เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 44/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ฯทุกรุ่น จำนวน 245 เขต ขณะนี้ ลงทะเบียนทั้งหมด 164,065 คน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทั้งหมด 445,624 คน และรายงานความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ดำเนินการครบทั้ง 100% แล้ว เช่น สพม.พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และ สพป.เชียงใหม่ เขต 4 เป็นต้น นอกจากนี้ ได้รายงานการติดตามการใช้ชุดการพัฒนาความฉลาดรู้ใน 178 เขตพื้นที่ฯ พบว่า ยังมีโรงเรียนบางแห่งนำไปใช้เป็นกิจกรรมเสริม กำหนดให้ สพท.ติดตามรายงานผลออนไซต์และออนไลน์ เป็นรายสัปดาห์ ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2567 นี้ ได้มีการจัดการแข่งขัน PISA Gamification (PISA เกมมิฟิเคชัน) ในระดับเขตพื้นที่ฯ และเตรียมจัดแข่งขันระดับภูมิภาค ในวันที่ 17 มกราคม 2568
"ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับความร่วมมือจากทีมงานของพวกเราในการดำเนินการ ซึ่งจากผลที่ไปติดตามก็ได้รับข้อมูลหลายๆ อย่างที่มีประโยชน์มากที่จะนำมาพัฒนาในการดำเนินการต่อไป" รมว.ศธ.กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รายงานการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ในการนำเอกสารเล่ม 3 และแบบฝึกในเอกสารเล่ม 4 ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 และกานจัดทำแผนการขยายผลการอบรมและพัฒนาครูสร้างข้อสอบตามแนว PISA รูปแบบออนไลน์
"ผมได้เน้นให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา โดยเป้าหมาย ต้องไม่มีเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของนักเรียน ชั้น ม.3 พร้อมได้กระตุ้นให้กำลังใจการขับเคลื่อนของพื้นที่อย่างเข้มข้น และจะติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไป"
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า ตนได้แจ้งในที่ประชุมว่าอยากให้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.เป็นหน่วยหลักในการจัดสอบ O-NET นักเรียนชั้น ม.3 จึงอยากให้จูงใจเด็กที่จะจบ ม.3 มาสอบให้ครบ 100% เพื่อจะได้ทดสอบกระบวนการของเราว่าเด็กมีความพร้อมในการสอบ PISA ทุกคน เพราะเราจะไม่สุ่มให้เด็กสอบ แต่จะให้เด็กทดสอบให้ได้มากที่สุดโดยไม่บังคับ แต่จะใช้วิธีจูงใจ โน้มน้าว เพื่อดูมาตรฐานการศึกษา เพราะถ้าผลสอบของ สทศ.ออกมา เราก็จะรู้ว่าเด็กของเราคุณภาพเป็นอย่างไร จะได้มาปรับขบวนการสอน และน้องๆที่ผ่านการทดสอบของ สทศ.แล้ว เราก็จะมีการติดตามไปเพิ่มคุณภาพให้น้องๆเพื่อให้มีมาตรฐานที่ดีที่จะเติบโตต่อไปในการทำงาน
รมว.ศธ.กล่าวว่า สำหรับโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา "เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา และเด็กตกหล่น" ซึ่งสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (Thailand Zero Dropout) พบข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (ระหว่างวันที่ 16 - 23 ธ.ค.67) ภาพรวมเพิ่มขึ้นจากเดิม จำนวน 21,756 คน แยกเป็น เด็กสัญชาติไทย จำนวน 17,705 คน เด็กต่างชาติ จำนวน 4,051 คน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานผลการนำนักเรียนตกหล่น กลับเข้าสู่ระบบมากที่สุด ได้แก่ สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 1, สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1, สพป.สงขลา เขต 3, สพป.บุรีรัมย์ เขต 2, สพป.นครพนม เขต 2 และ สพป.นนทบุรี เขต 2 และรายงานผลการนำนักเรียนออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบมากที่สุด ได้แก่ สพม.บุรีรัมย์, สพม.นครราชสีมา, สพม.นครพนม และ สพป.ชลบุรี เขต 3
"ทั้งนี้ ก็ขอให้สำรวจให้ครบถ้วนว่าที่เด็กหลุดจากระบบไปอยู่ที่ไหน อย่างไร หรือไม่เข้ามาในระบบมีสาเหตุจากอะไร มีปัจจัยอะไรบ้าง ถ้ามาเรียนไม่ได้เราก็จะนำการศึกษาไปให้น้องๆ" รมว.ศธ.กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี