“ทวี”เผยขั้นตอนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมรับตัว“โกทร" และพวกเข้าคุมขัง อาจขอรับสนับสนุนกำลังตำรวจท้องที่ และหนุมานกองปราบฯคุมหัว-ท้ายขบวน แย้ม“โกทร”สูงวัย 85 ปี พ่วงป่วยโรคประจำตัว “ผบ.เรือนจำฯ“ สามารถพิจารณาอนุมัติส่งออกรักษาตัวนอกเรือนจำฯ เหมือนกรณี ”ทักษิณ” แต่ต้องมีหมอยืนยันการเจ็บป่วยจริง
จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 67 กรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนายสุนทร วิลาวัลย์ หรือ โกทร อายุ 85 ปี กับพวกรวม 7 ราย เข้าคุมขังระหว่างพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดนครนายก เนื่องด้วยศาลยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวในข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ ตรองไว้ก่อน ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเหตุ การณ์การเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนของนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง เมื่อคืนวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา
วันที่ 21 ธ.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีหากตำรวจกองปราบฯ ยื่นขอศาลย้ายอำนาจสำนวนสอบสวนจาก สภ. เมืองปราจีนบุรี มายัง "บช.ก."ว่า สำหรับการย้ายตัวนายสุนทร และพวกนั้น ปกติจำเลยหรือผู้ต้องหา หากศาลยังไม่ตัดสินถือเป็นผู้ต้องหาจะอยู่กับเขตอำนาจพนักงานสอบสวน แต่ถ้าเป็นคดีของกองบังคับการปราบปราม ซึ่งเขตอำนาจของกองปราบฯ มีทั่วประเทศ กองปราบฯ อาจใช้เรือนจำจังหวัดนครนายกก็ได้ แต่ต้องดูว่ากองใดของกองปราบฯ จะเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการโอนสำนวนมาที่กรุงเทพฯ แต่ว่าด้วยความที่อำนาจของกองปราบฯมีทั่วประเทศ ก็อาจจะไม่โอนมาก็ได้ ทั้งนี้ ต้องไปสอบถามทางกองปราบฯ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า การขอโอนย้ายตัวผู้ต้องหาจากพื้นที่หนึ่งไปคุมขังยังอีกพื้นที่หนึ่งนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องส่งเอกสารทำเรื่องการขอย้ายตัวผู้ต้องหากับศาลจังหวัดนครนายก แล้วศาลจึงจะมีคำสั่งโอนย้ายตัวผู้ต้องหาจะต้องย้ายทั้งหมด เพราะอยู่ในสำนวนเดียวกัน ส่วนเงื่อนไขการเยี่ยมญาติ ราชทัณฑ์มีมาตรฐานเดียว กัน เพราะเรือนจำไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ดังนั้น การเยี่ยมญาติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี เราก็อยากให้มีการเยี่ยมญาติมากขึ้น เพราะผู้ต้องหายังมีความจำเป็นต้องต่อสู้คดี จึงต้องมีการพบทนายความและได้พบบุคคลที่สามารถให้ข้อมูลได้ ซึ่งตนได้ให้นโยบายแก่เรือนจำทั่วประเทศ ไม่ได้หมายความเพียงแค่คดีนี้เท่านั้น ว่าหากเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ควรเปิดโอกาสให้เยี่ยมญาติมากขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาในการต่อสู้คดี และการเดินทางไปศาล ตนมองว่าผู้ต้องขังคดีระหว่างพิจารณา ไม่ควรที่จะต้องสวมใส่เสื้อชุดสีลูกวัว หากสามารถแต่งกายธรรมดาได้ ก็ควรได้แต่ง แต่ทราบว่าขณะนี้มีหลายเรือนจำได้เริ่มนำร่องไปแล้ว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่นายสุนทร เป็นบุคคลสูงอายุ 85 ปี และมีโรคประจำตัว การพิจารณาให้ได้รับการพบแพทย์ กระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไรนั้น หากมีอาการเจ็บป่วยตามระเบียบแล้วก็สมควรได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว แต่ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำที่จะพิจารณาส่งตัวให้ได้รับการรักษาพยาบาล แต่การไปรักษาพยาบาล ด้วยความเป็นพื้นที่ควบคุมก็ต้องมีการอายัดตัวกับตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำฯ ก็ต้องไปควบคุมด้วย เหมือนคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้ การจะส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำจะต้องเป็นคนที่อนุมัติออก แต่หมอต้องรับว่าป่วยจริงหรือไม่ หากป่วยไม่จริงก็ต้องส่งตัวกลับ
“สำหรับการพักการลงโทษ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีของนายโกทรและพวก เพราะการพักโทษต้องเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดเท่านั้น ต้องมีคำพิพากษาศาลตัดสินเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรณีของการเจ็บป่วย เราสามารถส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาตัวภายนอกเรือนจำได้ จะเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในแม่ข่าย อย่างเช่นโรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ถ้าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สามารถรองรับได้ ก็ให้โรงบาลราชทัณฑ์รับดำเนินการดูแลเรื่องการพยาบาล“ พ.ต.อ.ทวี ระบุ
เมื่อถามว่าพยาบาลราชทัณฑ์อนุมัติให้ไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำเหมือนเคสในอดีตใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พยาบาลเป็นผู้แจ้งแก่ ผบ.เรือนจำฯ แต่เป็นอำนาจของ ผบ.เรือนจำฯ ในการพิจารณา แต่ถ้าพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรม ถ้าเกินศักยภาพของหน่วยพยาบาลเรือนจำนั้นๆ ก็จะแจ้งไปที่ผู้บัญชาการเรือนจำที่จะเป็นผู้อนุมัติให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ
เมื่อถามว่าส่วนกรณีหากมีการโอนย้ายสำนวนมายังส่วนกลาง ผู้ต้องหาก็จะถูกย้ายการคุมขังมาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า คดีระหว่างในกรุงเทพฯ เราใช้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนกระบวนการคุ้มครองความปลอด ภัยระหว่างเคลื่อนย้ายตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำไปอีกเรือนจำ จะต้องขอกำลังสนับสนุนจากหนุมานกองปราบ มาควบคุมหัว-ท้ายขบวนหรือไม่นั้น เรียนว่าตอนย้ายคงต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เรามีคนนำมาอยู่แล้ว แต่เราก็อาจจะให้ตำรวจได้ช่วย เพราะปกติตำรวจท้องที่ก็มาช่วย เพราะจริงๆ แล้วราชทัณฑ์เองเราก็สามารถแต่งตั้งตำรวจหรือทหารมาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานได้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงกรณีการจำแนกแยกลักษณะผู้ต้องขัง หากนายสุนทรและพวก ถูกย้ายตัวมาคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ราชทัณฑ์จะต้องเฝ้าระวังกลุ่มของผู้ที่เสียประโยชน์จากบ้านใหญ่เครือข่ายโกทร หรือไม่นั้น ตนขออธิบายว่า ทางเรือนจำจะต้องเป็นคนดูไม่ให้คู่ขัดแย้งได้อยู่ด้วยกัน เพราะผู้คุมเรือนจำต้องดูไม่ให้เกิดเหตุการณ์ และในเรือนจำฯ ผู้ที่มีเหตุการณ์แบบนี้ก็สามารถฟ้องญาติได้ บอกทนายได้
ต่อข้อถามว่ากรณีของนายโกทรและพวก หากถูกย้ายมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะได้คุมขังภายในแดนเดียวกันหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี แจงว่า ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับ ผบ.เรือนจำฯ หากจะอยู่รวมกันก็ได้ แต่ไม่ควรอยู่กับฝ่ายตรงข้ามหรือขัดแย้งกัน ส่วนกรณึที่นายสันธนะ ประยูรรัตน์ อยากเข้าไปเยี่ยมนายโกทร และอยากขอให้นายโกทรมาแถลงข่าวนั้น สามารถเข้าเยี่ยมได้ แต่ต้องเป็น 1 ใน 10 ชื่อที่นายโกทรได้ระบุไว้ และเจ้าตัวก็ต้องอนุญาตการให้เข้าเยี่ยมด้วย
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ณ ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานการประสานมาว่าจะมีการย้ายนายโกทร และพวก จากเรือนจำจังหวัดนครนายก มาคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานคร ในวันเวลาใด เพราะต้องรอกระบวนการของพนักงานสอบสวน และศาลก่อน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ 8 แดนภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ประกอบด้วย แดน 1 หรือแดนแรกรับ สำหรับนักโทษสูงอายุ ป่วย พิการ แดน 2 หรือแดนกักโรค สำหรับนักโทษใหม่ทุกคนที่เพิ่งเข้าเรือนจำ แดน 3 แดนเด็ดขาด สำหรับนักโทษที่ถูกตัดสินโทษไม่เกิน 15 ปี แดน 4 สำหรับนักโทษที่ต้องเฝ้าดู อยู่ระหว่างตัดสินว่าจะพิจารณาส่งไปยังแดนใด แดน 5 หรือแดนเด็ดขาด สำหรับนักโทษที่มีอัตราโทษไม่เกิน 15 ปีมีห้องแยกคุมขังเดี่ยว แดน 6 หรือแดนฝึกวินัย สำหรับนักโทษที่มีพฤติกรรมเกเรที่จะต้องถูกนำมาฝึก แดน 7 หรือแดนพยาบาล และแดน 8 หรือแดนหลากหลายสำหรับนักโทษที่ศาลยังไม่ตัดสินโทษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี