10วันอันตรายช่วงปีใหม่รวม 3 วัน ตายดุพุ่ง 143 ราย เจ็บระนาว 841 คน ‘กทม.-กรุงเก่า’ขึ้นนำโด่งสูญเสียสะสม ขณะที่‘19จว.’ยังถนนใส ‘ศปถ.’ประสานจังหวัดเข้มปรับแผนตั้งจุดตรวจ-ด่านในพื้นที่จัดงานปีใหม่กวดขันดื่มแล้วขับ เรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ลงถึงเด็กเยาวชน หากพบผิด ใช้บทลงโทษสูงสุด
30 ธันวาคม 2567 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2567 เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว และเริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงเฉลิมฉลองกันตามสถานที่จัดงานปีใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ จึงได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง
โดยให้ปรับแผนการตั้งจุดตรวจด่านตรวจในบริเวณที่มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และดำเนินการอย่างเข้มข้นในการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงให้ควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน
นอกจากนี้ ให้จังหวัดเข้มงวดเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับ ให้ขยายผลสอบสวนดำเนินคดีไปที่ต้นทาง ทั้งผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผู้สนับสนุน และผู้ปกครองของผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเกี่ยวกับผลของการกระทำผิด และหากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามการกระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการกระทำผิดเกี่ยวกับการขับขี่รถขณะเมาสุราหรือการกระทำที่อาจเป็นอันตายต่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ส่วนผู้ที่กระทำผิดที่มีภาวะติดสุรา ต้องส่งเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม ได้บูรณาการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติ และผู้ถูกคุมประพฤติคดีเมาแล้วขับและอื่น ๆ กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ สนับสนุนการปฏิบัติงานตามจุดบริการประชาชนทั่วประเทศ เน้นย้ำกรณีเด็กและเยาวชนเกิดอุบัติเหตุจากดื่มสุราต้องดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายด้วยหรือยึดรถจักรยานยนต์หากเสี่ยงกระทำผิด พร้อมเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน 4 ฐานความผิด โดยศาลจะมีคำสั่งคุมประพฤติ ประกอบด้วย การขับรถขณะเมาสุรา การขับรถโดยประมาท การขับรถซิ่ง และการขับเสพ โดยตั้งแต่วันที่ 27 -29 ธันวาคม 2567 ได้ดำเนินคดี จำนวน 1,763 คดี และติดกำไล EM กับผู้กระทำผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 4 ราย
ด้านนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำชับจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และภาคประชาชน ดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์อุบัติเหตุ เพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชน และหมู่บ้าน เพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ให้ออกจากพื้นที่ชุมชนหมู่บ้าน ทั้งการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รถจักรยานยนต์ที่มีสภาพไม่ปลอดภัย การขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น ตลอดจนคุมเข้มเส้นทางโดยรอบแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง และสถานที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนและการลงโทษตามกฎหมายที่กำหนด
ขณะที่นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่สนธิกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง และจากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในระยะนี้บางจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยไม่ดี ส่วนจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มีอากาศเย็น โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยและภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด
ศปถ. จึงประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน กวดขันการใช้ความเร็ว ดื่มไม่ขับ พร้อมประชาสัมพันธ์ประชาชนผู้เดินทางสัญจรเดินทางด้วยความระมัดระวัง สำหรับผู้ขับขี่ในพื้นที่่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ให้เปิดไฟตัดหมอก หลีกเลี่ยงการแซง และหลีกเลี่ยงถนนที่ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 29ธ.ค.67 ซึ่งเป็นวันที่3ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29ธ.ค. เกิดอุบัติเหตุ 280 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 269 คน ผู้เสียชีวิต 47 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.57 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.21 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ19.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.98 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ82.14 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.36 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.07
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 7.14 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ20 - 29 ปี ร้อยละ 22.47 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,778 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,882 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 10 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (4 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (27 – 29 ธ.ค.) เกิดอุบัติเหตุรวม 872 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 841 คน ผู้เสียชีวิต รวม 143 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (35 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (32 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (7 ราย)
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี