‘โฆษกดีเอสไอ’ระบุตัวแทน‘ดิไอคอน’รุดถอนแจ้งความต่ออัยการสูงสุด ไม่มีผลต่อคดี เหตุเป็น‘คดีอาญาแผ่นดิน’ และดีเอสไอดำเนินคดีส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนบุคคล
จากกรณีวานนี้ (24 ธ.ค.67) ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ส่วนหนึ่ง ได้นำรายงานการแจ้งความเข้ามอบให้สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่ามีความประสงค์ถอนแจ้งความ พร้อมขอให้อัยการสูงสุดดำเนินการให้พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนพิเศษ บันทึกสอบปากคำพยานทุกฝ่ายที่เคยให้การไว้ใหม่ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ผู้รับผิดชอบคดีนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้า ดิไอคอน แห่ถอนเเจ้งความบอส ชี้สาเหตุเป็นความเข้าใจผิด)
วันนี้ (25 ธ.ค.67) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สำหรับคดีอาญามี 2 ประเภท คือ
1.คดีอาญาที่ยอมความได้ หรือคดีความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดียักยอก ฉ้อโกงธรรมดา เป็นต้น ซึ่งถ้าหากผู้เสียหายมีการถอนคำร้องทุกข์ คดีอาญาจะระงับ
2.คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน หรือคดีที่ยอมความไม่ได้ คดีประเภทนี้ถึงแม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ ก็ไม่มีผลให้คดีอาญาระงับลง เช่น คดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า แชร์ลูกโซ่ เป็นต้น
“ดังนั้นการพิจารณาต่างๆ เมื่อดีเอสไอได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องของผลของรูปคดีจะไม่ได้ทำให้คดีอาญาระงับลง” พ.ต.ต.วรณัน กล่าว
ส่วนกรณีที่บุคคลเคยแจ้งความไว้และภายหลังมากลับคำขอถอนการแจ้งความนั้น พ.ต.ต.วรณัน ชี้แจงว่า การที่บุคคลใดไปให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวน คือ การให้คำต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และกฎหมายระบุไว้ว่ามันคือการให้คำให้การโดยสมัครใจ ดังนั้น การจะเปลี่ยนคำให้การ หรือเปลี่ยนสาระสำคัญของคำให้การ ผู้ร้องทุกข์ก็จะต้องอธิบายความเช่นเดียวกันว่าเกิดจากสาเหตุใด ทำไมจึงประสงค์ขอถอนแจ้งความ ซึ่งต้องอธิบายกับพนักงานอัยการด้วย เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ในคำให้การอยู่แล้วว่า “การให้คำให้การที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมีโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172”
พ.ต.ต.วรณัน อธิบายด้วยว่า ความเสียหายกับความผิดทางอาญามันแยกกัน หมายความว่า หากคุณเป็นผู้เสียหายแล้วคุณไม่ประสงค์จะรับการชดใช้ความเสียหาย กฎหมายก็ไม่ได้คัดค้านอะไร ไม่ประสงค์ดำเนินคดีก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่คุณให้ไว้ก็ต้องเป็นหลักฐานในคดีอยู่ดี ทั้งนี้ หากยังยืนยันความประสงค์ถอนแจ้งความต่อพนักงานอัยการ ดังนั้น ในการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เพื่อรับการชดใช้เฉลี่ยทรัพย์สินคืน ก็จะถูกตัดไปด้วย เพราะคุณไม่ประสงค์รับความเสียหาย
พ.ต.ต.วรณัน ย้ำว่า ดังนั้นกรณีที่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าดิไอคอนฯ ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอถอนแจ้งความนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีผลในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย และ 1 นิติบุคคล เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ไม่ใช่คดีอาญาส่วนบุคคล ซึ่งถ้าหากถอนแจ้งความแล้วจะไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้กับพนักงานอัยการคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอัยการว่าจะมีคำสั่งทางคดีว่า “ฟ้อง”หรือ “ไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาหรือไม่ อย่างไร ภายในระยะเวลาฝากขังระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม 2568
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี