กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงที่มากระทบการเติบโตของเด็ก สสส. เผยเด็กไทยอบายมุขรุมเร้า ทั้งบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด พนัน ชี้อบายมุขทุกชนิด ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก พร้อมหวังให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เข้าใจ ไม่สร้างบาดแผลให้เด็กๆ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 พร้อมเสวนา “ความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทย...ที่ขาดแคลนการลงทุน”
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 2568 ในปีนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญวันเด็กไว้ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” และในปีนี้ พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดกิจกรรมวันเด็ก ภายใต้แนวคิด “Wonderful kids Wonderful days ให้ทุกวันเป็นวันของเด็ก และยังได้ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และ สสส. หนุนเสริมการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ผ่านบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด ซึ่งมีความพิเศษ คือ การเสริมความรู้ประเด็นสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ประการ คือ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองและสิทธิที่จะมีส่วนร่วม ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็กจากอบายมุขทุกรูปแบบ ตลอดจนการทำใดๆ ที่จะทำให้เด็กเสี่ยงที่จะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรตระหนักรู้
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายปกป้องเด็กเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเด็กๆ ทั้ง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด และการพนัน วันเด็กแห่งชาติในปีนี้ สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนสื่อรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ สมุดระบายสี ป้ายรณรงค์ รวมกว่า 20,000 ชิ้น ให้กับบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด โดยสื่อมีเนื้อหาสอดแทรกเรื่องสิทธิเด็ก การปกป้องคุ้มครองเด็กจากอบายมุข และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมในช่วงวันเด็กและกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ห่างไกลปลอดภัยปัจจัยเสี่ยง และเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน
“ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ลดจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 15.4% ส่วนนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี มี 211,474 คน โดย 73.7% เริ่มสูบช่วงอายุ 15-19 ปี ที่น่ากังวลปี 2565 จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13 - 15 ปี พบว่า พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จาก 3.3% ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ขณะที่ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อมูลปี 2566 พบกลุ่มอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ประมาณ 739,000 คน“ นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า ส่วนผลสำรวจการดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กเยาวชนอายุ 15-24 ปี ช่วงปี 2547-2558 พบอัตราการดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 23.5%-29.5% และปี 2564 ลดเหลือ 20.9% หรือราว 1.9 ล้านคน โดยพบข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับทุกกลุ่มอายุ 34.05% และอายุต่ำกว่า 20 ปี 16.75% นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับความรุนแรงในครอบครัว และข้อมูลที่น่าสนใจโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% ทั้งนี้ ชัดเจนว่าอบายมุขทุกชนิด ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดที่สมองจะพัฒนาไปได้ดีจนถึงอายุ 25 ปี ทั่วโลกจึงทำทุกทางเพื่อปกป้องเด็กจากอบายมุข และมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า ครอบครัวที่มีคนเสพติดอบายมุข มีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัว และสร้างบาดแผลในชีวิตของเด็ก
นายภานุเดช สืบเพ็ง กล่าวว่า ในวัยเด็กพ่อ แม่ แยกทางกัน เท่าที่จำความได้คือ พ่อเป็นนักดื่ม และทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว พ่อได้พาตนเองและพี่ น้องอีก 3 คน มาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ แต่มีคนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ และพาตนกับพี่ น้องแยกส่งไปอยู่ที่มูลนิธิต่างๆ จากนั้นตนก็ใช้ชีวิตอยู่ที่มูลนิธิมาตั้งแต่เด็ก ภายใต้กฎระเบียบ และมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ในช่วงวัยรุ่นก็มีเกเรบ้าง แต่สุดท้ายก็เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มีงานทำสามารถช่วยเหลือ และดูแลน้องๆ ที่มูลนิธิดังกล่าวได้บางส่วน จนถึงวันที่มูลนิธิปิดตัวลง ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางชีวิตผมต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการยืนหยัดใช้ชีวิตด้วยต้นทุนที่ติดลบ ถึงปัจจุบันยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากมาย แต่อย่างน้อยได้มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคมและประเทศชาติ
“วันนี้มีสิ่งที่ผมอยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ว่า เด็กคือผ้าขาว เขาจะโตมาเป็นแบบไหนอยู่ที่ผู้ใหญ่จะเขียนหรือแต้มอะไรลงไป ครอบครัวคือสิ่งสำคัญควรให้ความสำคัญ ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้เด็ก ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง เด็กๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งที่ไม่ดีได้ ขณะเดียวกันก็อยากฝากหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เด็กแต่ละครอบครัวโตมาไม่เหมือนกัน บางคนพร้อม บางคนขาด สิ่งที่เด็กๆ อยากได้มากๆ คือโอกาส ดังนั้นขอให้โอกาสกับเด็กๆ ด้วย” นายภานุเดช กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี