10 ม.ค. 2568 ที่ห้องประชุมภวัต ชั้น 4 อาคารสถาบันนิติเวชวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ มีการแถลงข่าวสถานการณ์เด็กหายประจำปี 2567 โดย นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา สถิติเด็กหายอยู่ที่ 314 คน เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง ร้อยละ 6 สาเหตุของการหายตัวไป อันดับ 1 กว่าร้อยละ 72 หรือ 227 คน สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่าร้อยละ 9 หรือ 29 คน เช่น พลัดหลง ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ถูกลักพาตัว หรือมีการแย่งสิทธิ์การปกครองเด็ก
ในกลุ่มสมัครใจหนีออกจากบ้าน หลักๆ จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือการติดเพื่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือปัญหาภายในครอบครัว ขณะที่กลุ่มถูกลักพาตัว ในปี 2567 มีจำนวน 5 ราย อายุต่ำสุดคือ 9 เดือน สูงสุดคือ 11 ปี เพศชายถูกลักพาตัวมากกว่าเพศหญิง โดยผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจจากความเสน่หา ต้องการนำเด็กไปเลี้ยงดู รองลงมาคือผู้ก่อเหตุปัญหาความขัดแย้งกับบุคคลในครอบครัวของเด็ก ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของเด็กที่ถูกลักพาตัวคือ 4 ปี ดังนั้นเด็กวัยนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องระมัดระวัง เช่น การปล่อยให้เด็กพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรืออยู่ตามลำดัง
“ในส่วนช่วงอายุของเด็กที่หายออกจากบ้านมากที่สุด อันดับ 1 เป็นกลุ่มเด็กในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ช่วง 11-15 ปี รวม 171 คน รองลงมาเป็นช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ 16-18 ปี รวม 103 คน และกลุ่มแรกเกิด – 10 ปี 40 คน หายออกจากบ้านเป็นอันดับสุดท้าย มีข้อมูลที่น่าสนใจของช่วงปลายปี 2566 - 2567 คือมีกลุ่มเด็กและเยาวชนหายออกจากบ้านไปโดยที่เด็กถูกล่อลวงและชักจูงไปทำงานเว็บพนันออนไลน์ เป็นแอดมินเว็บ แล้วก็ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสิ้น 11 ราย อายุต่ำสุดที่ถูกหลอกไปคือ 14 ปี ถ้ามากที่สุดในกลุ่มเยาวชนคือ 22 ปี” นายเอกลักษณ์ กล่าว
นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า เด็กและเยาวชนทั้ง 11 คน ที่ถูกล่อลวงไปร่วมขบวนการมิจฉาชีพออนไลน์ เป็นชาย 7 คน และหญิง 4 คน ส่วนใหญ่ถูกหลอกไปประเทศกัมพูชา แต่ในจำนวนนี้มี 1 คน ที่ไปทำมาแล้วในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชาและเมียนมา โดยมีตัวอย่างเยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งต้องการมีรายได้ ไปค้นหาประกาศรับสมัครงานในอินเตอร์ เน็ต เจอโฆษณางานแอดมิน ให้ค่าจ้าง 15,000 บาทต่อเดือน มีสถานที่ทำงานคือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
โดยระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย หากต้องจ่ายค่าโดยสารยานพาหนะ ขบวนการจะเป็นผู้โอนเงินจ่ายให้ด้วยวิธีติดต่อทางโทรศัพท์แล้วให้เยาวชนนั้นยืนโทรศัพท์ให้ผู้ขายค่าโดยสารพูดคุย เมื่อถึงจุดนัดหมาย ก็มีรถยนต์มารับต่อเพื่อพาไปยังบริเวณชายแดน แล้วเดินข้ามช่องทางธรรมชาติเข้าไปยังเขตประเทศกัมพูชา รูปแบบการทำงาน วันแรกๆ จะมีคู่มือให้ศึกษาว่าจะหลอกเหยื่ออย่างไร และในเดือนแรกยังมีเงินเดือนให้ แต่เดือนที่ 2 จะไม่มีเงินเดือนแล้ว โดยรายได้จะมาจากส่วนแบ่ง ทำนองค่าคอมมิชชั่น ยิ่งหลอกได้มากก็จะได้ส่วนแบ่งมาก
เยาวชนรายนี้เล่าว่า ในเดือนแรกหลอกใครไม่ได้เลย แต่เดือนต่อมาก็เริ่มหลอกได้ กระทั่งทำงานไปถึงเดือนที่ 5 พบว่าตนเองไปหลอกพระให้โอนเงินมาอยู่หลายครั้ง จนได้วีดีโอคอลเห็นพระร้องไห้ ก็รู้สึกผิดไม่อยากทำงานนี้อีก ซึ่งถูกเรียกค่าไถ่ตัว 1.3 แสนบาท ประกอบกับหาช่องทางติดต่อผู้ปกครองแล้วประสานมาทางมูลนิธิกระจกเงา จนสามารถช่วยเหลือออกมาได้ ซึ่งเยาวชนรายนี้เล่าว่า โดยปกติจะไม่ถูกทำร้ายร่างกาย จะเน้นการกดดันด้วยคำพูดเพื่อให้ทำยอดการหลอกเสียมากกว่า แต่ตอนที่ถูกทำร้ายคือตอนที่ไปบอกว่าไม่อยากทำแล้วและต้องการกรับบ้าน
“เด็กอยากมีรายได้ อยากมีเงินเป็นของตัวเอง งานสำหรับเด็กถ้ามีเงินหลักหมื่นมันไม่มีงานอื่นเลย อย่างเด็กที่เป็นกรณีศึกษา เดิมทีเด็กออกจากโรงเรียน สิ่งที่เด็กทำได้คือไปรับจ้างก่อสร้าง ได้วันละ 350 บาท แต่มันหนักเกินไป เด็กก็เลยพยายามหางานที่มันสบายและได้เงินดี ดังนั้นเขาจึงหลงเชื่อว่ามันมีงานแอดมินเว็บไซต์ ซึ่งเด็กก็คิดว่าตัวเองเล่นเกมออนไลน์ ใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้คอมพิวเตอร์เป็นอยู่แล้ว น่าจะทำได้ ก็เลยไปสมัครและหลงเชื่อว่าจะได้งานและได้เงินแบบนั้นจริงๆ ส่วนใหญ่เคสที่เราสัมภาษณ์ข้อมูลมาก็จะเป็นลักษณะแบบนี้” นายเอกลักษณ์ ระบุ
นายเอกลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในเด็กและเยาวชนที่ตัดสินใจเดินทางไปตามโฆษณาชวนเชื่อหางานออนไลน์ ก็อาจมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้ว่านั่นคืองานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บางคนอาจเล่นการพนันออนไลน์อยู่แล้ว จึงต้องการหาเงินแบบที่เป็นงานสบายรายได้ดี โดยจากทั้งหมด 11 คน มี 9 คนกลับมาประเทศไทยแล้ว อีก 1 คนติดคุกอยู่ที่กัมพูชาเนื่องจากถูกจับฐานใช้ยาเสพติด และอีก 1 คสมัครใจทำงานนั้นต่อไป
ในทางกลับกัน ในปี 2567 ที่ผ่านมา ร้อยละ 85 ของเด็กที่หายไปได้รับการติดตามตัวจนพบ โดยแนวทางจะเป็นการสืบสวนเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยว่าหากผู้ที่หายไปเป็นวัยรุ่น ควรใช้การสืบสวนเป็นหลักก่อน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ภาพเด็กหายที่เป็นวัยรุ่น เมื่อเด็กกลับบ้านแล้วการกลับไปใช้ชีวิตปกติก็จะมีความยากเพราะภาพเด็กหายไปอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว ยกเว้นแต่ไม่เจอจริงๆ หรือประเมินแล้วว่าอาจเข้าข่ายการลักพาตัวและต้องการเบาะแส จึงจะใช้วิธีประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ ในวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. 2568 ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ หลายหน่วยงานมีการจัดกิจกรรม พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะพาบุตรหลานไปเที่ยว แต่งานเทศกาลหรือพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านก็มีความเสี่ยงเด็ดหายได้ ตนจึงแนะนำว่า 1.เตรียมข้อมูลสำหรับติดต่อผู้ปกครอง กรณีเด็กเล็กให้เขียนใส่ไว้ในกระเป๋า หรือก่อนออกเดินทางให้ถ่ายภาพบุตรหลานไว้ เพราะภาพนั้นรูปพรรณสัณฐานมีความเป็นปัจจุบันที่สุด จะได้ง่ายในการให้ข้อมูลเพื่อติดตามตัวหากเกิดการพลัดหลง
2.บอกเด็กถึงจุดสำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น จุดประชาสัมพันธ์หรือศูนย์อำนวยการของงานนั้น เพื่อที่หากเกิดอะไรขึ้นจะได้มาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ และ 3.ฝึกทักษะการขอความช่วยเหลือให้เด็ก เพื่อให้สามารถรับมือได้หากเกิดเหตุที่ไม่ปลอดภัยขึ้น
ด้าน พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ กล่าวถึงโครงการ DNA-PROKIDS ซึ่งเป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่ถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวง โดยเมื่อพ่อแม่ไปแจ้งความลูกหาย หากพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมาก็จะเข้ากระบวนการเก็บสารพันธุกรรมไว้เป็นฐานข้อมูล DNA ของสถาบันนิติเวชวิทยา หากภายหลังพบเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้และอาจเข้าข่ายถูกล่อลวงหรือถูกลักพาคัว ก็จะมีการเก็บสารพันธุกรรมมาตรวจสอบว่าตรงกับพ่อแม่ที่เคยแจ้งลูกหายหรือไม่
“ดังนั้นการเก็บตัวอย่าง DNA ของพ่อแม่ จะเป็นประโยชน์ในการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ที่สูญหายออกจากบ้านให้ได้กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ลูกหายสามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา เพื่อช่วยในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน ทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมาตรวจ DNA ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูล DNA ของสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ต่อไป” พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าว
พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวทิ้งท้ายกับผู้ปกครองถึงเรื่องแนวทางการป้องกันเด็กสูญหาย ว่า 1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า 2.ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน 3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ 4.สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ 5.สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 191 หรือ แจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.
ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีการนำตัวแม่ของเด็กจำนวน 3 คน ที่หายตัวไปหลายปี มาเก็บข้อมูล DNA โดยทั้ง 3 ครอบครัวประกอบด้วย มารดา ของเด็กหญิงจีรภัทร ทองชุม หรือน้องจีจี้หายตัวไปนาน 15 ปี มารดาของเด็กหญิงพัทธวรรณ อินทร์สุข หรือน้องดา หายตัวไป 11 ปี และมารดาของเด็กชายเทอญพงษ์ น้องอัษ หายตัวไปนาน 6 ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี