ปิดศูนย์ 10 วันอันตราย
สังเวย 436 เจ็บ 2,376
ปิดฉาก 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวยบนท้องถนน 436 ราย บาดเจ็บ 2,376 คน “กทม.-สุราษฎร์” แชมป์สูญเสีย ขณะที่“ตราด-ยะลา-สมุทรสงคราม”ตายเป็นศูนย์ ด้าน ศปถ.ยอมรับยอดตายยังพุ่ง แต่อุบัติเหตุ-บาดเจ็บ ลดลง กำชับทุกภาคส่วนถอดบทเรียน ขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนตลอดปี
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 5 มกราคม 2568 เปิดเผยว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น 10 วัน (27 ธันวาคม 2567–5 มกราคม 2568) พบว่าตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุและผู้ได้รับบาดเจ็บ ลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และลดอัตราผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง เน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดเท่านั้น ซึ่งต้องเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และชาวต่างชาติ ทั้งที่เข้ามาท่องเที่ยวและเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย การตัดหน้ากระชั้นชิด และการขับรถย้อนศร
ด้านนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 กล่าวว่า ศปถ.ขอให้จังหวัดขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนโดยใช้กลไกของ ศปถ.ในทุกระดับ ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และให้ความรู้หลักการใช้พาหนะอย่างปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ การขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง และการจัดทำประกันภัย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 12 คนต่อแสนประชากรได้จริง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดหวัดต้องถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ข้อมูลในทุกมิติ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการการดำเนินงานแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ด้านความปลอดภัยของยานพาหนะ ด้านถนน และด้านสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และนำแนวทางการปฏิบัติงานของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต มาเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงาน รวมถึงให้บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัคร ขับเคลื่อนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 5 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 โดย ปภ.และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ว่าเกิดอุบัติเหตุ 139 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 128 คน ผู้เสียชีวิต 29 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.53 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 24.46 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 20.86 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จักรยานยนต์ ร้อยละ 82.67 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.61 ถนนกรมทางหลวงร้อยละ 50.36 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 20.86
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 19.01-20.00 น. ร้อยละ 10.07 เวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 9.35 และเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 8.63 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 18.47 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 49,750 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี (8 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี พังงา และพัทลุง (จังหวัดละ 6 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี (จังหวัดละ 3 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 10 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567–5 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,467 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,376 คน ผู้เสียชีวิต รวม 436 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (89 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (100 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กทม.(26 ราย) และจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด ยะลา และสมุทรสงคราม
ที่รัฐสภา วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงภาพรวมยอดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะลดลง แต่จำนวนอุบัติเหตุรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ว่าทุกครั้งเรานำบทเรียนไปศึกษา มีเคสน้อยลง มาตรการเข้มข้น แต่ยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนั้น ตนอยากให้ดูที่เคสมากกว่า เพราะจำนวนคนที่อยู่ในยานพาหนะ เราควบคุมไม่ได้ ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามข้อบังคับ และกฎจราจรเพิ่มมากขึ้น ส่วนรายละเอียดคงต้องรอให้ทาง ปภ.แถลง
ส่วนจะต้องมีการทบทวนมาตรการหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรามีการทบทวนศึกษาถอดบทเรียนทุกปีอยู่แล้ว สำหรับการขยายระยะเวลาจาก 7 เป็น 10 วันนั้น ขึ้นอยู่กับห้วงเวลา เนื่องจากในปีนี้วันหยุดหมดลงในวันที่ 2 มกราคม 2568 จึงคาดว่าจะมีประชาชนอยู่ยาวจนถึงสุดสัปดาห์ในวันที่ 5 มกราคม 2568 จึงขยายวันออกไป ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร เราพยายามจะทำให้ได้ 365 วัน ถ้าทำได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี