมีบทบาทนำด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค โดยเฉพาะการกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทต้องเปิดเผยผลกระทบการดำเนินงานในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 86% ได้ดำเนินการแล้ว การเสริมสร้างความเข้มแข็งของมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงพัฒนาการล่าสุดในการริเริ่มศึกษาแนวทางออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านภาคบังคับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยังเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเห็นได้จากค่าคะแนนของประเทศไทยในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชั่นขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International Corruption Perceptions Index) และดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ World Justice Project (World Justice Project’s Rule of Law Index) ซึ่งยังปรากฏว่ามีปัญหาในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริต และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ในการนี้ UNDP ยินดีร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผ่านทางโครงการใหม่ที่มุ่งสนับสนุนสื่อและเยาวชนให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Agent of Change) ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในทุกมิติต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี