กทม. ติวเข้มบุคลากร 50 เขต พร้อมบริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม23 ม.ค.นี้ ชวนลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อความสะดวก
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการประชุมซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจและพัฒนาทักษะการสื่อสารในการปฏิบัติงานจดทะเบียนสมรสตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 (กฎหมายสมรสเท่าเทียม) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานปกครองและทะเบียนจัดขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการจดทะเบียนสมรสตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือที่รู้จักคือ“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันแรกในวันที่ 23 ม.ค. 2568 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
นายศานนท์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับตำแหน่ง สถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งบอกว่า ไทยก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่สิ่งที่ล้าหลังที่สุดคือ กฎหมายวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่กฎหมายไทยจะก้าวหน้าขึ้น ซึ่งทะเบียนสมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่กระดาษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการสร้างความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจิ๊กซอว์ส่วนที่ขาด สังคมพร้อมแล้ว กฎหมายพร้อมแล้ว แต่จิ๊กซอว์ที่ขาดคือ ความเข้าอกเข้าใจของเจ้าหน้าที่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ คงต้องค่อยๆ ขยับกันไป
ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องของระยะเวลาในการจดทะเบียน จึงอยากให้ประชาชนที่ต้องการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม กรอกรายละเอียดและส่งเอกสารล่วงหน้าผ่านลิงก์ https://form.jotform.com/Bangkokpride2024/equal-marriage-registration-confirm? ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนมาแล้ว 100 คู่แบ่งเป็นจดทะเบียนสมรสที่สยามพารากอน 67 คู่ ส่วนที่เหลือจะอยู่ที่สำนักงานเขต คาดว่าจะมีผู้มาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันดังกล่าวราว 300 คู่แต่ถ้ามามากกว่านั้นก็ยินดี กรุงเทพมหานครมีความพร้อมอยู่แล้ว
ด้าน นางละไม อัศวเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่ากรุงเทพมหานครได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิชาการ ส่วนวันนี้เป็นการอบรมเรื่องการให้บริการและการสื่อสาร สำหรับเอกสารที่ต้องใช้สำหรับคนไทยที่ต้องการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม จะต้องเตรียมบัตรประชาชนมาด้วย หากเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อนจะต้องมีหลักฐานการหย่า ส่วนชาวต่างประเทศจะต้องเตรียมสำเนาหนังสือเดินทาง หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานเอกอัครราชทูต พร้อมแปล และจะต้องเตรียมพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน โดยการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่สยามพารากอนจะเป็นกรณีพิเศษ มีการเก็บค่าธรรมเนียมคู่ละ20 บาท
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดี และอาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นเรื่องของความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และวิธีการสื่อสาร หลายครั้งเจ้าหน้าที่มักระบุว่าทำตามหน้าที่ ทำตามกฎหมาย แต่ความจริงมนุษย์ไม่ได้สื่อสารในระดับกฎหมายเท่านั้น แต่มีเรื่องความรู้สึก อารมณ์ และความเข้าใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทะเบียนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากการสื่อสารด้วยความเป็นมิตรการเข้าอกเข้าใจ จะช่วยทำให้การทำงานของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างราบรื่น
สำหรับวันนี้ มีหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและหัวหน้างานทะเบียนทั่วไป จาก 50 เขตเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย การบรรยายและฝึกปฏิบัติหัวข้อ “การสร้างความเข้าใจและพัฒนาทักษะการสื่อสาร ในการปฏิบัติงานจดทะเบียนสมรส โดยคณะวิทยากรจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี