สภากทม. ถกประเด็นปัญหางบชุมชนเข้มแข็ง 2 แสนบาท หลักเกณฑ์-แนวปฏิบัติสับสน ประชาชนร้องเรียนไม่ได้ตามต้องการ
วันที่ 15 ม.ค.2568 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2568 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นางสาวทวิดากมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง
ที่ประชุมนายชัชชาติ ได้ส่งเอกสารรายงานผลการดำเนินการตามญัตติของ นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัยเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ต่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) โดยเฉพาะเรื่อง ประเด็นการตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อครุภัณฑ์ ประเด็นการบังคับใช้มาตรฐานครุภัณฑ์ของโครงการดังกล่าว ประเด็นการจัดหากล้องวงจรปิด ประเด็นพิจารณาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมต่างๆ เป็นต้น โดย นายชัชชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องเกิดการใช้เงินอย่างคล่องตัวและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อมีชุมชนตัวอย่างแล้ว ควรขยายไปชุมชนอื่น สิ่งสำคัญคือการสร้างชุมชนต้นแบบ และนำปัญหาต่างๆ มาแก้ไขให้ดีขึ้น
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก.เขตจอมทอง กล่าวว่า การกำหนดแนวทางการใช้งบประมาณต้องมีความชัดเจน ว่าสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง เนื่องจากหลายเขตไม่กล้าทำ เช่น การใช้งบประมาณโครงการชุมชนละ200,000 บาท บนที่ดินของหน่วยงานอื่น เป็นต้น
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือ ข้าราชการในชุมชนบางคนแยกไม่ออกระหว่างครุภัณฑ์กับที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เช่น ประชาชนอยากได้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์อนามัยชุมชนหรือพื้นที่กิจกรรม ข้าราชการบางคนมองว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นครุภัณฑ์สามารถเคลื่อนที่ได้ เนื่องจากแต่เดิมเคยจัดซื้อในนามครุภัณฑ์ แต่พอเป็นงบโครงการชุมชนละ 200,000 บาท กลับถูกตีความว่าเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลายเขตจึงยังไม่แน่ใจในหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของโครงการนี้ อีกเรื่องคือการนำสิ่งของที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาให้ ซึ่งไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ จึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้นจำนวนมาก
นายพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท กล่าวว่า การใช้งบประมาณโครงการนี้ต้องใช้พร้อมกันหรือไม่ เพราะแต่ละชุมชนจัดประชุมได้ไม่พร้อมกัน รวมถึงบางชุมชนไม่สามารถจัดประชุมได้ ขณะเดียวกัน ชุมชนที่พร้อมส่งเรื่องให้เขต แต่เขตบอกต้องรอให้ครบทุกชุมชน จึงจะวางฎีกา (ยื่นใบแจ้งขอเบิกเงินจากคลัง) ได้ จึงอยากทราบว่าแนวทางปฏิบัติของโครงการนี้เป็นอย่างไร
ด้าน นายศานนท์ ชี้แจงว่า ปัญหาดังกล่าวมี 2 เรื่องหลักคือ1.การเรียนรู้ระหว่างเขต จากหลักเกณฑ์ที่มีการปรับไป หลายเรื่องสามารถทำได้แล้ว แต่หลายสำนักงานเขตยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งมีการประชุมแนวดิ่งไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.2567 เพื่อกำหนดแนวทาง รวมถึงการกำหนด Best Practice (แนวปฏิบัติเพื่อความสำเร็จ) เช่น การนำความสำเร็จในการลอกท่อของเขตวังทองหลาง หรือการทำถนนที่เขตสายไหม มาเป็นตัวอย่างให้เขตอื่นเห็นว่าสามารถทำได้ ซึ่งมีหลายเขตที่เป็นตัวอย่างในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป 2.ในอนาคตมีแผนให้ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องผ่านสำนักงานเขต อยู่ระหว่างจัดทำแผนร่างข้อบัญญัติใหม่ร่วมกันระหว่างสภา กทม. และ กทม. มุ่งหวังให้เกิดขึ้นจริงในปีงบประมาณ 2569
ส่วนเรื่องการพิจารณาครุภัณฑ์หรือสิ่งปลูกสร้างและการได้ของที่ไม่ตรงตามต้องการ จะกลับไปทำความเข้าใจและกวดขันเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นมีแนวทางดำเนินการแล้ว เน้นทำตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนเรื่องต้องรอให้ทุกชุมชนพร้อมกันหรือไม่ เนื่องจากมีการท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ว่าการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งของคล้ายกันควรจัดซื้อในคราวเดียวกัน ทำให้แต่ละชุมชนต้องเปิดเวทีให้พร้อมกัน แล้วรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่คล้ายกันเพื่อจัดซื้อคราวเดียว จึงทำให้ต้องรอความพร้อมของแต่ละชุมชน โดยปี 2567 มีการเปิดเวทีครบ 100% แล้ว ส่วนความต้องการงบประมาณ 200,000 บาทขึ้นอยู่แต่ละชุมชน อย่างไรก็ตาม จะพยายามกวดขันเรื่องนี้ และทำให้โปร่งใสตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี