ลุ่มน้ำสงคราม สาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ 12,700 ตร.กม. หรือ7.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 28 อำเภอ ของ5 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม โดยมีแม่น้ำสงคราม เป็นลำน้ำหลัก มีความยาว 465 กม. ประกอบด้วยลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ น้ำอูน น้ำยาม ห้วยโนด ห้วยชาง ห้วยสามยอด ห้วยคองห้วยฮี้ และน้ำเมา ในช่วงฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ฝนตกชุกมีปริมาณฝนตกทั้งปีเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นที่ตามแนวสองฝั่งแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขาเป็นที่ราบมีการทำการเกษตรกว้างขวาง และเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรในพื้นที่ พอถึงฤดูน้ำหลากหรือช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำสงคราม สองฝั่งของแม่น้ำสงครามจะถูกน้ำท่วมทุกปี ในขณะที่ลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยให้สามารถสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำได้ ประชาชนจึงต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำสงครามเพียงอย่างเดียว หากระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำสงครามมวลน้ำจากแม่น้ำสงครามจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว เหลือน้ำในลำน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งการเกษตร อุปโภค-บริโภค ฯลฯ ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินราษฎรเรื่อยมา
การแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำสงครามนั้น เมื่อปี 2533 กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวางโครงการเบื้องต้น โดยมีแนวความคิดที่จะใช้พื้นที่น้ำท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ในฤดูแล้ง และสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำเพื่อบรรเทาน้ำท่วม และสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากแม่น้ำ แต่ขาดงบประมาณ จึงไม่ได้ดำเนินงาน
ต่อมามีหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมการสร้างประตูระบายน้ำกลางแม่น้ำสงคราม ในส่วนของกรมชลฯได้ดำเนินการศึกษาวางโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม
นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การศึกษาวางโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำเพื่อให้ประตูระบายน้ำทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำเข้า-ออกสู่แม่น้ำโขง บรรเทาภัยน้ำท่วม พร้อมเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ในลำน้ำ สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยได้ศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 ครม.ได้เห็นชอบให้กรมชลฯ ดำเนินโครงการปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี และมีการขยายออกไป 3 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โครงการปตร.บ้านก่อ สร้างปิดกั้นลำน้ำยามซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำสงคราม ตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำสงคราม 52 กม. มีหัวงานตั้งอยู่ที่บ้านก่อ ต.หนองสนมอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เป็นประตูระบายน้ำแบบบานระบายตรง ขนาดช่องกว้าง 8 เมตรสูง 8.3 เมตร จำนวน 4 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที สามารถกักเก็บน้ำได้ 3 ล้านลบ.ม. และพนังกั้นน้ำความยาว 2.4 กม. ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
“ในช่่วงฤดูฝนที่ผ่านมาได้ทำการเปิดใช้งาน ปตร.บ้านก่อ โดยใช้เป็นเคร่ื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับโครงการชลประทานสกลนคร สามารถช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำได้เร็ว บรรเทาปัญหาอุทกภัยให้อ.วานรนิวาส และอ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ได้เป็นอย่างดี และในฤดูแล้งนี้ได้เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภค-บริโภค ให้ราษฎรทั้ง 2 อำเภอมากกว่า 1,000 ครัวเรือน รวมทั้งยังได้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศอีกด้วย” นายสุนทร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โครงการปตร.บ้านก่อ ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ ยังเหลือระบบส่งน้ำและอาคารประกอบทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยในฝั่งซ้ายระบบส่งน้ำมีความยาว 30 กม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บ้านหนองวัวแดง ต.ป่าอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และฝั่งขวา ระบบส่งน้ำยาว 30 กม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่เช่นกัน ครอบคลุมพื้นที่บ้านก่อ ต.หนองสนม อ.วานรนิวาสจ.สกลนคร คาดว่าระบบส่งน้ำและอาคารประกอบจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2570
เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรจำนวน 1,067 ครัวเรือน เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่ บรรเทาอุทกภัยให้ 2 อำเภอ ในจ.สกลนคร แล้ว ราษฎรยังจะมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นทำปศุสัตว์ทำประมงพื้นบ้าน หรือปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น มันฝรั่ง อ้อย และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และเมื่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงครามแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามกลายเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” แห่งภาคอีสานตอนบนอย่างแน่นอน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี