8 ม.ค. 2568 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว จัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 เสวนา “ความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทย…ที่ขาดแคลนการลงทุน” ที่ รร.แมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ในขณะที่ผู้ใหญ่คาดหวังกับเด็ก คำถามคือผู้ใหญ่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและดีพอกับการคาดหวังนั้นหรือไม่
เพราะเมื่อมองไปรอบด้านจะเห็นปัญหาอบายมุขเข้ามาใกล้ตัวมาก เช่น ข้อมูลในปี 2565 ชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงตัวเด็กเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า ภายในเวลาเพียง 7 ปี ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งต้องยอมรับว่าทำการตลาดทำมาดีมาก และมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนเป็นสำคัญเพราะต้องการผู้บริโภครายใหม่ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลเชื่อมโยงกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ตามที่มีข้อมูล ณ ปี 2564 พบว่า มีผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับเฉลี่ย 2,200 รายต่อปี
“เห็นไหมว่ามันเพียงพอไหมกับที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องดูแลอนาคตเด็กให้ปลอดภัย ให้อยู่รอด เราทำกันดีพอแล้วหรือยัง? ในอีกหลายๆ เรื่อง เรื่องการพนันก็ไม่แพ้กัน เรามีตัวเลขอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าคน ที่มีโอกาสเข้าสู่วงจรนักพนันหน้าใหม่ ไม่น้อยนะที่เขาจะก้าวเข้ามาแล้วไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยังไม่นับกลุ่มที่ถูกหลอกลวงจากออนไลน์ทั้งหลาย ผู้ใหญ่ยังถูกเลยในการถูกหลอกลวง เยาวชนก็ถูกหลอกลวงด้วยเช่นกัน” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า จากกิจกรรมวันเด็กตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น ถามคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรี เด็กคนไหนตอบได้มีรางวัลให้ ทำให้เกิดคำถามว่าเราสามารถทำอะไรมากกว่านี้ได้บ้างหรือไม่ และคิดว่าในงานวันเด็กที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่มารวมกันเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรจะให้รับรู้ถึงสิทธิเด็ก แน่นอนว่าคงไม่ได้หวังให้เด็กเล็กๆ รับรู้อะไรมาก ที่สำคัญกว่าคือพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ต่างๆ ที่นำของขวัญมาให้เด็ก ทราบกันหรือไม่ว่าสิทธิเด็กคืออะไร ซึ่งประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาแล้ว
หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เด็กได้รับผลกระทบ มีใครนำปัจจัยร่วมต่างๆ มาคุยกันหรือไม่ ความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นบ่มเพาะอะไร สร้างบาดแผลให้เด็กบ้างหรือไม่ จึงเกิดแนวคิดว่าจะใช้โอกาสของวันเด็กแห่งชาติสื่อสารเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ทำเองไม่ได้ ในขณะที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีบ้านพักเด็กและครอบครัวอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในที่พึ่งเมื่อเด็กมีปัญหา อีกทั้งกลไกของบ้านพักเด็กซึ่งจัดงานวันเด็กร่วมกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ในพื้นที่ ก็สามารถสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปได้
“แน่นอนที่สุดว่าได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ แล้วก็ทำสื่อที่เราส่งไปให้บ้านพักเด็กที่ว่าด้วย 2-3 เรื่อง ความรุนแรงในครอบครัว สิทธิเด็ก แล้วก็เรื่องของบรรดาอบายมุขที่เป็นปัจจัยร่วมในความรุนแรงในครอบครัว” นายชูวิทย์ กล่าว
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในปี 2567 ที่ผ่านมา ได้รับเรื่องขอความช่วยเหลือหรือสอบถามข้อมูล ราว 188,000 เรื่อง ในจำนวนนี้ 26,000 เรื่อง เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กและเยาวชน และจากเรื่องขอความช่วยเหลือทั้งหมด พบว่า ความรุนแรงติด 1 ใน 5 อันดับแรก
“กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สสส. ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้จีดกิจกรรมขึ้นโดยใช้โอกาสสำคัญคือวันเด็กแห่งชาติ เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการที่จะมาดูเรื่องความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทยที่ขาดแคลนการลงทุนร่วมกัน ซึ่งก็คิดว่าโอกาสในครั้งนี้ที่ใช้วันสำคัญของเด็กๆ ของเรา ก็คือวันเด็กแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่มันเกิดขึ้นจากความรุนแรงในครอบครัว ที่มันจะส่งไปถึงเด็กแล้วก็จะกลายเป็นความรุนแรงข้ามรุ่นของเด็กและเยาวชน” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการส่งมอบสื่อรณรงค์ เช่น สมุดระบายสี ป้ายรณรงค์ รวมกว่า 2 หมื่นชิ้น ซึ่งร่วมจัดทำโดย สสส. กับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ให้กับบ้านเด็กและครอบครัวทุกจังหวัดด้วย โดยสื่อเหล่านี้จะมีเนื้อหาสอดแทรกเรื่องสิทธิเด็ก การปกปกป้องคุ้มครองเด็กจากอบายมุข และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมทั้งในช่วงวันเด็กแห่งชาติ และกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี