อัยการสังไม่ฟ้องคดี‘ดิไอคอน’
‘แซม-มิน’รอดคุก
ปล่อยตัวพ้นจากเรือนจำ
‘16 บอส’ที่เหลือโดนหมด
ข้อหาหนัก‘ฉ้อโกงประชาชน’
ส่งเรื่องฟ้องต่อศาลอาญา
“อัยการ” สั่งไม่ฟ้อง “บอสแซม-บอสมิน”คดี ดิไอคอน เตรียมออกหมายปล่อยตัวจากเรือนจำต่อไป เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอรับฟังได้ว่า ร่วมกระทำความผิดกับผู้ต้องหาอื่น แต่ยังลุ้นอธิบดีดีเอสไอ เห็นแย้งอัยการให้สั่งฟ้อง ส่วน“บอสพอล-บอสกันต์” กับพวกที่เหลือไม่รอด อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญานัดสอบคำให้การ
9 มกราคมนี้ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 มกราคม 2568 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการอาคาร เอ นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวว่า ตามที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 67 คดีระหว่าง นายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก ผู้กล่าวหาบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์รกุล หรือบอสพอล ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 19 คน ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการใน ลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
เหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 67 ใน ท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ และหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกัน คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 649,912,290 บาท เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากและเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ถือเป็นคดีสำคัญตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณา บัดนี้สำนักงานคดีพิเศษได้พิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้วมีความเห็นและคำสั่ง ดังนี้
1. สั่งฟ้อง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1 ,นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้ต้องหาที่ 2, นายจิระวัฒน์ แสงภักดี หรือบอสแล็ป ผู้ต้องหาที่ 3, นายกลด เศรษฐนันท์ หรือบอสปีเตอร์ ผู้ต้องหาที่ 4, น.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร หรือบอสปัน ผู้ต้องหาที่ 5, นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือบอสหมอเอก ผู้ต้องหาที่ 6, น.ส.นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ หรือบอสสวย ผู้ต้องหาที่ 7, น.ส.ญาสิกัญจณ์ เอกชิสนุพงศ์ หรือบอสโซดา ผู้ต้องหาที่ 8, นายนันทธรัฐ เชาวนปรีชา หรือบอสโอม ผู้ต้องหาที่ 9, นายธวิณทรภัส ภูพัฒนรินทร์ หรือบอสวิน ผู้ต้องหาที่ 10, น.ส.กนกธร ปูรณะสุคนธ์ หรือบอสแม่หญิง ผู้ต้องหาที่ 11, น.ส.เสาวภา วงษ์สาขา หรือบอสอูมมี ผู้ต้องหาที่ 12, นายเชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์ หรือบอสทอมมี่ ผู้ต้องหาที่ 13, นายหัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ หรือบอสป๊อบ ผู้ต้องหาที่ 14, นางวิไลลักษณ์ ยาวิชัย หรือบอสจอย ผู้ต้องหาที่ 15, นายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ หรือบอสออฟ ผู้ต้องหาที่ 16 และนายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ ผู้ต้องหาที่ 19
ตามข้อหา ฐาน”ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบ ธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 19, 20, 38, 46, 47, 54, พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 6, 18, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1, 12, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2534 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 4, 5 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของ ผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ตามความเห็นพนักงานสอบสวน
2. สั่งไม่ฟ้อง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแชม ผู้ต้องหาที่ 17 และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมีน ผู้ต้องหาที่ 18 แย้งความเห็นพนักงานสอบสวน
ผู้ต้องหาที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 17 ต่อศาลอาญาในวันนี้
ส่วนผู้ต้องหาที่ 17 และ 18 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลอาญาและจะดำเนินการส่งสำนวนพร้อมความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ต่อไป
วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยแพร่เอกสารว่า ตามที่ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้แก่บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ทะเบียนนิติบุคคคลเลขที่ 005561093893 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เพื่อจำหน่ายสินค้าประมภทอาหารและเครื่องสำอาง ผ่านเว็บไซต์ www.theicon.co.th โดยวิธีการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอแก้ไขช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์เป็น www.theicongroup.co.th แต่ภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ปรากฎหลักฐานต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ว่าเว็บไซต์ www.theicongroup.co.th เมื่อเข้าไปดูสินค้าแล้วเลือกรายการสินค้าลงตะกร้าและทำการชำระเงินตามชั้นตอน ปรากฏว่าไม่สามารถชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าได้โดยเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้นข้อความว่า”Something is not right ! กรุณาเข้าเว็บไซต์ของตัวแทนเพื่อทำการสั่งซื้อสินค้า” อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงที่ได้
จากการสอบสวนผู้เสียหายให้ถ้อยคำว่า “ผู้บริโภคไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯ ได้โดยตรง จะสั่งซื้อสินค้าใต้ต่อเมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านลิงก์ของตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น” ประกอบกับมีผู้เสียหายให้การว่าหากสามารถชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายในตำแหน่งดีลเลอร์เป็นเงินลงทุนจำนวน250,000 บาท ผู้ชักชวนจะได้รับค่าตอบแทนจากผู้สมัครรายใหม่เป็นเงิน 10,000-15.000 บาท ต่อ 1 ดีลเลอร์ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัทฯ รวมทั้งวิธีการในการดำเนินธุรกิจมีลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นในการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค แต่กลับมุ่งเน้นให้สมาชิกรายเก่าหาสมาชิกรายใหม่เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ซึ่งรายได้หลักเกิดจากการที่มีผู้สมัครรายใหม่ในตำแหน่งดีลเลอร์ต่อ ๆ กันไป ซึ่งรูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัทฯมีลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจตลาดแบบตรงโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้มขึ้น อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโนฐานะนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 44 และมาตรา 53 วรรคสอง(3) (5) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี