หลักในการรับฟังพยานหลักฐานทั้งในคดีแพ่งและในคดีอาญานั้น จะมีหลักการในการรับฟังแตกต่างกันอยู่พอสมควรเช่น ในคดีอาญาการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยต้องมีระดับการรับฟังที่พยานหลักฐานของโจทก์หรือผู้กล่าวหาต้อง มั่นคง ชัดแจ้ง น่าเชื่อถือ และปราศจากข้อสงสัย โดยเฉพาะคดีอาชญากรรม ซึ่งมีโทษสูงนั้นมีความซับซ้อนในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นอย่างมาก
ในคดีความผิดร้ายแรงแก่ชีวิตมีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวกับ ตัวการ จ้าง วาน ใช้ ตัวการ ร่วมกันกระทำความผิด ซึ่งมีทั้งกรณีที่ศาลฟังพยานหลักฐานและลงโทษจำเลยที่เป็นผู้จ้างวานใช้ และรวมถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องตัวการ จ้าง วาน ใช้ ตัวการ รวมถึงผู้ร่วมกระทำความผิด
ในตอนนี้ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างกรณีที่ศาลรับฟังพยานหลักฐานแวดล้อมและมีคำพิพากษาลงโทษผู้ร่วมกระทำความผิดที่อยู่ในเหตุการณ์แม้ไม่ได้ลงมือกระทำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557 ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ ข้ามเรือโดยสารไปท่าเรือ ขณะเรือเทียบท่าเรือ กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่า วันนี้เปิดเทอมวันแรกกลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำ ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้วจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วน ร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย
ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจคือกรณีที่มีผู้กระทำความผิดหลายคนอยู่ในสถานที่เดียวกันการที่จะรับฟังว่า ผู้กระทำความผิดบางคนที่ไม่ได้ลงมือนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นความบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตหรือไม่นั้น นอกจากพิจารณาจากการกระทำแล้วจะพิจารณาจากรายละเอียดสภาพแวดล้อมด้วย โดยศาลมีความเห็นว่าแม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย ซึ่งในคดีนี้ดังกล่าว ศาลรับฟังและลงโทษ จำเลยที่มิได้ออกแรงลงมือทำร้าย โดยศาลฟังว่าผู้จัดการประกอบนั้น มีลักษณะเป็นการร่วมการกระทำความผิด
ในบทความตอนต่อไปผู้เขียนคงได้ยกตัวอย่างกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องมาเป็นกรณีศึกษาบ้าง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี