9 ม.ค. 2568 ที่รัฐสภา ตัวแทนพรรคประชาชน (ปชน.) ประกอบด้วย นายเดชรัต สุขกำเนิด นายพริษฐ์ วัชระสินธุ และนายรอมฎอน ปันจอร์ ร่วมหารือกับตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน นำโดย นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีที่สมาคมฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณาทบทวนมาตรา 69 ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567
ซึ่งในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมชั้นสภาผู้แทนราษฎร นั้นได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 69 ของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ทำให้เกิดผลสำคัญคือ การเปิดให้ทำการประมงอวนตาถี่ด้วยวิธีล้อมจับในเวลากลางคืนได้ โดยในการหารือครั้งนี้ นายปิยะและนายวิโชคศักดิ์ ได้นำเสนองานวิชาการของ ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ ที่ตั้ง 4 คำถามต่อประเด็นในมาตรา 69 ของร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ที่อนุญาตให้อวนล้อมจับตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรสามารถจับสัตว์น้ำได้ในเวลากลางคืนจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศอย่างไร โดยเป็นประเด็นที่ตรงกับการเรียกร้องของสมาคมฯมาโดยตลอด ดังนี้
1.ลูกปลาวัยอ่อนกระจายตัวอยู่นอกฝั่ง 12 ไมล์ทะเลหรือไม่ เพราะผลของการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน พ.ศ. 2538 – 2539 และใน พ.ศ. 2556 ได้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความหนาแน่นและการกระจายตัวของลูกปลาวัยอ่อนในบริเวณนอกชายฝั่ง ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มปลาเศรษฐกิจเกือบทุกชนิด โดยในการสำรวจ พ.ศ. 2538 – 2539 พบลูกปลาวัยอ่อน 65วงศ์ และ 90ชนิด ในขณะที่การสำรวจใน ใน พ.ศ. 2556 พบลูกปลาวัยอ่อน 65 วงศ์ ซึ่งทำให้หมดข้อสงสัยว่าหากมีการบังคับใช้มาตรา 69 จะมีผลต่อปริมาณการทดแทนและปริมาณเศรษฐกิจอย่างค่อนข้างชัดเจน
2.ผลจับสัตว์น้ำกลุ่มอื่นจะมีผลกระทบหรือไม่? หากเราตั้งสมมติฐานว่าแต่ละปีจะมีลูกปลาเศรษฐกิจเป็นผลจับพลอยได้จากอวนที่มีช่องตาเล็กนอกชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเลในเวลากลางคืนมีปีละ 1 ล้านตัวต่อชนิด และหากปลาเหล่านี้สามารถเติบโตได้จนถึงอายุ 1 ก่อนถูกจับ ในเงื่อนที่ให้ปลาเหล่านี้มีอัตราการอยู่รอดในรอบปี (Annual survival rate: S) ที่ 5% เราจะสูญเสียผลผลิตของปลาเศรษฐกิจเหล่านี้ที่ประมาณ 2 – 4 ตันต่อปีต่อชนิด และสูญเสียมากขึ้นหากค่า S มากขึ้น
นอกจากนี้ ในแง่สภาวะของประชากร, จากการที่โอกาสในการตายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ค่าสัมประสิทธ์การตายโดยการประมงสูงขึ้น และในขณะเดียวกันมวลชีวภาพของกลุ่มประชากรจะลดลง เป็นผลให้สิ่งที่เราเคยเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของประชากรปลาในหลายกลุ่มในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับอันตรายจะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง
3.ระบบนิเวศในระยะยาวน่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? ซึ่งจากการประเมินระบบนิเวศของอ่าวไทยโดยใช้ข้อมูลปริมาณผลจับใน พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นความซับซ้อนในการถ่ายทอดพลังงานของระบบนิเวศ และแสดงผลให้เห็นว่าปลากระตักและกลุ่มปลาและส่วนใหญ่อยู่ในช่วงลำดับชั้นในการบริโภคช่วงเดียวกัน คือ 2.5 – 3.5 ซึ่งมาตรา 69 จะมีผลโดยตรงต่อการลดลงมวลชีวภาพของปลากลุ่มนี้และผลที่จะตามมา
คือ จะทำให้ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศ เช่น ปลาฉลาม ปลาโอ ปลาปลาทูแขก, ปลาสีกุน ฯลฯ ต้องลงมาบริโภคสัตว์น้ำในระดับชั้นในการบริโภคที่ต่ำกว่า ทำให้ต้องบริโภคมากขึ้นเพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ ทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ ทั้งแบบจาก “บนลงล่าง”และ “ล่างขึ้นบน” และ มีผลกระทบต่อโครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอย่างรุนแรง และยังเป็นเร่งกระบวนการเกิด fishing down the food web เนื่องจากปลาวัยอ่อนในลำดับชั้นดังกล่าวไม่สามารถทำการทดแทนได้เต็มที่เพื่อรองรับการบริโภคของผู้บริโภคขั้นสูง
และ 4.หากมีการการใช้มาตรา 69 การประเมินสภาวะประชากรสัตว์น้ำเพื่อการอนุญาตทำการประมงควรต้องทำอย่างไร? หนึ่งในสมมติฐานที่สำคัญในการประเมินหาค่าปริมาณผลจับที่ทำให้เกิดความยั่งยืนสูงสุดคือ ความสามารถในการจับสัตว์น้ำของเครื่องมือประมงในการประเมินนั้นๆ จะต้องมีความสามารถในการเลือกจับ (Catchability coefficient: q) ที่คงที่ การปรับเปลี่ยนเครื่องมืออวนล้อมจับตามมาตรา 69 จะทำให้ค่า q เปลี่ยนแปลงไป และจะเป็นผลให้เส้นความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการลงแรงประมงและปริมาณผลจับปรับเปลี่ยนไป
ซึ่งหากไม่มีการทำการประเมินใหม่จะเกิดผลต่อความคลาดเคลื่อนในค่าประมาณขนาดของประชากรและความสามารถในการฟื้นฟูประชากรปลากะตักที่เป็นผลจับหลักนอกจากนี้ผลจับพลอยได้ที่เป็นลูกปลาวัยอ่อนของปลาเศรษฐกิจที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามมาตรการดังกล่าว จะมีผลต่อขนาดของประชากรและความสามารถในการฟื้นฟูประชากรของปลากลุ่มนี้เช่นกัน
ภายหลังการหารือ แกนนำกลุ่มประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ได้กล่าวว่า คงต้องรอดูว่าทิศทางของกฎหมายประมงใหม่ฉบับนี้ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อทรัพยากรชายฝั่ง สัตว์ทะเล ความยั่งยืนของระบบนิเวศ และอาชีพของประมงชายฝั่ง เราจะเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ ซึ่งวันจันทร์ที่ 13 ม.ค. 2568 นี้พวกเราจะชุมนุมใหญ่เพื่อรอฟังคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเป็นไปตามข้อเรียกร้องที่เราเคยเสนอไปแล้วหรือเปล่า ขณะที่นายเดชรัต ตัวแทนจากพรรคประชาชนที่เข้าร่วมพูดคุย รับปากว่าจะนำทั้ง 4 ข้อกังวลและ 4 คำถามของสมาคมฯ ไปหารือในชั้นกรรมาธิการโดยจะตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ได้อย่างชัดเจนทั้งสี่ประเด็นที่เกิดขึ้นในคณะทำงานด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาผ่าน กมธ.พัฒนาการเมือง ฯ และอนุกมธ.ด้านการประมงฯของวุฒิสภาโดยมี 2 ข้อเรียกร้องหลักคือ ให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยเฉพาะมาตรา 69 และในการกระบวนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา ขอให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอก ได้แก่ของตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนนักวิชาการด้านทรัพยากรทะเลชายฝั่งและการประมงเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมากับคณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายอย่างรอบด้านต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี