กทม.เผยเขตชานเมืองขยายตัว คนเพิ่ม-ขยะเพิ่ม ปรับแผนจัดเก็บแก้ปัญหาขยะตกค้าง/ตรวจ GPS ใน google map คุมรถวิ่ง 1,800 เส้นทางเก็บสัปดาห์ละ 2 วัน
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการแก้ปัญหาขาดรถขยะและปัญหาขยะตกค้างในบางเขตว่า การเก็บขนมูลฝอยจากอาคารบ้านเรือนเป็นภารกิจสำคัญที่กรุงเทพมหานคร ต้องจัดระบบรองรับการดำเนินการจัดเก็บให้ต่อเนื่องเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมจัดหารถเก็บขนมูลฝอย เครื่องมืออุปกรณ์แจกจ่ายสำนักงานเขตให้เหมาะสมกับปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้นในแต่ละเขต และสำนักงานเขตจัดทำแผนการจัดเก็บขยะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจัดรถเก็บขนขนาด 2 ตัน และ 5 ตัน ประจำทุกเส้นทางรวม 1,800 เส้นทาง
ทั้งนี้ ปริมาณมูลฝอยในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลสถิติมีปริมาณมูลฝอยสูงสุดเมื่อปี 2561 เฉลี่ย 10,706 ตัน/วันหลังจากนั้นปริมาณมูลฝอยลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2565 เฉลี่ย 8,979 ตัน/วัน, ปี 2566 เฉลี่ย 8,779 ตัน/วัน และ ในปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ในครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 8,960 ตัน/วัน
ปัจจุบันรถเก็บขนที่มีอยู่เพียงพอกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น แต่พบว่ามีปัญหาขาดแคลนกำลังคนในบางเขตโดยเฉพาะเขตชั้นนอกฝั่งตะวันออกที่มีการขยายตัวสูง มีการขยายตัวของอาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัย ประชากรเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กำลังคนไม่ได้เพิ่มตาม ประกอบกับหลายสำนักงานเขตมีผู้สนใจเข้ามาสมัครทำงานเก็บขยะลดลง ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตที่มีการขยายตัวย่านชานเมืองที่มีการประชากรสูง
กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาขยะตกค้าง ดังนี้ 1.กำหนดให้สำนักงานเขตจัดทำแผนเข้าพื้นที่จัดเก็บขยะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยแต่ละพื้นที่เข้าจัดเก็บได้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ 2.จัดทำแผนเดินรถเก็บขยะในแผนที่ google map เพื่อให้ทราบแผนการจัดเก็บขยะของรถเก็บขยะทุกคัน และสามารถตรวจสอบการเข้าจัดเก็บว่าตรงตามแผนหรือไม่จากระบบควบคุมการใช้รถเก็บขยะ (GPS) ซึ่งดำเนินการแล้วทั้ง 1,800 เส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต 3.ส่งเสริมคัดแยกขยะตามหลัก องค์กรปลอดขยะ (BKK zero waste) ในชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ ตลาด ร้านอาหารสถานพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ อาคารสำนักงาน ระหว่างปี 2565-2568 รวม 22,000 แห่ง มีองค์กรรายงานการคัดแยกขยะเศษอาหาร 4,399 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 73,065 ตัน หรือเฉลี่ย 239 ตัน/วัน ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บลดลง ลดปัญหาขยะตกค้างได้ส่วนหนึ่ง 4.ส่งเสริมให้หมู่บ้านจัดสรรตั้งจุดพักขยะเพื่อให้พนักงานเก็บมูลฝอยเก็บมูลฝอยได้ง่ายขึ้นรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เป้าหมาย 300 หมู่บ้านมีจุดพักขยะของหมู่บ้านในปี 2568
5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการชักลากมูลฝอยจากชุมชนไปยังจุดพักมูลฝอย เพื่อรอการจัดเก็บที่รถเก็บขนมูลฝอยสามารถเข้าถึงได้ 6.ปรับปรุงจำนวนรถแต่ละเขตให้เหมาะสมกับประมาณขยะที่ต้องจัดเก็บ ซึ่งบางเขตมีรถมากเกินปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บ โดยปรับไปให้เขตที่รถไม่เพียงพอ พร้อมตัดอัตรากำลังพนักงานขับรถและพนักงานเก็บขยะที่เกษียณอายุราชการจากเขตที่อัตรากำลังเกินไปยังเขตที่ขาดแคลนบุคลากร7.สำนักสิ่งแวดล้อมปรับแผนการสนับสนุนเขตเก็บขยะ โดยส่งมอบงานให้เขตซึ่งมีรถ คนเพียงพอในการจัดเก็บขยะที่มีอยู่รวมกับปริมาณขยะที่สำนักนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บ และนำรถ คนไปจัดเก็บขยะในพื้นที่ขาดแคลนบุคลากร 8.สำนักสิ่งแวดล้อมเตรียมถ่ายโอนภารกิจด้านเก็บขนมูลฝอยพร้อมบุคลากรและยานพาหนะให้สำนักงานเขตที่รับถ่ายโอนปริมาณงาน และสำนักงานเขตที่มีปริมาณเนื้องานไม่สอดรับกับบุคลากรและนำบุคลากรที่มีอยู่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่เขตที่มีปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังแทน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี