“รมว.นฤมล”นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบร่างมาตรฐาน“ปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง-การเพาะเลี้ยงผำ” พร้อมกำหนดปริมาณสารพิษตกค้าง และจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร“พืช”
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2567 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1.ยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... เนื่องจาก กษ. มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวม และโรงคัดบรรจุเป็นมาตรฐานบังคับ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา 2.กำหนดอัตรา ค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานทั่วไป (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน มกษ. 9055-2562 (GAP เกลือทะเล) 3.กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานบังคับ มกษ. 6413-2564 (ปางช้าง) และ มกษ. 9070-2566 (ตรวจและรับผลทุเรียน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง 2.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหาร 3.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหารสัตว์ 4.สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (ทบทวน) 5.สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (ทบทวน) และ 6.การจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร เล่ม 1 : พืช (ทบทวน)
ด้าน นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง คือ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง ซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีปลอดการเผาสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง ตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูกจนถึงหลังการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้าวโพดเมล็ดแห้งที่มีคุณภาพปลอดภัยสำหรับใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป รวมถึงสุขภาพความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งลดปัญหาฝุ่น PM2.5 สำหรับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน
2.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหาร และ3.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มผำเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้ง 2 ฉบับนี้ ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มผำ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสถานที่ตั้งฟาร์ม การเตรียมบ่อเพาะเลี้ยง น้ำที่ใช้ในฟาร์ม สุขลักษณะภายในฟาร์ม การจัดการการเพาะเลี้ยง ปุ๋ยและธาตุอาหารเสริม น้ำทิ้งและดินเลน การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาและการปฏิบัติก่อนการขนส่ง ผู้ปฏิบัติงาน และการบันทึกข้อมูลและเอกสารหลักฐานเพื่อการตามสอบ เพื่อให้ได้ผำที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค หรือนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์แล้วแต่กรณี
4.สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกษ. 9002-2559) (ทบทวน) และ5.สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (มกษ. 9003-2547) (ทบทวน) เนื่องจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอาจทำให้สินค้าเกษตรมีปัญหาสารพิษตกค้าง จึงจำเป็นต้องกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภคในประเทศ การนำเข้า รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ผลิตผลอาจจะมีการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างบางชนิดจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการปนเปื้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (EMRL) ด้วย ดังนั้น เพื่อให้มาตรฐานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อกำหนดระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งครอบคลุมรายการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงเห็นควรให้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว
และ 6.การจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร เล่ม 1 : พืช (ทบทวน) กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การจัดกลุ่มสินค้าเกษตร : พืช (มกษ. 9045-2559) และเนื่องจากมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex) ที่ใช้เป็นเอกสารอ้างอิง มีการปรับปรุงใหม่โดยเพิ่มกลุ่มสินค้าและรายการสินค้าในแต่ละกลุ่ม รวมทั้งจำเป็นต้องเพิ่มเติมสินค้าพืชของไทยในบางกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงเห็นสมควรทบทวนมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการวิชาการเกษตร เห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานการจัดหมวดหมู่สินค้าเกษตร ในรูปแบบชุดอนุกรมมาตรฐาน โดยเริ่มกำหนดที่เล่ม 1: พืช เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ร่วมกับ มกษ. 9002 และ มกษ. 9003
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี