ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” สั่งตรวจโรงแรม สถานประกอบการแบบเข้มข้น ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ไม่ใช่แค่ตรวจตามกฎหมาย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงมาตรการความปลอดภัยของโรงแรมและสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการดำเนินการแก้ไขทั้งระยะสั้นในการเข้าไปตรวจสอบโรงแรม ได้สั่งการให้มีการตรวจอย่างเข้มข้นรวมถึงสถานประกอบการด้วย โดยเอาประสบการณ์จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นมาปรับในการตรวจให้ละเอียด ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตรวจตามกฎหมายเท่านั้น และในระยะยาวต้องมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีการตรวจสอบระบบความปลอดภัยของอาคารสถานประกอบกิจการโรงแรมและสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี 2566 โดยมีทั้งการตรวจปกติและการตรวจแบบเร่งด่วน โดยเฉพาะการตรวจหว่านเพื่อรับมือป้องกันช่วงก่อนเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ จะมีการให้คำแนะนำให้แก่โรงแรม เช่น การทำสัญญาณไว้ในระดับหมอบคลานไม่ใช่ระดับสายตา เนื่องจากหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ควันจะมีการลอยขึ้นสูง และจะมีการตรวจสอบสถานประกอบการ Hostel โดยใช้ระเบียบความปลอดภัยตามกฎกระทรวง เป็นการตรวจให้คำแนะนำขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงและคำแนะนำเพิ่มเติมจากกรุงเทพมหานคร สำหรับการเติมสารในถังดับเพลิงที่มีการใช้ไปจะสามารถใช้เงินได้จาก 3 หมวด คือ เงินของชุมชนที่สำนักพัฒนาสังคมทำการจัดสรรให้ งบสองแสนของชุมชน และงบจากสำนักงานเขต
ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานคร ได้ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบระบบความปลอดภัยของอาคารสถานประกอบกิจการโรงแรมและสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้บริการ โดยให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาแนวทางเพื่อป้องกันเหตุ 8 ประการ ประกอบด้วย 1.ทุกโรงแรมควรดำเนินการติดสปริงเกอร์ 2.ทุกโรงแรมควรมีบันไดหนีไฟแบบบันไดลิงเพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถช่วยเหลือตัวเองและหลีกเลี่ยงการกระโดดจากตึกสูง 3.ควรมีการติดตั้งไฟฟ้าบริเวณโถงทางเดินอย่างชัดเจน ในกรณีที่มีการหมอบคลานในการอพยพ 4.ควรมีการอบรมในซ้อมหนีไฟมากกว่า 1 ครั้ง/ปี และให้โรงแรมมีการจัดการอบรมภายในให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 5.แผนผังที่ระบุบันไดหนีไฟ ทางเดินหนีไฟควรมีขนาดใหญ่ มีไฟฟ้าส่องสว่างชัดเจนและติดตั้งในจุดที่เห็นชัด เน้นย้ำให้มีการติดกริ่งเตือนภัยที่ได้มาตราฐาน เสียงดังชัดเจน 6.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สปภ. อปพร. สำนักงานเขตควรมีแปลนของโรงแรม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ถูกจุด และให้เจ้าหน้าที่โรงแรมมีระบบกุญแจ Master key ในการช่วยเหลือเร่งด่วนหากมีผู้ประสบภัยติดอยู่ในห้อง 7.โรงแรมควรมีพื้นที่ในการระบายควันหรือมีกระจกห้องพักที่เปิดได้รอบด้าน เพื่อให้ระบายควันไฟได้ดี ลดอัตราการสำลักควัน และ 8.สำนักงานเขตควรมีอุปกรณ์และแผนมาตรการป้องกันเหตุอัคคีภัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี