เลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ การหาเสียงเริ่มเข้มข้นขึ้น ผู้สมัครทั้งนายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ.ทั้ง 42 เขต 23 อำเภอ ลุยติดแผ่นป้ายหาเสียงทั่วเมืองชิงความได้เปรียบ คาดแข่งขันเข้มข้น มีการแบ่งขั้วการเมืองชัดเจน ขณะพรรคประชาชน ไม่ส่งนายกฯ แต่ขอแบ่งเก้าอี้ ส.อบจ.
วันนี้ (9 ม.ค.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) บุรีรัมย์ ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ.2568 ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ รวมทั้งสิ้น 187 คน แต่ถูกตัดสิทธิ์รับสมัคร 3 คน เหลือผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 184 คน โดยมีผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 5 คน ถูกตัดสิทธิ์รับสมัคร 1 คน เหลือผู้สมัครนายก อบจ. 4 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์, หมายเลข 2 นางสาวพิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ, หมายเลข 3 นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 และ หมายเลข 4 นายภูษิต เล็กอุดากร อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมัยที่ผ่านมา หลานชายของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์”
ส่วนผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขตเลือกตั้ง ใน 23 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 182 คน ถูกตัดสิทธิ์รับสมัคร 2 คน เหลือผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ 180 คน ได้แก่ ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์” จำนวน 42 คน ส่งสมัครใน 42 เขตเลือกตั้งๆ ละ 1 คน เป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ กว่า 30 คน และ ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนาม “พรรคประชาชน” (ปชน.) จำนวน 9 คน ส่งสมัครใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ส่วนที่เหลือเป็นผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนามอิสระ จำนวน 129 คน ใน 42 เขตเลือกตั้ง 23 อำเภอ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง อดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมด ข้าราชการบำนาญ ผู้ท้องถิ่น เกษตรกร และผู้นำชุมชน
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครนายก อบจ.จะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง นายภูษิต กับ นายการุณ ทั้งสองล้วนเป็นนักการเมืองในท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบนั้น ฟันธงไว้เลยว่า นายภูษิต จะมีภาษีดีกว่าผู้สมัครคนอื่น ที่มีฐานคะแนนแน่นปึ้กในแทบทุกพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ฐานคะแนนหลักเป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ นายกเทศมนตรี และ อบต. แต่ก็ยังมีตัวสอดแทรกจากผู้สมัครอิสระที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน ทำให้สนามเลือกตั้งนี้ดูเข้มข้นขึ้นมาก
แม้ว่าทางพรรคประชาชน(ปชน.) จะไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ แต่ก็ได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 9 คน ส่งใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างเข้มข้นในหลายเขตเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ระหว่างผู้สมัครกลุ่มคนบุรีรัมย์ ของนายภูษิต กับ ผู้สมัครของพรรคประชาชน เพราะมีการแบ่งขั้วการเมืองกันอย่างชัดเจน อีกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566 ทางพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบัน คือ พรรคประชาชน ก็มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มากเป็นอันดับหนึ่งด้วย จึงขอมาเป็นตัวสอดแทรกในการแบ่งเก้าอี้สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้
สำหรับการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน เริ่มคึกคัก ทั้งผู้สมัครนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ พบว่าส่วนมากจะใช้วิธีการแนะนำตัวผ่านโซเชียล และจัดทีมงานออกไปติดโปสเตอร์หาเสียงตามที่ต่างๆ และมีรถโฆษณาหาเสียงตระเวนไปทั่วในเขตเลือกตั้งตลอดทั้งวัน ซึ่งยอมรับว่ามีการจัดตั้งทีมงานที่ไว้ใจได้ นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่ออกพบปะตามหมู่บ้าน ชุมชนเพื่อขอคะแนนเสียงอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี