“อยากบอกว่าผมไม่ได้โกรธหรือเกลียดพ่อเพราะผมเชื่อว่าตอนนั้นพ่อก็เป็นเด็กเหมือนผมตอนนี้”
ความในใจจาก “เอ (นามสมมุติ)” เยาวชนชายที่ “ก้าวพลาด” ถูกจับในคดีใช้ความรุนแรง แต่ยังได้รับ “โอกาสที่ 2” เมื่อถูกส่งไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก และได้เข้ากระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเจ้าตัวยังยกตัวอย่าง “กิจกรรมวิเคราะห์ข่าว” ที่ในแต่ละวันเยาวชนทุกคนจะได้รับโจทย์เป็นข่าวต่างๆ ที่คนทั่วไปพบเห็นผ่านสื่อ ซึ่งหลายครั้งก็เหมือนกับเห็นตนเองไปอยู่ในเนื้อข่าวเหล่านั้น เป็นการทบทวนชีวิตของตนเองไปในตัว
แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เด็กชายเอเติบโตมาในสภาพที่คลอดได้เพียง 3 วัน พ่อแม่ก็แยกทางกันเด็กชายเอถูกส่งไปอยู่กับย่าซึ่งมีกิจการร้านขายของชำ แต่ย่าก็ป่วยเป็นโรคไต ร้านของย่าอยู่ในชุมชนแออัด สภาพบ้านเรือนชิดกันเกือบจะดูคล้ายกับสลัม และมีปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดย่าเลี้ยงเด็กชายเอจนถึงเรียนจบชั้น ป.3 จึงส่งออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะเห็นว่าตนมีปัญหาติดเกม วันๆ ไปอยู่แต่ที่ร้านเกม
เด็กชายเอไปอยู่ต่างจังหวัด เรียนจนจบชั้น ป.6 จากนั้นเมื่อเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษา เริ่มคบเพื่อนซึ่งพบว่าเพื่อนมีพฤติกรรม “เล่นยา” ใช้สารเสพติดแต่เวลานั้นเด็กชายเอยังคงไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแม้จะใช้ชีวิตกับอยู่เพื่อนกลุ่มนี้ก็ตาม แต่พฤติกรรมติดเพื่อนนั้นก็รุนแรงขนาดไม่ยอมเข้าบ้าน ไปอยู่แต่ที่บ้านเพื่อนตลอด และ “โดดเรียน” ไม่ยอมไปโรงเรียน ซึ่งตนก็บอกพ่อว่าขอ “ดร็อป”ในตอนแรกพ่อไม่ยอม ตนก็ไม่ไปเรียนเสียดื้อๆ จนท้ายที่สุดพ่อก็ต้องยอม
จากต่างจังหวัด เด็กชายเอหวนกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ อีกครั้ง คราวนี้พ่อพาไปฝากกับผู้เป็นอาและพาไปสมัครเรียน แต่เวลานั้นเป็นช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์ เอยอมรับว่าตนไม่ได้เรียนหนังสือเลย จับคอมพิวเตอร์ทีไรก็ใช้เพื่อเล่นเกมเท่านั้น แต่ก็ยังผ่านชั้น ม.1 มาได้ กระทั่งเมื่อขึ้นชั้น ม.2 คราวนี้อาการหนักเพราะติดทั้งเพื่อนและผู้หญิงจนโดดเรียนทุกวัน โดยที่อาก็ไม่รู้เพราะออกไปทำงานก่อนที่ตนจะออกจากบ้าน หรือวันที่ตนออกจากบ้านก่อนก็จะแต่งชุดนักเรียน
“ครูเขาโทรไปบอกพ่อว่าทำไมผมไม่เข้าเรียนเลย พอเขาคุยกับครูเสร็จพ่อก็โทรมาหาผมบอกว่าถ้าไม่ไปโรงเรียนก็แต่งชุดอยู่บ้านไปเลย นอนอยู่บ้านไปเลยไม่ต้องไปเรียน (พ่อประชด) แต่ก็เข้าทางผม เช้าวันต่อมาผมแต่งตัวปกติไปนั่งกับเพื่อนที่ใส่ชุดนักเรียนซึ่งโดดเรียนมา ก็พากันใช้ความรุนแรง เกาะกลุ่มใช้สารเสพติด มีกัญชา น้ำกระท่อม อย่างอื่นผมไม่ยุ่ง” เอ กล่าว
เด็กชายเอเติบโตเป็นนายเอ พฤติกรรมติดเพื่อนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมเข้าบ้าน รวมกลุ่มเพื่อนใช้ความรุนแรงจนถูกจับในคดีทำร้ายร่างกาย ในตอนแรกถูกส่งเข้าไป “คุกเด็ก” หรือสถานพินิจและคุ้มครองเด็กแห่งอื่น และยังคงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงและเอาอารมณ์เป็นที่ตั้งก่อเรื่องข้างในนั้นจนถูกจับขังเดี่ยว แต่ในใจก็คิดว่าไม่อยากอยู่ในสถานพินิจฯ แห่งนั้นแล้ว ทำอย่างไรจึงจะออกไปได้ ซึ่งก็เป็นจังหวะที่ทางบ้านกาญจนาฯเข้ามาสอบถามหาคนสมัครใจไปอยู่พอดี
สิ่งที่เด็กหนุ่มรู้สึกว่าบ้านกาญจนาฯ แตกต่างจากสถานพินิจฯ แห่งอื่น คือ “บรรยากาศที่เป็นมิตร”สัมผัสได้ถึงความใส่ใจมากกว่าจะเป็นการคุมเข้ม ดังที่นายเอให้นิยามสถานที่แห่งนี้ว่า “ไม่เล่นกับด้านมืด..แต่พยายามแสวงหาแสงสว่างในตัวคน”จนเมื่อเวลาผ่านไป พ่อที่มาเยี่ยมก็ถึงกับถามว่า “ทำไมเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้?” เพราะเห็นว่าดูโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นและใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งน้อยลง ทั้งนี้ นายเอย้ำว่า ที่นำเรื่องของตนเองมาบอกเล่า ก็หวังให้เด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ไม่เดินซ้ำรอย และหากวันนั้นตนตั้งใจเรียนหนังสือ ชีวิตน่าจะดีกว่านี้เพราะพ่อก็ตั้งใจส่งเสียเต็มที่
นายเอ บอกเล่าชีวิตของตนในงานกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 เสวนา“ความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทย…ที่ขาดแคลนการลงทุน” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 ม.ค. 2568ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ
จากเรื่องราวของนายเอที่ยังเป็นหนุ่มวัยรุ่น“ปุ๊” เป็นชื่อเล่นของชายวัยสามสิบเศษ ที่ชีวิตผ่านเรื่องหนักๆ มาเช่นกัน นายปุ๊ บอกเล่าในงานนี้ว่าตนเองเป็น “ลูกคนกลาง” มีพี่ชายกับน้องสาว ทั้ง 3 ชีวิตเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงเนื่องจาก “พ่อติดเหล้า” เมาแล้วชอบทำร้ายร่างกายแม่ จนในที่สุดแม่ทนไม่ไหวก็หนีไป ขณะที่พ่อกับลูกๆ ทั้ง 3 คน ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ แต่เป็นการย้ายเข้ามาแบบไร้จุดหมาย พ่อทำงานก่อสร้างแต่ก็ทำๆ หยุดๆ อาศัยหลับนอนตามวัดพึ่งพาข้าวปลาอาหารจากพระ และถึงขั้นที่เด็กชายปุ๊เคยไปนั่งขอทานบนสะพานลอย
“มีพลเมืองดีไปแจ้งตำรวจ ผมก็โดนจับส่งไปที่มูลนิธิ แต่ให้แยกกันอยู่ (พี่สาวและน้องชายไปอยู่อีกที่หนึ่ง) ตอนนั้นยังเล็กมากไม่รู้ความเลยว่าไปแล้วต้องเจออะไรบ้าง พ่อก็หายไปสักพักหนึ่งแล้วก็พอเขารู้ว่าเราอยู่จุดไหนเขาก็มาเยี่ยมบ้างอะไรบ้าง แต่ไม่นานก็ไม่ติดต่อมาอีกเลย ผมก็ไม่ทราบว่าเขาไปอยู่อย่างไรบ้าง”ปุ๊ กล่าว
แม้ชีวิตในมูลนิธิแห่งนั้นทำให้ปุ๊ได้รับโอกาส นั่นคือ “การศึกษา” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเติบโต เพราะ “บาดแผลทางกายและใจที่เคยได้รับในวัยเด็ก” สมัยที่ยังอยู่กับพ่อและมักถูกพ่อที่เมาสุราทำร้ายร่างกาย นายปุ๊ เล่าต่อไปถึงชีวิตในโรงเรียน แม้จะมีเพื่อนแต่เวลาเรียนก็มักเหม่อลอยมองออกไปนอกหน้าต่าง “ชีวิตไม่มีเป้าหมาย..ไม่รู้จะเรียนไปเพื่ออะไร” และแม้โดยนิสัยจะไม่ชอบใช้ความรุนแรง แต่บางครั้งก็อดไม่ได้เมื่อถูกเพื่อนล้อเลียนเรื่องการเป็นเด็กกำพร้า ทำให้มีเรื่องชกต่อยอยู่บ้าง
เมื่อข้ามพ้นวัยเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มเต็มตัว ปุ๊เริ่มคิดได้แล้วว่า “มีแต่การเรียนเท่านั้นที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากชะตากรรมที่เป็นอยู่” เด็กหนุ่มสามารถเรียนจนจบชั้น ม.6 พร้อมๆ กับช่วยเหลืองานมูลนิธิในการดูแลเด็กๆ ที่ก็ถือเป็นรุ่นน้องไปด้วย จากนั้นปุ๊ตัดสินใจออกไปหางานทำพร้อมๆ กับส่งตัวเองเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย และใช้เวลา 5 ปี จึงเรียนจบระดับ ป.ตรี และสิ่งที่คัดสินใจทำหลังจากเรียนจบคือการ “ตามหาแม่” ซึ่งปุ๊ก็สืบจนรู้ว่าแม่ที่พลัดพรากกันไปตั้งแต่ยังเด็กอยู่ที่ใด แต่ก็ต้องแลกมาด้วย “ความจริงอันเจ็บปวด” เมื่อได้พบ
“เราก็ไปสืบที่เขต เขาก็อำนวยความสะดวกช่วยเหลือ จนเราได้ไปเจอเขา เราก็มีทุนในส่วนหนึ่งบ้าง เงินเก็บเราบ้าง ก็ไปสร้างห้องน้ำซ่อมแซมบ้านให้ แต่สิ่งที่เราไปเจอ มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลย สิ่งที่เราเห็นวันนั้น แม่พูดกับเราว่าเขาตั้งใจที่จะทิ้งเรา วันต่อมาพี่สาวกับน้องชายก็มองหน้ากัน นี่หรือคือสิ่งที่เราโหยหามาทั้งชีวิต?ถ้าเราเจอแม่ก็คงได้มีอย่างคนอื่นเขาบ้าง ก็เลยกลับกรุงเทพฯ ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย” ปุ๊ เล่าถึงวินาทีที่พบกับผู้เป็นแม่
หลังรับรู้ความจริงที่เจ็บปวดจากปากผู้เป็นแม่ แม้ในใจจะไม่ได้กล่าวโทษแม่และคิดว่าด้วยช่วงวัยและเวลาแบบนั้นแม่อาจมีเหตุผลหรือความจำเป็นบางอย่างที่ทิ้งตนไป และตนก็พยายามรวบรวมกำลังใจเพื่อจะ “ยืนหยัด” มีชีวิตอยู่ต่อไปไห้ได้ด้วยทัศนคติที่ดี แต่ชายหนุ่มก็ยอมรับว่า “เสียศูนย์” ไปช่วงระยะเวลาหนึ่งเหมือนกันก่อนจะกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว “หากวันนั้นไม่ตั้งใจเรียนวันนี้ก็คงไม่มีอนาคต” ชีวิตอาจไปจบลงด้วยการติดคุกตะราง แต่การได้เรียนหนังสือทำให้ตนมีวิธีคิดมากขึ้น
ขณะที่ เตชาติ์ มีชัย ประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีความผูกพันกับนายปุ๊ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยทำงานในมูลนิธิแห่งนั้นที่ปุ๊เติบโตมา กล่าวเสริมว่า ในเวลานั้นตนเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เข้าทำงานในมูลนิธิในภารกิจช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน “เมื่อครอบครัวไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่..เด็กจึงตัดสินใจออกจากบ้านมาเร่ร่อน” โดยงานของตนคือการเป็น “ครูอาสา” ให้กับเด็กเหล่านี้ทั้งที่ยังเร่ร่อนอยู่และที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิแล้ว
คำถามที่ เตชาติ์ ได้ยินจากปากเด็กๆ อยู่บ่อยครั้งคือ “เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน?”, “เมื่อไหร่จะได้มีบัตรประชาชน?”, “เมื่อไหร่พ่อแม่จะมารับ?”,“จะเรียนไปเพื่ออะไร?” แม้กระทั่งกรณีของปุ๊กว่าจะเรียนจบได้ ในช่วงวัยรุ่นที่เป็นเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ก็ถึงขั้นต้องไปนั่งเฝ้าหน้าห้องสอบบ้าง ไปตามตัวจากร้านเกมบ้าง พยายามหาเวลาพูดคุยอบรมกัน จนได้รู้ว่า ปุ๊อยากเป็นนักกีฬา จึงแนะนำว่าหากอยากเป็นก็ต้องตั้งใจเรียน และแม้เราจะเลือกเกิดไม่ได้แต่สามารถเลือกทางเดินได้
“หลายคนก็ไปจบ ป.โท เป็นครูบาอาจารย์แต่ส่วนน้อยไม่เกิน 3% อีก 97% คือหลุดจากสังคม เขารู้สึกว่าเขาไม่มีรากเหง้า ตรงนี้ก็หมายความว่ามันยังวนเวียน แล้วพอมารู้จักป้ามล (ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก)ก็ยังเห็นเด็กที่หนักขึ้นไปอีก หลังจากที่เราเห็นเด็กที่มีปัญหา ครอบครัวมีปัญหา เราเห็นแค่ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ แต่เราไม่เห็นปลายทาง ถ้าไม่มีคนดูแล ปลายทางก็เหมือนน้องเอ (ก่อคดีแล้วถูกจับกุมต้องไปอยู่ในสถานพินิจฯ)” เตชาติ์ กล่าว
มุมมองจากแพทย์ “หมอโอ๋” ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้ก่อตั้งเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวถึงแนวคิดที่ว่า “อาชญากรเด็ก..เด็กเป็นเองไม่ได้” การที่เด็กคนหนึ่งติดเพื่อน ติดเกม ไม่เรียนหนังสือ ฯลฯ มันมีรากของปัญหาเสมอ “เมื่อเด็กไม่ได้โตมากับความรัก..เมื่อคนที่ควรจะรักเขาที่สุดไม่ได้ให้สิ่งนั้น..เด็กจึงไปโหยหาเอากับสิ่งอื่น” เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการความรัก ต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่ใช้ได้และมีความหมาย
แต่เมื่อคนคนหนึ่งไปแสวงหาความรักจากสิ่งอื่นภายนอก (เช่น เพื่อน) ก็ต้องแล้วแต่ว่า“สิ่งนั้นจะพาไปทางไหน?” อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของทั้ง 2 คนข้างต้น ก็ทำให้เห็นความสำคัญของ“การมีอะไรบางอย่างเป็นหลักให้ยึด” ดังกรณีของนายเอ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อมีโอกาสได้ไปอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ทำให้เห็นว่า ท่ามกลางความวุ่นวายจากปัญหาต่างๆ ที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญจริงๆ แล้วคนคนนั้นก็ยังมีแสงสว่างอยู่ภายใน และได้เริ่มเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งแสงสว่างขึ้น ณ ที่แห่งนั้น รดน้ำพรวนดินจนงอกงาม
“วันหนึ่งที่เขาขึ้นมาเล่า วันหนึ่งที่เขาพูดว่าเขาเข้าใจพ่อ “พ่อคือเด็กคนหนึ่งเหมือนกัน” เอาจริงๆ มันเกิดจากการเติบโตที่ไม่ได้เกิดจากการไปชี้ด่าว่าทำไมแกมันไม่ได้เรื่อง? ทำไมถึงเละเทะแบบนี้? ทำไมถึงเป็นอันธพาล? ทำไมถึงใช้ความรุนแรง? แต่มันเป็นการสร้างแล้วก็บ่มเพาะจากการเชื่อมั่นว่าทุกคนมีด้านสว่างในตัวเองแล้วพอเขาเติบโตอย่างมั่นคงภายใน เขาสามารถที่จะมองเห็นความเป็นมนุษย์ในบุคคลอื่นๆ” หมอโอ๋ ยกตัวอย่างเรื่องเล่าของเอ
หมอโอ๋กล่าวต่อไปว่า “พ่อแม่ไม่ใช่พระอรหันต์..แต่เป็นมนุษย์ที่สามารถทำผิดพลาดล้มเหลวได้” หรือกรณีของปุ๊ก็เป็นตัวอย่างว่าไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่รักลูก ดังนั้น หากเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างจากตัวเรา เมื่อนั้นเราก็อาจเลือกที่จะให้อภัยและเข้าใจว่าเขาก็ทำดีที่สุดของเขาได้เท่านั้น ซึ่งการให้อภัยไม่ได้หมายความว่าทำให้เขาพ้นผิด แต่เพื่อละวางความทุกข์ที่ตัวเราแบกไว้
ด้าน ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกกล่าวว่า กรณีของปุ๊ที่รู้สึก “ดิ่ง” เมื่อตามหาแม่จนพบแต่แม่กลับบอกว่าตั้งใจทิ้งไปเอง เรื่องนี้ทำให้มีคำถามต่อไปว่า “ชีวิตของแม่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร?..กระท่อนกระแท่นมาขนาดไหน?..และใครได้เยียวยาแผลใจของแม่บ้าง?” มุมมองเหล่านี้อาจไม่เคยมีในสังคมไทย และเป็นมุมกลับเช่นกัน แต่การที่ให้อภัยคนเป็นแม่ก็เท่ากับให้อภัยตนเองและอาจเชื่อมโยงกับการที่ตัวเราจะมีอนาคตต่อไปด้วย
“กว่าผู้หญิงหรือผู้ชายคนหนึ่งตัดสินใจจะปฏิเสธลูกตัวเอง หันมาบอกกับเราแล้วเราก็ดิ่งไปเลยว่า ‘ฉันตั้งใจจะทิ้งเธอนะ!’ มันกำลังเล่าว่าในอดีต ในวันที่แม่เป็นเด็ก แม่เป็นลูกของใครสักคนหนึ่ง แม่ก็ต้องบาดเจ็บน่าดูเลย ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ที่มันไม่ถูกเยียวยา มันจะอยู่กับเขายาวตลอดไป ดังนั้นเขาไม่สมควรที่จะถูกเกลียดชัง แต่สมควรที่จะได้รับการให้อภัย” ผอ.บ้านกาญจนาฯ กล่าว
ผอ.บ้านกาญจนาฯ กล่าวต่อไปว่า อย่างในกรณีของเอ ที่สามารถพูดออกมาได้ว่าพ่อของตนในวันนั้นก็ยังเป็นเด็กคนหนึ่งเหมือนกับตนในวันนี้ ซึ่งก็คงไม่รู้อะไรเลย ยังเป็นหนุ่มวัยรุ่น ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับพ่อของเอ ก่อนที่เอจะมาบอกเล่าชีวิตในงานนี้ ซึ่งพ่อก็บอกว่าอยากรู้เหมือนกันว่าตนได้ทำอะไรให้ลูกชายบาดเจ็บขนาดไหน เพราะตนกับลูกที่ผ่านมาก็ไม่เคยคุยกัน ดังนั้น จึงเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กหากถูกนำมาพูดคุยกัน ไม่ซุกไว้ใต้พรมก็คงไม่กลายเป็นของเน่าเหม็น
ยังมีเสียงสะท้อนจากตัวแทน “กลุ่มผู้ถูกเจียระไน” ซึ่งเป็นอดีตเยาวชนที่เคยอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ที่กล่าวเสริมว่า ในขณะที่สถานพินิจฯ ใช้งบประมาณวันละ 4-5 ล้านบาท หรือเรือนจำที่ใช้งบประมาณวันละ 20 ล้านบาท “แต่เมื่อดูต้นตอของปัญหาจะพบรูปแบบที่เหมือนกันเช่น เผชิญความรุนแรงในบ้าน บ้านไม่น่าอยู่ อยู่แล้วไม่มีตัวตน ก็ไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่คิดว่าเป็นบ้าน แล้วก็พากันไปทำผิดกฎหมายถูกจับและโดนตีตราว่าเป็นเด็กมีปัญหา” คำถามคือปัญหามาจากเด็กหรือผู้ใหญ่? หากมองเข้าไปลึกๆ ถึงระบบโครงสร้าง
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ตั้งคำถามว่า “ในขณะที่ผู้ใหญ่คาดหวังกับเด็ก..คำถามคือผู้ใหญ่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและดีพอกับการคาดหวังนั้นหรือไม่?” เพราะเมื่อมองไปรอบด้านจะเห็นปัญหาอบายมุขเข้ามาใกล้ตัวมากเช่น ข้อมูลในปี 2565 ชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงตัวเด็กเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า ภายในเวลาเพียง 7 ปี
ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งต้องยอมรับว่าทำการตลาดทำมาดีมาก และมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนเป็นสำคัญเพราะต้องการผู้บริโภครายใหม่โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลเชื่อมโยงกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ตามที่มีข้อมูล ณ ปี 2564 พบว่า มีผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับเฉลี่ย 2,200 รายต่อปี
“เห็นไหมว่ามันเพียงพอไหมกับที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องดูแลอนาคตเด็กให้ปลอดภัย ให้อยู่รอด เราทำกันดีพอแล้วหรือยัง? ในอีกหลายๆ เรื่อง เรื่องการพนันก็ไม่แพ้กัน เรามีตัวเลขอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าคน ที่มีโอกาสเข้าสู่วงจรนักพนันหน้าใหม่ ไม่น้อยนะที่เขาจะก้าวเข้ามาแล้วไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยังไม่นับกลุ่มที่ถูกหลอกลวงจากออนไลน์ทั้งหลาย ผู้ใหญ่ยังถูกเลยในการถูกหลอกลวง เยาวชนก็ถูกหลอกลวงด้วยเช่นกัน” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า จากกิจกรรมวันเด็กตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น ถามคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรี เด็กคนไหนตอบได้มีรางวัลให้ ทำให้เกิดคำถามว่าเราสามารถทำอะไรมากกว่านี้ได้บ้างหรือไม่ และคิดว่าในงานวันเด็กที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่มารวมกันเป็นจำนวนมาก “ทำอย่างไรจะให้รับรู้ถึงสิทธิเด็ก แน่นอนว่าคงไม่ได้หวังให้เด็กเล็กๆ รับรู้อะไรมาก ที่สำคัญกว่าคือพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ต่างๆ ที่นำของขวัญมาให้เด็ก ทราบกันหรือไม่ว่าสิทธิเด็กคืออะไร” ซึ่งประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาแล้ว
หรือ “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เด็กได้รับผลกระทบ มีใครนำปัจจัยร่วมต่างๆ มาคุยกันหรือไม่ ความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นบ่มเพาะอะไร สร้างบาดแผลให้เด็กบ้างหรือไม่” จึงเกิดแนวคิดว่าจะใช้โอกาสของวันเด็กแห่งชาติสื่อสารเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ทำเองไม่ได้ ในขณะที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีบ้านพักเด็กและครอบครัวอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในที่พึ่งเมื่อเด็กมีปัญหา อีกทั้งกลไกของบ้านพักเด็กซึ่งจัดงานวันเด็กร่วมกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ในพื้นที่ ก็สามารถสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปได้
อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในปี 2567ที่ผ่านมา ได้รับเรื่องขอความช่วยเหลือหรือสอบถามข้อมูล ราว 188,000 เรื่อง ในจำนวนนี้ 26,000 เรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กและเยาวชน และจากเรื่องขอความช่วยเหลือทั้งหมด พบว่า ความรุนแรงติด 1 ใน 5 อันดับแรก
“กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สสส. ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้จัดกิจกรรมขึ้นโดยใช้โอกาสสำคัญคือวันเด็กแห่งชาติ เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการที่จะมาดูเรื่องความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทยที่ขาดแคลนการลงทุนร่วมกันซึ่งก็คิดว่าโอกาสในครั้งนี้ที่ใช้วันสำคัญของเด็กๆ ของเรา ก็คือวันเด็กแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่มันเกิดขึ้นจากความรุนแรงในครอบครัว ที่มันจะส่งไปถึงเด็กแล้วก็จะกลายเป็นความรุนแรงข้ามรุ่นของเด็กและเยาวชน” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี