นักวิชาการจี้รัฐบาลไทยเร่งช่วยเหยื่อค้ามนุษย์ริมน้ำเมยหวั่นไทยตกอันดับจากเทียร์ 2 รองประธานชมรมโรฮิงญาเผยเส้นทางขนคนจากยะไข่มาเมียวดีก่อนใช้ไทยเป็นทางผ่านไปมาเลเซีย
ระหว่างวันที่ 16- 18 ธันวาคม 2567 Auschwitz Institute for the Prevention of Genocide and Mass Atrocities ได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการ “ผู้สื่อข่าวและสื่อสารมวลชนกับการนำเสนอความขัดแย้งและการทารุณกรรมหมู่ในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยพาสื่อมวลชนและนักวิชาการ 16 คนลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเก็บข้อมูลข้อเท็จจริงในหลายประเด็น อาทิ แรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ในฝั่งเมียวดี
ผศ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้สื่อข่าวทั้งด้านแนวคิดและการใช้คำ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้เห็นข้อเท็จจริงสถานการณ์จริงในพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการเผยแพร่ข้อมูลโดยเฉพาะเรื่องของเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบไทยโดยตรงซึ่ง อ.แม่สอดเป็นพื้นที่สำคัญ และมีผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบและหลบหนีรัฐประหาร หลายคนเผชิญสภาวะที่ต้องดิ้นรน
“หลังจากลงพื้นที่ เราพบว่ามีความซับซ้อนของประเด็นปัญหามากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างเดียวแต่มีเรื่องของการค้ามนุษย์ ที่ขบวนการค้ามนุษย์นำพาเหยื่อผ่านประเทศไทย ซึ่งน่ากังวลที่ไทยเป็นทางผ่าน หากเราไม่จัดการสถานการณ์เหล่านี้ ประเทศไทยนอกจากเสียชื่อเสียงเพราะประชาคมระหว่างประเทศกดดัน และเหยื่อการค้ามนุษย์เหล่านี้ต่างถามหาความช่วยเหลือ และคาดหวังให้ไทยมีศักยภาพช่วยเหลือและคุ้มครองที่ดี ไทยก็อาจต้องรับมือการเติบโตของเครือข่ายการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ” ผศ.ภาณุภัทร กล่าว
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย กล่าวว่าเรื่องการค้ามนุษย์ไม่ใช่มีเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเมย แต่พบเห็นได้บริเวณขอบชายแดนของประเทศไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจพัฒนาน้อยกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นชายแดนพม่าและชายแดนลาวซึ่งเป็นเหมือนดินแดนที่มีการค้ามนุษย์ค่อนข้างสูง โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากไม่ได้มากจากประเทศไทย แต่เป็นชาวต่างชาติที่มาจากทั่วโลก
“ประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับเศรษฐกิจต่ำกว่าเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และยิ่งเป็นยุคที่โซเชียลมีเดียเข้าถึงทุกที่ ทำให้การชักชวนง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องมีนายหน้าในหมู่บ้านเหมือนสมัยก่อนแต่ขบวนการค้ามนุษย์สามารถยิงตรงไปถึงชาวบ้านไได้เลย เราจะเห็นว่าตอนนี้พ่อแม่บางส่วนไม่สามารถสื่อสารกับลูกตัวเองได้เพราะลูกติดโซเชียลมาก ทั้งๆที่การสื่อสารในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากพอ บางครอบครัวเด็กที่ถูกทิ้งอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่เข้าไปหางานทำในเมือง เด็กเหล่านี้มีโอกาสตกเป็นเหยื่อสูงเพราะปู่ย่าตายายตามไม่ทันโลกโซเชียล”ดร.ศรีประภา กล่าว
ดร.ศรีประภากล่าวถึงกรณีที่มีชาวต่างชาติถูกหลอกเข้ามาทำงานในแหล่งอาชญากรรมรอบประเทศไทยจำนวนมากว่า แม้การจัดการกับคนต่างชาติที่เหยื่อทำได้ยาก แต่ในทางมนุษยธรรมประเทศไทยก็ต้องรับผิดชอบเพราะเหยื่อจำนวนไม่น้อยถูกหลอกโดยผ่านประเทศไทย และฐานะของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วมีความพร้อมมากกว่า
“ใครก็ตามที่ถูกหลอกและรัฐไทยอยู่ฐานะที่จะช่วยได้ ก็ต้องรีบช่วยพวกเขา เรารู้อยู่ว่าทุกปี อเมริกาออกรายงาน ปีนี้ไทยอาจต้องกังวลว่าจะถูกลดเกรดจากเทียร์ 2 ดังนั้นหากรัฐไทยช่วยเหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้ได้ก็ควรเร่งช่วย”อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ด้านนายสุไรมาน พฤฒิมณีรัตน์ รองประธานชมรมโรฮิงญาประเทศไทย (Association Rohingya Thailand ) ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายโรฮิงญา ได้เป็นวิทยากรให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้ว่า การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ทำให้ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ซึ่งเป็นรัฐทางภาคตะวันตกของพม่าได้รับผลกระทบ โดยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการตัดสัญญาณในรัฐยะไข่ ทำให้ไม่ทราบว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้น แต่ทราบว่าสถานการณ์เลวร้ายมากโดยมีชาวโรฮิงญาไร้ที่อยู่อาศัย 1.2-1.3 แสนคน โดย AA พยายามโฆษณาชวนเชื่อว่ามีการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา แต่จริงๆแล้ว AA พยายามขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากหมู่บ้านและมีการยึดทรัพย์สิน ขณะนี้มีคนตายเพราะขาดสารอาหารหลายร้อยคน ชาวโรฮิงญาจึงต้องหนีไปอยู่ที่อื่นหรือหนีออกนอกประเทศ ขณะที่ทหารพม่าพยายามเอาชาวโรฮิงญาไปเป็นทหารพม่าโดยมีการจับตัวไปอย่างไม่สมัครใจและส่งให้ไปอยู่แนวหน้า มีกว่า 200 คนเมื่อออกไปอยู่แนวหน้าออกรบได้เสียชีวิตทั้งหมดเพราะคนเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกฝนให้เป็นทหาร
นายสุไรมานกล่าวว่า ตามหมู่บ้านที่มีทหารพม่า เมื่อทหาร AA บุกเข้าโจมตีก็จะเหมารวมฆ่าชาวโรฮิงญาไปด้วย เพราะ AA มีความเกลียดชังโรฮิงญาอยู่แล้ว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ไม่มีใครอยู่ต่อได้ บางพื้นที่ในหมู่บ้านแถวชายแดนยะไข่แม้ไม่มีการสู้รบ แต่ชาวโรฮิงญาก็ออกมาหากินไม่ได้ เพวกขาจึงไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อมีคนไปบอกว่าหากเดินทางไปประเทศมาเลเซียแล้วชีวิตดีขึ้น พวกเขาจึงพยายามดิ้นรนไปที่มาเลเซีย
“นายหน้าจะมากันหลายรอบ เขาวางระบบไว้ก่อนแล้ว เขาบอกว่าไปโดยไม่เสียเงิน ให้ไปถึงก่อนแล้วค่อยเก็บเงิน แต่จริงๆแล้วนายหน้าได้สืบข้อมูลไว้ก่อนว่าเหยื่อมีที่ดิน หรือมีทรัพย์สินหรือไม่ ใครมีญาติที่มีเงินบ้าง เมื่อเหยื่อถูกหลอกไปแล้ว เขาก็ให้เหยื่อโทรกลับมาขอเงินเหมือนการเรียกค่าไถ่กับญาติ มิเช่นนั้นเหยื่อกูถูกกักขับอยู่ในอาคารริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียวดี”นายสุไรมาน กล่าว
นายสุไรมานกล่าวว่า ขณะทีสถานการณ์ในแคมป์ที่พักพิงชาวโรฮิงญาในประเทศบังคลาเทศก็มีปัญหานี้เช่นกัน โดยช่วงแรกที่ทั่วโลกยังให้ความสนใจก็จะมีการส่งต่อความช่วยเหลือจำนวนมาก แต่พอเวลาผ่านไปโดยเฉพาะภายหลังที่เกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ทำให้ความช่วยเหลือลดลงไปมากจนไม่เพียงพอในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้รัฐบาลพม่าบอกว่าจะรับผู้หนีภัยชาวโรฮิงญากลับคืนมา แต่ก็ไม่มีอะไรการันตี จึงทำให้ผู้อพยพเหล่านี้หนีออกนอกประเทศ
นายสุไรมานกล่าวว่า สำหรับเส้นทางการค้ามนุษย์ที่ชาวโรฮิงญาถูกพาตัวมานั้น มีทั้งทางรถและทางเรือ โดยทางรถจากยะไขมาแวะพักที่เมืองปะเตงก่อนไปที่กรุงย่างกุ้งและต่อไปที่เมืองพะอันก่อนจะไปยังจุดแวะพักที่ริมแม่น้ำเมยเมืองเมียวดี ส่วนทางเรือนั้นคือนั่งเรื่องจากรัฐยะไข่มาที่เมืองมะละแหม่งในรัฐมอญก่อนไปยังเมืองพะอันและเมียวดี หลังจากนั้นใครมีเงินก็ถูกส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซียโดยผ่านประเทศไทย โดยทั้งหมดจะเสียค่าหัว 70,000-150,000 บาท
“เมื่อก่อนมีแค่นายหน้าที่เป็นทหารเรื่องของพม่าร่วมมือกับขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ แต่หลังจากเกิดรัฐประหารในพม่า มีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น คือมีทั้งทหารพม่าพม่าและทหารกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่ม มีการช่วงต่อกันเป็นทอดๆ แม้แต่ทหาร AA ก็เข้ามาร่วมส่วนแบ่งค่าหัวตรงนี้ด้วย ช่วงที่เกิดการสู้รบกันหนักๆในเมืองเมียวดี ปรากฏว่ามีการพาชาวโรฮิงญาเข้ามาเยอะมาก แสดงว่ามีกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์บางส่วนได้เข้าอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ด้วย มีการเช่าพื้นที่ไว้สำหรับเก็บตัวชาวโรฮิงญา เป็นบ้านที่รั้วสูง คาดว่าตอนนี้มีชาวโรฮิงญาถูกขนมาไว้แถวเมียวดีประมาณ 1,500-2,000 คน และแต่ละวันมี 50-100 คนถูกส่งเข้ามาในประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปยังมาเลเซีย”นายสุไรมาน กล่าว
รองประธานชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและผู้หญิงโดยผู้หญิงร้อยละ 80% ต้องการไปแต่งงานกับคนโรฮิงญาในมาเลเซียซึ่งเดินทางมาก่อนหน้านั้น
การข้ามจากเมียวดีมาฝั่งไทยโดยการนั่งเรือผ่านท่าข้ามช่องทางธรรมชาติโดยมีนายหน้าคนไทยพาเดินผ่านไร่อ้อย ทั้งหมดข้ามในเวลากลางคืน ใช้รถรถกระบะบ้าง รถตู้บ้าง พาเดินทางไปยังจุดพักใหญ่อยู่ชานเมือง กทม. จากนั้นก็พาเดินทางต่อไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อข้ามไปมาเลเซีย ทั้งๆที่ความจริงแล้วตอนนี้มาเลเซียจับหนักกว่าประเทศไทยอีก”นายสุไรมาน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี