กรมที่ดินโต้เดือด
3ข้ออ้างการรถไฟฯ
ปมร้อนเขากระโดง
ย้ำทำถูกต้องตามก.ม.
เขากระโดงระอุ! “กรมที่ดิน” แถลงการณ์โต้ยิบ “การรถไฟฯ” ชี้คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน 35 ราย ไม่ได้เหมารวม 5,083 ไร่ ขณะที่‘แผนที่อ้างสิทธิ์การรถไฟฯ’ไม่น่าเชื่อถือ หลักฐานยัน“กรรมสิทธิ์-แนวเขตที่ดิน”ยังไม่ชัดเจน จะนำมาลิดรอนสิทธิ์ประชาชนจะกระทบความชอบธรรม ยันดำเนินการตามคำสั่งศาลถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ออกแถลงการณ์ ชี้แจ้งอีกครั้งภายหลังจากที่ การรถไฟแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง โดยไล่เรียงรายประเด็นประกอบด้วยประเด็นที่ การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ การรถไฟฯ จึงใช้ยันบุคคลภายนอกที่ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวรวมถึงกรมที่ดินด้วย การรถไฟฯ จึงไม่จำต้องไปใช้สิทธิฟ้องเป็นรายแปลงต่อศาลยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้ง 3 คดีครบถ้วนแล้ว มีรายละเอียดดังนี้
กรมที่ดินแถลงการณ์โต้รฟท.3ประเด็น
1. ประเด็นที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ จึงใช้ยันบุคคลภายนอกที่ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวรวมถึงกรมที่ดินด้วย การรถไฟฯ จึงไม่จำต้องไปใช้สิทธิฟ้องเป็นรายแปลงต่อศาลยุติธรรมแต่อย่างใด
กรมที่ดินขอชี้แจงว่าได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้ง 3 คดี ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ 1.1 การดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876 / 2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นกรณีที่ราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯ เนื่องจากโจทก์ทั้ง 35 ราย ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯ คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 35 ราย รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้ง 35 ราย มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในอันที่จะขอออกโฉนดที่ดินได้ กรมที่ดินได้แจ้งให้จ.บุรีรัมย์ยกเลิกใบไต่สวนของราษฎร 35 ราย ที่ฟ้องคดี พร้อมทั้งจำหน่าย ส.ค.1 ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินแล้ว
1.2 ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เป็นกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯ เนื่องจากโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่ง ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ให้แก้ไข รูปแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (บางส่วน) ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้ว
1.3ประเด็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นกรณีการรถไฟฯ เป็นโจทก์ฟ้องราษฎร เรื่อง ขับไล่ เพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และน.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟฯแจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมที่ดินแจ้งให้จ.บุรีรัมย์ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว (มาตรา 61 วรรคแปด)
3คำพิพากษามัดแค่35แปลงไม่รวม5พันไร่
“จากคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความในคดีคือ ที่ดิน 35 แปลง (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560) น.ส. 3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์(บางส่วน) (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561) และโฉนดที่ดินเลขที่ 2971, 5272 และ น.ส. 3 เลขที่ 206 หมู่ที่9 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ (ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่1112/2563) คำพิพากษาดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่จะดำเนินคดีใหม่กับบุคคล ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 145 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ไม่ได้วินิจฉัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ การอ้างว่าคำพิพากษานี้เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดจึงเป็นการขยายความ เกินขอบเขตของคำพิพากษา การรถไฟฯ จึงไม่สามารถนำผลของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ไปใช้กับที่ดินแปลงอื่นได้ เพราะจากการได้มาของที่ดินแต่ละแปลงแตกต่างกัน ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงต้องมีโอกาสต่อสู้ ป้องกันสิทธิของตนเอง”แถลงการณ์กรมที่ดินระบุ
ชี้หลักฐานยันกรรมสิทธิ์-แนวเขตไม่ชัด
แถลงการณ์ดังกล่าวยังชี้แจงประเด็นที่สอง กรณีการรถไฟฯกล่าวอ้างว่า ยื่นพยานหลักฐานที่แสดงถึงการได้มาซึ่งที่ดินบริเวณเขากระโดงต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ และร่วมรังวัดที่ดินบริเวณเขากระโดงแล้ว แต่กรมที่ดินยุติเรื่องโดยไม่รอผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดิน
โดยกรมที่ดินระบุว่า เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ที่ดินที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯต้องเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตแนวทางรถไฟตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากรูปแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกรมรถไฟมีหน้าที่จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตแสดงไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจดู เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจนของที่ดินของการรถไฟฯ
ดังนั้น เมื่อการรถไฟฯไม่สามารถแสดงหลักฐานการได้มา ซึ่งกรรมสิทธิ์และขอบเขตที่ชัดเจน รวมถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าการรถไฟฯเข้าหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ อีกทั้ง ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าในการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงที่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟฯได้มาระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตให้เจ้าของที่ดิน โดยมิได้หวงห้ามหรือหวงกันที่ดินของการรถไฟฯแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
สำหรับการรังวัดของคณะทำงานร่วมระหว่างการรถไฟฯ และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ ตามรูปแผนที่สังเขป ซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยไม่มีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาตามนัยดังกล่าวข้างต้น และไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิงใดๆ เพื่อประกอบการนำชี้ โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ เนื่องจากไม่มีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางกฎหมายอ้างอิงในการพิสูจน์ได้ว่าแนวเขตที่ได้นำชี้จัดทำรูปแผนที่สังเขปเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ชัดเจนเป็นที่ยุติได้ว่าแนวเขตที่ดินของ การรถไฟฯ อยู่บริเวณใด
แผนที่ฉบับการรถไฟฯไม่น่าเชื่อถือ
ส่วนประเด็นที่การรถไฟฯยืนยันว่า มีหลักฐานแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายโคราช - อุบล ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกานั้น แผนที่ที่การรถไฟฯกล่าวอ้าง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อื่นฯ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการที่พระราชบัญญัติจัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 กำหนด ซึ่งต่างกับการสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านบุ่งหวายไปบ้านโพธิ์มูล พบว่ามีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางฯ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พร้อมทั้งมีแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2470 เล่มที่ 44 หน้า 313 แผ่นที่ 95 ครบถ้วน
“จึงเชื่อได้ว่าแผนที่ที่การรถไฟฯกล่าวอ้าง ไม่ได้จัดทำให้เป็นไปตามกฎหมายสำหรับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การรถไฟฯจึงไม่อาจใช้แผนที่นั้นมากล่าวอ้างให้ที่ดินบริเวณเขากระโดงตกเป็นของการรถไฟฯ เพื่อเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งออกให้ประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายของแผนที่ดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาฯ ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้าง มีรูปแบบและระยะไม่สอดคล้องตามหลักวิชาการแผนที่ เช่น ในแผนที่ระบุมาตราส่วน 1 : 4,000 กล่าวคือ 1 เซนติเมตร ในรูปแผนที่ เท่ากับ 4,000เซนติเมตร หรือ 40 เมตร ในพื้นที่จริง หากแนวเขตจากรางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร รูปแผนที่จะมีระยะถึงข้างละ 25 เซนติเมตร แต่แผนที่ที่การรถไฟฯ กล่าวอ้างมีระยะเพียง 2.5 เซนติเมตร เท่านั้น แผนที่ฉบับดังกล่าวจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ
อ้างศาลฯให้เป็นดุลพินิจอธิบดีที่ดิน
กรมที่ดินยังชี้แจงในประเด็นที่สาม กรณีการรถไฟฯกล่าวอ้างว่า ข้อเท็จจริงปรากฏชัดมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ในฐานะผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินทั้งหมดประเด็นดังกล่าว ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนฯตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งที่ 1195 – 1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้ว
ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยกรณีที่การรถไฟฯ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้ชัดแจ้งว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเช่นใด ย่อมเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามเห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้
ยันทำตามขั้นตอน-ชอบด้วยกม.
เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้วเห็นว่ารับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯจึงมีมติยืนยันความเห็นว่าไม่สมควรเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ดังนั้น การดำเนินการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวนฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยรับฟังทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม พยานหลักฐานของการรถไฟฯ และพยานหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนฯ แสวงหามาประกอบการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ยังมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญอันจะนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ การที่จะนำพยานหลักฐานที่ยังไม่เป็นที่ยุติไปใช้ ให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครอง อาจส่งผลกระทบให้คำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 อธิบดีจึงได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอยุติเรื่องในกรณีนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่ได้เสนอมา พร้อมทั้งแจ้งให้การรถไฟฯทราบว่า หากการรถไฟฯ เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินสามารถไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลได้ อย่างไรก็ดีการรถไฟฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินในกรณีดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หากผลการพิจารณาเป็นประการใดจะแจ้งให้ การรถไฟฯ ทราบต่อไป ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามนัยดังกล่าวข้างต้น กรมที่ดินได้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมถึงคำพิพากษาศาลครบถ้วนเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี