ไฟป่าโคราชเบาลง
หลังลุกลามหลายวัน
คาดสาเหตุเผาล่าสัตว์
ปชน.แขวะแก้ปัญหาช้า
“ไฟป่าเขาเสียดอ้าฯ” นครราชสีมา มอดดับแล้ว หลังไหม้ลามหลายวันเผยพบปลอกกระสุน-กับดักสัตว์ป่าในจุดเกิดเหตุ คาดต้นเหตุไฟป่าเผาต้อนสัตว์ป่าเพื่อการล่า กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดลำดับเหตุการณ์ระดมดับไฟทั้งภาคพื้นดิน-อากาศ จนภารกิจลุล่วง ด้าน ‘สส.เชียงใหม่ ปชน.’ ฉะแหลก ชี้งบประมาณแก้ปัญหาไฟป่า เป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามในทุกยุคทุกสมัย แนะแก้ระเบียบ ‘เงินภัยพิบัติ’ ให้หยิบใช้ฉุกเฉินได้
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลำดับเหตุการณ์ไฟป่าบริเวณเขาลอย ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน ท้องที่ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า เหตุการณ์เริ่มต้นในวันที่ 3 ม.ค.2568 (ครั้งที่ 1) มีรายงานการเกิดไฟป่าในพื้นที่ด้านหลังวัดอุดมสุข หมู่ 7 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา (กรมป่าไม้) ได้ส่งกำลังเข้าไปควบคุมจนสามารถดับได้แล้วเสร็จในช่วงมืดของวันดังกล่าว มีพื้นที่เสียหายประมาณ 200 ไร่
จากนั้น วันที่ 5 ม.ค.2568 (ครั้งที่ 2) ได้รับแจ้งเกิดเหตุไฟป่าอีกครั้งบริเวณบ้านหัวโกรก หมู่ 7 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่จากศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา (กรมป่าไม้) จึงเข้าตรวจสอบ พบไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงได้แค่เพียงบางส่วน เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่มีความลาดชัน มีหินลอยเสี่ยงตกเขา และลมที่รุนแรง ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก และต้องถอนกองกำลังลงในเวลาพลบค่ำ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไฟตลอดทั้งคืน เพื่อป้องกันไฟลุกลามเข้าพื้นที่บ้านเรือนของราษฎร
ต่อมา วันที่ 7 ม.ค.2568 (ครั้งที่ 3) ไฟได้ไหม้ลุกลาม ไปจนถึงบริเวณหน้าผาหิน สูงชัน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ จึงได้ทำแนวสกัดกั้น เพื่อตัดเชื้อเพลิงให้น้อยที่สุด ส่วนพื้นที่ด้านล่างติดกับพื้นที่ราษฎร ได้รับกำลังสนับสนุนบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เฝ้าระวังไม่ให้ลุกลามเข้าพื้นที่ชุมชน โดยกรมอุทยานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสนธิกำลัง จาก สถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ และเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพิ่มเติม โดยมีพื้นที่เสียหายไปแล้วกว่า 1,000 ไร่
วันที่ 10 ม.ค.2568 (ครั้งที่ 4) ไฟยังคงประทุขึ้นในพื้นที่บริเวณยอดเขาและหน้าผาหินชัน อีกครั้ง เนื่องจากยังมีเชื้อเพลิงสะสมในพื้นที่จำนวนมาก และไฟยังไม่ดับสนิท ประกอบมีลมแรงตลอดทั้งวัน ทำให้ยากต่อการควบคุมไฟป่า จึงได้มีการตั้งกองอำนวยร่วมฯ เฉพาะกิจ ในพื้นที่เกิดเหตุ โดยมี พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 2 ได้เข้าประชุมร่วมกับ นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา และผู้แทน รวมทั้งส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ในการติดตามสถานการณ์ และหารือแนวทางคลี่คลายสถานการณ์ โดยสั่งการให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันฯ หากเกินกำลังของทางส่วนราชการแล้ว จะจัดกำลังมาสมทบเพิ่มเติม เพื่อดับไฟป่าให้สนิทและเร็วที่สุด
กระทั่งในวันที่ 11 ม.ค. 2568 อากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้เข้ามาโปรยน้ำลงในพื้นที่หน้าผา และยอดเขา ที่เดินเท้าเข้าไปไม่ถึง ลดปริมาณความร้อนและชะลอการลุกลามของไฟลงได้ระดับหนึ่ง ตั้งแต่เวลา 15.30-18.30 น. พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเกิดเหตุตลอดทั้งคืน ซึ่งกินพื้นที่เสียหายไปกว่า 1,500 ไร่เศษ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย กรมอุทยานฯ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านครราชสีมา สถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมป่าไม้ ได้แก่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม.1 ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี และกระทรวงมหาดไทย อบต.พญาเย็น
ล่าสุด อากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) เข้าพื้นที่โปรยน้ำลดความร้อน ประกอบกับเจ้าหน้าที่เดินเท้าเข้าพื้นที่ดับไฟเพื่อจำกัดบริเวณพื้นที่เผาไหม้ ให้น้อยที่สุด แต่เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างสูงชัน สลับกับหน้าผาหิน ค่อนข้างลื่น และมีลมแรงตลอดทั้งวัน เสี่ยงอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้การเข้าพื้นที่ดับไฟค่อนข้างลำบาก โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในเวลานี้ ประกอบด้วย กรมอุทยานฯ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านครราชสีมา ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าขอนแก่นศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าแพร่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมป่าไม้ ได้แก่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม.1 ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่านครราชสีมา ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี กระทรวงมหาดไทย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา อบต.พญาเย็น กองทัพบก ได้แก่ กองกำลังมณฑลทหารบกที่ 21 และได้รับสนับสนุนอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) จำนวน 4 ลำ จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จำนวน 2 ลำ ปภ.จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 1 ลำ และ กองทัพบก มทบ.21 จำนวน 1 ลำ
ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่านครราชสีมา รายงานว่า สถานการณ์ปัจจุบันในวันนี้ (11 ม.ค.) เวลาประมาณ 14.00 น. ไฟป่าในพื้นที่ได้ดับหมดทุกจุดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อดับไฟให้สนิท ใน (แนวดำ) ทุกจุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่แจ้งว่า พบปลอกกระสุนปืน ขนาด 0.22 มม. จำนวนหนึ่ง และพบกับดักสัตว์ป่า อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นการเผาเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับล่า
ก่อนหน้านี้ นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ไฟไหม้ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรม ปภ. อบต.พญาเย็น อบต.ปากช่อง อบต.ขนงพระ อบต.หนองน้ำแดง ทต.สีมามงคล อาสาสมัคร มูลนิธิ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ในการเผชิญเหตุไฟป่าเขาลอยในครั้งนี้ ให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนฯ เขาลอย ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่พบจุดความร้อนจากไฟป่าครั้งแรกในวันที่ 3 ม.ค. จนถึงเช้ามืดวันนี้ 11 ม.ค. ก็ยังพบจุดความร้อนในพื้นที่เขาลอยอยู่ ปัจจุบันประเมินความเสียหายไว้ที่ประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งภารกิจด้านไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนฯ นั้น ถูกถ่ายโอนให้เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นั่นคือ อบต.พญาเย็น นั่นเอง แต่ปัญหาที่ตนได้อภิปรายไว้ตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เมื่อปีที่แล้วนั่นก็คือ งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้หน่วยงานต่าง ๆ กับภารกิจไฟป่านั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับท้องถิ่นที่ดูแลไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนทั่วประเทศ ที่ในปีงบประมาณ 2568 นี้ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ของบประมาณให้กับ อบต. 1,800 แห่ง มาใช้ในภารกิจป้องกันไฟป่า รวม 1,323 ล้านบาท แต่กลับได้รับอนุมัติเพียงแค่ 90 แห่ง หรือ 122 ล้านบาทเท่านั้น และกับเหตุการณ์นี้ อบต.พญาเย็น ไม่ได้งบประมาณในด้านไฟป่าเลยแม้แต่บาทเดียว
“ผมเชื่อมั่นครับ หากท้องถิ่นมีงบประมาณในการป้องกันไฟป่าที่เพียงพอแต่แรก ท้องถิ่นจะมีงบประมาณในการจัดวอร์รูมรับมือไฟป่า แนวกันไฟ หน่วยเฝ้าระวัง ลาดตระเวน หรือแม้กระทั่งหอคอยดูไฟป่า แล้วเมื่อเกิดไฟป่า ท้องถิ่นจะสามารถเข้าควบคุมได้แต่เนิ่น ๆ ไม่ลุกลามถึงขั้นที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน” สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ระบุ
นายภัทรพงษ์ ระบุว่า ปัญหางบประมาณไฟป่าไม่ได้ถูกมองข้ามแต่เพียงงบท้องถิ่น กรมอุทยานฯ ที่ดูแลไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ งบประมาณปี 2568 นี้ ตั้งคำขอไป 1,478 ล้านบาท แต่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพียงแค่ 392 ล้านบาท และกรมป่าไม้ขอไป 509 ล้านบาท แต่ก็ได้เพียงแค่ 137 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบประมาณในส่วนของโดรนตรวจจับความร้อนและเครื่องเป่าลม ก็ถูกตัดออกแทบทั้งหมด ทำให้ปีนี้อุทยานฯ ต้องนำเงินนอกงบประมาณของตัวเอง เงินที่ได้จากค่าบำรุงอุทยาน มาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้แทน และเมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เพียงพอ หน่วยงานต้องทำอย่างไรครับ “ของบกลาง”
นายภัทรพงษ์ ระบุต่อไปว่า ปัญหาในส่วนของงบกลาง ที่ปัจจุบันก็ยังไม่แม้แต่เข้าในที่ประชุม ครม. เลย ซึ่งในส่วนนี้ตนได้เสนอในการอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาลชุดนี้เมื่อเดือน ก.ย. แล้วว่า ต้องเริ่มเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาในเดือน ธ.ค. และเคาะงบอย่างช้าไม่เกินเดือน ม.ค. นี้ ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการในส่วนนี้ เพราะถึงปัจจุบันงบกลางก้อนนั้นยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงบประมาณอยู่เลย ยังไม่ได้ถูกนำเข้าที่ประชุม ครม.
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่ตนเสนอแนะไปแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. แล้วเน้นย้ำอีกรอบในการอภิปรายแถลงนโยบาย นั่นคือ เงินภัยพิบัติ หรือเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินนั่นเอง เงินก้อนนี้สำคัญมาก จะทำให้หน่วยงานสามารถหยิบนำเงินมาใช้ในเวลาฉุกเฉินได้เลย แล้วส่งหลักฐานการใช้จ่ายให้กรมบัญชีกลางในภายหลัง งบประมาณก้อนนี้ก็ยังไม่ได้แก้ระเบียบ ทำให้การใช้เงินก้อนนี้กับไฟป่าทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เราจะเห็นชัดเจนครับ ว่า ปัญหาด้านงบประมาณกับไฟป่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยถูกพูดถึง แต่เป็นปัญหาเดิมๆ ที่ถูกมองข้ามมาทุกยุคทุกสมัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี