‘โสภณ ซารัมย์’ ท้ารัฐบาลลงพื้นที่พิสูจน์ผลดำเนินโครงการ ‘รวมพลังรักศรัทธา แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ’ จากความร่วมมือทั้งภาคการเมือง ส่วนราชการ และภาคประชาชน ได้ผลจริง หลังดำเนินการ 2 เดือน สามารถดึงผู้หลงกลับคืนครอบครัว และสังคมได้เกินครึ่ง
13 ม.ค.68 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และประธานชมรมคนทำดีเพื่อพ่อของแผ่นดิน พร้อมด้วยนายศักดิ์ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์,นายรัฐพล ซารัมย์ ประธานมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ร่วมกับนายอำเภอ,ผู้กำกับการสถานีตำรวจ,สาธารณสุข , ผอ.โรงพยาบาล ทั้ง 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ลำปลายมาศ คูเมือง พุทไธสง หนองหงส์ นาโพธิ์ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ได้แถลงความก้าวหน้าโครงการ ‘รวมพลังรักศรัทธา แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ’ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ณ ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลคูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ มูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการด้านต่างๆ ส่วนนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และภาคเอกชน ร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาผู้เสพยาบ้าที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม การลักทรัพย์ ความผิดปกติทางจิต และปัญหาสังคมอื่นๆ
ซึ่งผลการดำเนินโครงการนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ได้เริ่มดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ตัดวงจรผู้ค้าเพื่อลดจำนวนผู้เสพรายใหม่ บำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพรายเก่า โดยมีการดำเนินงานดังนี้
ฝ่ายปกครองและตำรวจ ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้ค้ายาเสพติด ผลการจับกุม 40 คดี พบผู้ค้า 63 ราย ยึดยาบ้า 438,496 เม็ด และยาไอซ์ 0.3 กรัม ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายสาธารณสุขค้นหาและคัดกรองผู้เสพในพื้นที่ 22 หมู่บ้านนำร่องใน 6 อำเภอ โดยมุ่งเน้นกลุ่มประชากรอายุ 13-60 ปี จากจำนวนผู้เข้ารับการคัดกรองทั้งหมด 6,300 คน พบผู้เสพยาเสพติด 501 คน คิดเป็น 8% ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย ทั้งนี้ หากดำเนินการคัดกรองในประชากรทั้งหมด (ประมาณ 150,000 คน) คาดว่าจะพบผู้เสพสูงถึง 12,000 คน ซึ่งเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขในปัจจุบันจะรองรับได้ จึงต้องบูรณาการกับเครือข่ายชุมชนและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง ถึงจะสามารถบำบัดรักษาผู้เสพยาได้อย่างมีคุณภาพ
โดยแนวทางการแก้ไขดูแลบำบัดรักษา มีดังนี้ 1. กลุ่มผู้เสพที่ไม่มีอาการทางจิต ดูแลโดยชุมชนล้อมรักษ์ (Community-Based Treatment: CBTx) ฝ่ายปกครองร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ติดตามและบำบัดในระยะเวลา 16 สัปดาห์ กรณีที่ผู้เสพไม่มารายงานตัวหรือตรวจพบปัสสาวะเป็นบวก จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์บำบัดระดับอำเภอ (ศูนย์ CI) 2.กลุ่มผู้เสพที่มีอาการทางจิต ส่งรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยมีฝ่ายปกครองและตำรวจดูแลความปลอดภัย การรักษาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฉับพลัน (1-14 วัน) รักษาอาการก้าวร้าว อาการถอนพิษยา และอาการทางจิต ระยะกลาง (15-30 วัน) เฝ้าระวังภาวะถอนพิษยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ระยะยาว (60-120 วัน) ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ พร้อมฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมกลับสู่ชุมชน เนื่องจากศูนย์บำบัดมินิธัญรักษ์ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจึงมีแผนขยายศูนย์บำบัดเพิ่มเติม และในอนาคตจะพัฒนาการจัดแยกผู้ป่วยจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา
ซึ่งภายหลังจากแถลงผลการดำเนินโครงการฯแล้ว นายรัฐพล ซารัมย์ ประธานมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ยังได้มอบเงินสนับสนุนให้โรงพยาบาลปรับปรุงอาคาร เพื่อแยกผู้ป่วยทั่วไปออกจากผู้ป่วยที่เสพยาเสพติด จำนวน 900,000 บาท และมอบเงินให้หน่วยงานที่มีผลงานปราบปรามยาเสพติดอีก จำนวน 120,000 บาท
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โครงการ ‘รวมพลังรักศรัทธา แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ’ เป็นความร่วมมือทั้งจากฝ่ายการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น ภาคราชการ และภาคประชาชน ในการร่วมมือกันทั้งป้องกัน ปราบปราม บำบัดฟื้นฟู ฝึกทักษะอาชีพสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งผลการดำเนินการตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมีผู้เข้าบำบัดฟื้นฟูประมาณ 700 คน สามารถดึงกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากบำบัดฟื้นฟูแล้ว ยังมีการฝึกทักษะฝีมือเพื่อให้นำไปประกอบอาชีพไม่หวนกลับมาเสพซ้ำ
และในปี 2568 ก็ยังจะดำเนินการต่อเนื่องแต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป โดยจะเน้นการสร้างแรงจูงใจหากหมู่บ้านไหนปลอดยาเสพติด เป็นหมู่บ้านสีขาว ก็จะมีเงินรางวัลไปพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งเป้าหมายหลักของโครงการนี้ ก็เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดสิ่งที่อำเภอต่างๆสะท้อนคือ ต้องการแยกผู้ป่วยจากการติดยาเสพติด ออกจากผู้ป่วยทั่วไป แต่อาจจะยังติดขัดเรื่องสถานที่และงบประมาณ จึงอยากให้ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้
นายโสภณ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การดำเนินโครงการรวมพลังรักศรัทธา แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ ไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าห่วง เพราะปัจจุบันผู้เสพมีทั้งเด็กระดับประถม และผู้สูงอายุกว่า 70 ปี จึงมองว่าไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ ควรจะร่วมมือกันทุกภาคส่วน ที่สำคัญเป็นการสร้างความสามัคคีและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม
‘ก็อยากให้รัฐบาลหรือผู้บริหารระดับประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็ท้าให้ลงพื้นที่มาพิสูจน์ หากอยากรู้ว่าสิ่งที่ทำได้ผลจริงหรือไม่’ นายโสภณ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี