กว่า 40 ปี ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่ 8,500 ไร่ ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมให้คืนสู่ความสมบูรณ์ พร้อมจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ทำหน้าที่ศึกษาทดลองและจัดทำแปลงสาธิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง
ปัจจุบันประสบความสำเร็จพร้อมขยายเครือข่ายการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สนับสนุนและประสานงาน ภายใต้แนวทาง “ต้นทางคือป่าไม้ ปลายทางคือประมง ระหว่างทางคือเกษตรกรรม” มีหลักสูตรฝึกอบรมที่โดดเด่น 32 หลักสูตร ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ดิน น้ำ ป่าไม้ พืช และประมง ในปี 2567 มีจำนวนผู้เข้าอบรมกว่า 662 คน และศึกษาดูงานกว่า 16,744 คน และยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ 23 แห่ง มีเกษตรกรขยายผลที่ประสบความสำเร็จ 192 ราย
นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการกปร. เปิดเผยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 80 แห่ง ซึ่งผ่านเกณฑ์ประเมินกระจายอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย ประชาชนและเกษตรกร 43 แห่ง สถานศึกษา 25 แห่ง องค์กรภาครัฐ 7 แห่ง ศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส 2 แห่ง ชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 2 แห่ง และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน 1 แห่ง เช่น ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสาน ของนายสุริยะ วงศ์คำ ราษฎรหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ รูปแบบเกษตรผสมผสาน ตามบริบทและความเหมาะสมของพื้นที่ มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ มีการเลี้ยงไก่ไข่ไก่ประดู่หางดำ กบนา ปลานิล ปลาดุก ผลิตอาหารสัตว์ เมล็ดพันธุ์ผัก ก้อนเชื้อเห็ด ปัจจุบันมีรายได้หลังจากหักต้นทุนแล้วเฉลี่ยในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2566 ที่ 113,800 บาทต่อปี
“เริ่มต้นจากพื้นที่ 9 ไร่ เลี้ยงสัตว์ปลูกพืชให้ผล เช่น มะพร้าว กล้วย ฝรั่ง ผักเชียงดา ส่งขายตลาดในชุมชนมีรายได้ประจําวันเป็นพืชผัก รายสัปดาห์เป็นมะพร้าว กล้วย ส่วนรายได้รายปีเป็น ปลา ข้าว โดยจะวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการถ่ายทอดให้ผู้สนใจโดยเน้นทำกินแบบลงทุนตามกำลังที่มีขอขอบคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานพระราชดําริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ แห่งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้ นำมาสร้างอาชีพทำให้มีกินมีใช้ มีเก็บ สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข” นายสุริยะ วงศ์คำ กล่าว
ส่วนศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสาน ของนายบุญฤทธิ์ ไชยยอง หมู่ที่ 11 ตำบลหนองยวง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน มีกิจกรรมเพื่อการศึกษาดูงานหลากหลาย เช่น การเลี้ยงปลาดุกการแปรรูปสัตว์น้ำ ปลูกและแปรรูปผักเชียงดา มีรายได้หลังจากหักต้นทุนแล้วเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ.2564 - 2566) 116,667 บาทต่อปี ที่ปัจจุบันมีผู้สนใจเดินทางเข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ มีบทบาทสำคัญในการขยายเครือข่าย การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับสำนักงาน กปร. ซึ่งปัจจุบันได้นำผลการศึกษา วิจัย และสาธิตทดสอบ รูปแบบการพัฒนาด้านต่างๆ นอกเหนือจากการช่วยให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับการยกระดับ
คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นแล้ว ก็ยังมีการขยายผลสู่การดำเนินงานในหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ภาคเหนือ อีกด้วย อาทิ ศูนย์เรียนรู้ประเภทหน่วยงานภาครัฐ เรือนจําชั่วคราวสังกัดเรือนจํากลางเชียงราย ในส่วนของเรือนจําชั่วคราวดอยฮาง และสถานศึกษา เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี