‘กรมประมง’เดินหน้าจัดการ‘ปลาหมอคางดำ’ มั่นใจคุมได้-ปรับมาตรการเฉพาะพื้นที่
12 มกราคม 2568 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการทุ่มเทดำเนินมาตรการควบคุมและจัดการปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดในภาพรวมดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการสำรวจล่าสุดในเดือนธันวาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา ในกว่า 190 แม่น้ำและลำคลอง พบว่าพื้นที่การระบาดลดลงจาก 19 จังหวัด เหลือ 17 จังหวัด โดยจังหวัดปราจีนบุรีและพัทลุงที่พบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำในปริมาณที่น้อยมากหรือแทบไม่พบเลย และขณะที่จังหวัดอื่นพบปลาลดลงอย่างต่อเนื่อง
“กรมประมงยังคงเดินหน้าปฏิบัติการควบคุมและจัดการปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้นผ่าน 7 มาตรการหลัก พร้อมบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้การจัดการปัญหาครอบคลุมทุกมิติ สนับสนุนให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจของภาคการประมง และความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำธรรมชาติ” อธิบดีกรมประมง กล่าว
สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ซึ่งกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีความคืบหน้าสำคัญในหลายด้าน อาทิ การวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ การขยายผลโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" ที่ประสบความสำเร็จจากจังหวัดสมุทรสงคราม การผลิตน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ และการลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตน้ำหมักชีวภาพ และการทำน้ำปลา เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมประมงยังเน้นดำเนินการเพื่อควบคุมและลดประชากรปลาหมอคางดำตาม 7 มาตรการหลัก ดังนี้
มาตรการที่ 1 การเร่งกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการจัดการปลาหมอคางดำในบ่อเกษตรกรและบ่อร้าง พร้อมนำโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" จากจังหวัดสมุทรสงครามเป็นโมเดลขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ รวมถึงการต่อยอดกองทุนกากชา เพื่อช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในการลดประชากรปลาในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง เป็นต้น
มาตรการที่ 2 การปล่อยพันธุ์ปลานักล่าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อควบคุมและตัดวงจรปลาหมอคางดำ
มาตรการที่ 3 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อขยายการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำหมักชีวภาพ น้ำปลา และการหมักจุลินทรีย์สำหรับใช้ในบ่อเลี้ยงกุ้ง
มาตรการที่ 4 การปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับให้เข้มงวดโดยมีมาตรการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” เมื่อพบปลาหมอคางดำให้แจ้งกรมประมงทันที เพื่อเอื้ออำนวยให้มีการจัดการปัญหาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระเบียบการขนย้ายปลาหมอคางดำข้ามพื้นที่ระบาดตามประกาศ
มาตรการที่ 5 การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงผลกระทบและการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกประมงจังหวัดทุกพื้นที่ทั้งพื้นที่ที่มีการระบาด และพื้นที่กันชนหรือใกล้เคียงยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
มาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยล่าสุดมีความคืบหน้าในการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งขณะนี้กรมอกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลการทดลองเลี้ยงปลา 4n ในพื้นที่จำลองธรรมชาติ
มาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นมาตรการที่กรมประมงให้ความสำคัญมาก โดยพื้นที่ใดที่มีประชากรปลาหมอคางดำลดน้อยลงมากจนเป็นพื้นที่สีเขียว กรมประมงจะดำเนินการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศโดยอาศัยฐานข้อมูลปลาประจำถิ่นในแต่ละจังหวัดที่กรมมีอยู่แล้ว
“ความทุ่มเทของทุกภาคส่วนในการควบคุมสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการที่ดำเนินการ และกรมประมงยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการจัดการให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต” อธิบดีกรมประมง กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี