กทม.เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย เผย 2 ปี ยกเลิกไปแล้วกว่า400 จุด / หาพื้นที่ทำ HawkerCenter / ทำบัญชีผู้ค้าให้กรุงไทยพัฒนาระบบสแกนหน้าตรวจสอบสิทธิ กันขาย-เซ้ง-เช่าต่อ
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดระเบียบพื้นที่การทำการค้าในกทม.ปี 2568 ว่า จากที่ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานที่สาธารณะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามแผนโดยสำนักงานเขตได้ประชุม คกก.ระดับเขต ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าจัดระเบียบให้เป็นไปตามประกาศ ปี 2567 ทั้งในจุดผ่อนผัน 63 จุด และนอกจุดผ่อนผัน 384 จุด ผู้ค้า 14,000 กว่าราย และ ให้มี คกก. 3 ระดับ ทำการตรวจประเมินเดือนละครั้ง ประกอบด้วย ระดับเขต, ระดับ สนท. และ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร สรุปรายงานผลภายใน 31 มี.ค. 2568 จุดที่ผ่านการประเมินให้พิจารณาเสนอเป็นจุดผ่อนผันตามขั้นตอน ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็น การพิจารณาของ คกก.ระดับเขต ระดับ กทม. บชน. และให้ ผู้ว่าฯกทม. ลงนามประกาศ ส่วนที่ไม่ผ่านการประเมินในขั้นตอนต่างๆ หรือขั้นตอนขั้นหนึ่งให้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย
“2 ปี ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ให้ความสำคัญกับประชาชนที่ใช้ทางเท้าใช้ถนนเป็นหลัก ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยต้องมาก่อนส่วนการทำการค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะโดยเฉพาะทางเท้าจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้พยายามหาพื้นที่เอกชน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เพื่อจัดทำเป็นศูนย์อาหาร หรือ Hawker Center ให้เป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญ เน้นเรื่องความโปร่งใสการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และจัดทำบัญชีจุดทำการค้าและผู้ค้าเพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการระดับกรุงเทพมหานคร และ ระดับเขต เข้ามาช่วยดูแลการทำการค้าหาบเร่-แผงลอย” นายจักกพันธุ์ กล่าว
ในการจัดทำบัญชีจุดทำการค้าและผู้ค้าเพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ในปี 2565 มีจุดทำการค้าที่ประกาศถูกต้อง 86 จุด ผู้ค้า 5,400 รายจุดทำการค้านอกจุดไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 735 จุด ผู้ค้า 16,493 รายกทม.ได้พยายามจัดระเบียบเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยทางเท้าได้อย่างสะดวกปลอดภัย เริ่มดำเนินการในจุดที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นการทำการค้านอกจุด หรือแม้แต่จุดที่เคยอนุญาตต่อมาภายหลังได้ก่อปัญหา ผลการดำเนินการจุดทำการค้านอกจุดได้ทำการยกเลิก ยุบรวมพื้นที่ไปแล้ว 351 จุด คงเหลือ 384 จุดผู้ค้าคงเหลือ 11,202 ราย และในจุดผ่อนผันได้ยกเลิก 23 จุด คงเหลือ63 จุด ผู้ค้า 3,766 ราย
ในจุดที่ได้จัดระเบียบแล้วได้กำชับให้สำนักงานเขตดูแลรักษาพื้นที่ให้เกิดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแบบยั่งยืน ต้องกวดขันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และตรวจประเมินอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าพื้นที่จะได้รับการอนุญาตให้ทำการค้าได้ แต่ถ้าผู้ค้าไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะถูกเพิกถอนสิทธิหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า โดยในเรื่องของสิทธิในการจำหน่ายสินค้ากทม.ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารกรุงไทย จำกัด โดยธนาคารจะพัฒนาระบบตรวจสอบผู้ค้าให้ กทม. ที่จะกำหนดให้ผู้ค้าที่มาทำการค้าจะต้องสแกนใบหน้าทุกวันที่มาขายสินค้า และธนาคารจะมีการช่วยเหลือผู้ค้าในด้านต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ค้าที่ได้รับสิทธิในการทำการค้านำสิทธินั้นไปขาย เซ้ง เช่า ต่อผู้อื่น เช่นที่เคยปฏิบัติกันมาแต่ก่อน
สำหรับการช่วยเหลือผู้ค้าจุดที่ยกเลิกไป กทม.ได้หาสถานที่รองรับไม่ว่าจะเป็นตลาดของกทม. ตลาดเอกชน Hawker Center และล่าสุดได้กำหนดนโยบายเพิ่มเติมให้สำนักงานเขตติดตามว่าผู้ค้าที่ยกเลิกมีการเข้าไปขายในพื้นที่ที่เราหาให้ หรือไปประกอบอาชีพอื่น หรืออื่นๆ อย่างไร เพื่อจะได้เป็นข้อมูลและช่องทางการให้ความช่วยเหลือ
สำหรับในการจัดหาจุดทำการค้า- Hawker Center เป็นนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้ค้าที่ค้าขายอย่างผิดกฎหมายอยู่บนทางเท้า ให้มีสถานที่จำหน่ายอย่างถูกต้องและยั่งยืน ในปี 2566 หาพื้นที่ได้ 39 จุด ใน 29 เขต รองรับผู้ค้าได้ 2,822 ราย และในปี 2567 มี 28 จุด 26 เขต รองรับผู้ค้าได้ 1,195 ราย และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งจะไม่ใช่เป็นพื้นที่ทางเท้าหรือทางสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ของ กทม.หน่วยงานรัฐอื่น หรือเอกชน โดย กทม.ได้ปรับปรุงพื้นที่หลังศาลาว่าการฯด้านข้างริมคลองวัดราชนัดดา ให้มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคเป็น Hawker Center มีการเก็บค่าเช่าราคาถูก รองรับผู้ค้าได้ 60 รายเป็นต้นแบบการดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์พื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน ตลาดชุมชน หรือพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือพื้นที่ที่มีลักษณะดังกล่าว ซึ่งประกาศ กทม. ฉบับล่าสุดได้มีการยกเว้นไว้ เพื่อให้พื้นที่ที่อยู่ในชุมชน ในหมู่บ้าน แต่ลักษณะทางกายภาพไม่เป็นไปตามประกาศ กทม. สามารถที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้าได้ เพื่อส่งเสริมคนในชุมชนได้มีอาชีพ โดยพื้นที่นั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร การสัญจร ของประชาชนเป็นต้น คาดว่าใช้เวลาไม่นานในการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางเพื่อดำเนินการต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี