สำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสัมมนาการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ(Executive Forum for FosteringExcellence in Education) โดยมีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษ โดยมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ.นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ.ผู้บริหารระดับสูง พร้อมด้วยตัวแทนจากภาคเอกชน อาทิ นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายถาวรชลัษเฐียร รองประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางกิตติยา โตธนะเกษมผู้อำนวยการสถาบันธนาคารไทย เข้าร่วม
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวเปิดการประชุม และปาฐกถาพิเศษนโยบายการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ตอนหนึ่งว่า ลำดับแรก ขอขอบคุณผู้บริหารภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมพัฒนาการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาและเมื่อเร็วๆนี้ ศธ.ได้ MOU ร่วมกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และภาคส่วนต่างๆ ในโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้ว 182 โรงเรียน ซึ่งในปี 2568 ตั้งเป้าจะให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,800 โรงเรียน และให้ครบ 29,000 กว่าโรงเรียน รวมถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาอีกกว่า 400 แห่ง ในยุคที่ตนยังเป็น รมว.ศึกษาธิการ ตั้งใจจะเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา เพิ่มทักษะครู ร่วมมือทางวิชาการเพิ่มมากขึ้น จะเห็นว่าเมื่อเราทำงานร่วมกันทุกวินาทีคือการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า จากผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันที่จัดโดย IMD (International Institute for Management Development) จะพบว่า ในปี 2024 ประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขันในภาพรวมอยู่อันดับที่ 25 จาก 67 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้น 5 อันดับ ขณะที่อันดับด้านการศึกษา อยู่ในอันดับที่ 54 จากทั้งหมด 67 ประเทศ คงที่จากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การยกระดับการศึกษา ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน
“ศธ.มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย เพื่อคนไทยมีความรู้ ทักษะ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนาการศึกษาของ ศธ. ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” คือ การมีความสุขในการเรียน การทำงาน และให้เด็ก เยาวชน มีความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime จึงอยากให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาการศึกษา ทำให้เด็กฉลาดรู้ในสิ่งที่ควรรู้ และสิ่งควรทำ รู้ในสิ่งที่ยังไม่ได้รู้ และฉลาดคิด มีเหตุมีผลในการใช้ชีวิต อะไรไม่เกิดประโยชน์ก็อย่าไปทำ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนจะเห็นถึงความตั้งใจของศธ. เพราะศธ.ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมออกแบบระบบการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังของการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากคนไทยฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ประเทศจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับบริบทแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และต้องสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ทำให้การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติเป็นสิ่งที่จำเป็น สกศ.วิเคราะห์แล้วพบว่า ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (IMD) เป็นดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และปรากฏเป็นตัวชี้วัดในยุทธศาสตร์ และแผนของประเทศไทยจำนวนมาก โดยการจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ เพื่อรับฟัง และแลกเปลี่ยนแนวคิด ความต้องการของภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างเต็มสมรรถนะ
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินการขับเคลื่อนการศึกษาตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ คือ ยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนที่ให้เน้นการคิดวิเคราะห์ ส่วนการจัดการเรียนการสอนของครู ให้เน้นการสอนตามมาตรฐานของ PISA นอกจากนี้จะไม่มีการตัดเสื้อโหลอีกต่อไป ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เพื่อให้ได้บุคคลที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่ พร้อมกับลดภาระครู โดยมีกระบวนการพิจารณาวิทยฐานะให้สอดคล้องกับวิชาชีพครู
ส่วน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการฯ กอศ. กล่าวว่าสอศ.มีการปรับหลักสูตร ลดทฤษฎี เน้นลงมือทำ เพิ่มทักษะการปฏิบัติงานมากขึ้น โดยเริ่มพัฒนาครูเป็นอันดับแรก ปรับหลักสูตร นอกจากนี้ จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบทวิภาคี จัดการศึกษาร่วมกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หรือในรูปแบบที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เน้นย้ำ คือ จัดการศึกษาในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) พร้อมกับเปิดเวทีให้เด็กอาชีวะแสดงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ต่อไป สอศ.จะพัฒนาเด็กให้มี 3 ทักษะ คือ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะการใช้ชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป
ขณะที่ภาคเอกชน สะท้อนว่า ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีความสัมพันธ์กัน เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เราต้องการคนที่มีสกิลที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่การเรียนรู้แบบ STEM คือ การบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี,วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรม ยังต้องการแรงงานทักษะสูง เช่น ทักษะด้าน AI, การต่างประเทศ ดังนั้น อาจจะต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อการตอบโจทย์ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี