นายอำเภอป้ายแดง อ.สะเมิง เดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริงจากกรณีที่หญิงชาวเขา ต.บ่อแก้ว ป่วยโรคมะเร็งถูกหลอกกู้เงินธนาคาร จนเป็นหนี้เกือบ 3 แสน
วันที่ 15 มกราคม 2568 นายศิริพงษ์ นำภา นายอำเภอสะเมิง พร้อมด้วยปลัดอำเภอหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสะเมิง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อำเภอสะเมิงกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลบ่อแก้ว และตัวแทนจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ลงพื้นที่บ้านของนายจอพอ จุ๊ก่อ อายุ 64 ปี และนางจันดี จุ๊ก่อ อายุ 57 ปี สองสามีภรรยาชาวบ้านสบห้วยฟาน ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ นางจันดีฯ ที่ป่วยเป็นมะเร็ง และทั้งสองอ่านหนังสือไม่ออก หลังภรรยาถูกหลอกให้เซ็นเอกสารกู้เงินธนาคารแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2552 จนปัจจุบันเป็นหนี้สะสมเกือบ 3 แสนบาท
ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานไปยังนายดี นามสมมุติ หัวหน้ากลุ่มสมาชิกกู้เงิน และตัวแทนเจ้าหน้าที่ธนาคาร มาสอบถามรายละเอียดการขอสินเชื่อของนางจันดีฯ ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ได้พยายามสอบถาม นางจันดีฯ เพื่อความแน่ใจว่าได้เซ็นเอกสารการกู้เงินหรือไม่ นางจันดีฯตอบว่า เคยเซ็นเอกสารกู้เงินที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าให้กู้เงิน 5 พันบาทที่ธนาคารแต่ไม่ได้รับเงิน 5 พันบาทแต่อย่างใด และยืนยันว่าไม่เคยถอนเงินหรือถอนเงินจำนวน 150,000 บาทเลย จนมาทราบภายหลังจากการถูกธนาคารแจ้งว่าเป็นหนี้ธนาคาร
นายดี นามสมมุติ หัวหน้ากลุ่มกู้เงินได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า ตนเป็นหัวหน้ากลุ่มกู้เงินฯ ดูแลสมาชิกหลายกลุ่ม ในส่วนของกลุ่มของนางจันดีฯ มีสมาชิกรวมทั้งหมด 5 คน ในปี 2552 ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารรายล่ะ 150,000 บาท ลักษณะค้ำประกันซึ่งกันและกันและมีการร้องขอให้สมาชิกในกลุ่มช่วยเซ็นเอกสารเพื่อให้สินเชื่อที่ขอผ่าน โดยสมาชิกทั้งหมดมีการเซ็นเอกสารกันที่ธนาคารและนอกพื้นที่ หลังจากนั้นเมื่อสินเชื่อได้รับการอนุมัติ ธนาคารก็จะโอนเงินที่ขอสินเชื่อเข้าบัญชีธนาคารของสมาชิกแต่ล่ะรายอัตโนมัติหลังได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ส่วนเรื่องการเซ็นเอกสารของสินเชื่อของนางจันดีฯ ยืนยันว่าสมาชิกทุกคนต้องเซ็นเอกสารค้ำประกันให้สมาชิกในกลุ่ม แต่เรื่องเงินของนางจันดีฯที่ถูกถอนออกไปนั้นตนไม่ทราบ
ขณะที่ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากธนาคาร ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า มีการแอบอ้างว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารจะเปิดบัญชีธนาคารให้นางจันดีฯ 200 บาทนั้นประเด็นนี้การเปิดบัญชีธนาคาร เจ้าของบัญชีต้องไปเปิดบัญชีธนาคารเองที่ธนาคารเท่านั้นเนื่องจากต้องมาการเซ็นลายเซ็นสลักหลังบัญชีธนาคาร ซึ่งจากเจ้าหน้าที่ ต้องใช้ในการเทียบลายเซ็นขณะที่ถอนเงินทุกครั้ง พร้อมกับแนบบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบัญชี กรณีเงิน 150,000 ที่นางจันดีฯ กู้มา ก็ต้องไปตรวจสอบที่สัญญาเงินกู้ว่ามีใครเป็นคนยื่นเรื่อง และมีใครเป็นผู้ค้ำประกัน
ในส่วนของเงินที่เข้าบัญชีธนาคาร 150,000 บาท และเงินที่ถูกถอนออกจากบัญชี นางจันดีฯ 150,000 บาท ก็ต้องไปดูเอกสารการถอนเงินว่าเจ้าตัวได้เซ็นถอนเงินเองหรือมีการลงลายมือชื่อมอบฉันทะให้คนอื่นทำธุรกรรมแทนหรือไม่ หากมีการมอบฉันทะให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็จะรู้ว่าใครเป็นคนเบิกเงินแทนนางจันดีฯ ซึ่งในวันนี้ เจ้าหน้าที่หน้าธนาคารไม่สามารถนำเอกสารมายืนยันได้ เนื่องจากเป็นเอกสารข้อมูลส่วนบุคคล ต้องให้เจ้าของบัญชีร้องขอ หรือมีหนังสือจากศูนย์ดำรงธรรมยื่นขอ จึงสามารถนำเอกสารต่างๆออกมาแจกแจงได้
ด้านนายศิริพงษ์ นำภา นายอำเภอสะเมิง เปิดเผยว่า หลังจากมีข่าวกรณีนางจันดีฯ ตนเพิ่งรับตำแหน่งนายอำเภอได้ 2 วัน จึงได้เดินทางลงพื้นที่พร้อมปลัดอำเภอรับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสะเมิง เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์จากนางจันดีฯ ถึงที่บ้าน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจาการสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ได้ข้อเท็จจริงเป็นบางส่วนแต่ยังไม่เห็นเอกสารหลักฐานต่างๆทั้งสัญญาเงินกู้ เอกสารการถอนเงิน 150,000 บาท ของนางจันดีฯ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ยากในการสืบหาข้อเท็จจริงเนื่องจากผู้จัดการธนาคารได้ยืนยันแล้วว่า การขอสินเชื่อต่าง ๆ จากธนาคาร ต้องการมีเซ็นเอกสารและค้ำประกัน กันและกัน
รวมถึงระเบียบการถอนเงินจากธนาคารมีเอกสารที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้ จะได้สั่งการให้ปลัดอำเภอที่รับผิดชอบศูนย์ดำนงธรรมออกหนังสือเชิญ ผู้จัดการธนาคาร สมาชิกกลุ่มกู้เงิน กำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้ร้อง ไปพูดคุยที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนางจันดี โดยได้แจ้งให้ผู้จัดการธนาคารนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการธุรกรรมการเงินของ นางจันดี และของนายจอพอฯ ไปตรวจสอบ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
ขณะที่ นายวรพงษ์ มีทรัพย์กว้าง อนุกรรมการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่พูดคุยกับทุกฝ่ายแล้ว นางจันดี ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ธนาคารได้มาหาพูดจาให้ตนยอมรับสภาพหนี้ซึ่งคนในครอบครัวนางจันดีไม่ยอม ทำให้วันนี้ นางจันดี ไม่ยอมไปที่ อบต.บ่อแก้ว ตามคำเชิญของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จนในที่สุด ท่านนายอำเภอต้องมาสอบถามข้อมูลที่บ้าน นอกจากนี้ได้ยืนยันว่าตนเคยเอกสารในการกู้เงิน 5 พันบาทเมื่อปี 2552 จริง แต่ไม่ได้เงิน 5 พันบาท ในกรณีเงินกู้ 150,000 ผู้ร้องได้ย้ำหลายครั้งแล้วว่าไม่เคยได้กู้เงินและใช้เงินก้อนนี้แม้แต่บาทเดียว
ซึ่งหลังจากตรวจสอบเอกสารของนางจันดี พบว่า หลังบัญชีธนาคารเล่มแรกไม่มีร่องรอยลายมือชื่อของผู้ร้อง ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ว่า ผู้ร้องได้รับบัญชีธนาคารหลังจากที่เงิน 150,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารและออกจากบัญชีไปในวันเดียวกันเมื่อปี 2552 จึงไม่เข้าใจว่ามีการเบิกถอนเงินก้อนนี้ออกจากบัญชีได้อย่างไร และยังมีเอกสารอีกชุดหนึ่งที่ต้องใช้ควบคู่กับบัญชีธนาคารคือ สมุดคู่บัญชีเงินกู้ของนางจันดี ที่ต้องได้รับคืนพร้อมกับบัญชีธนาคารหากมีการกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งสมุดคู่บัญชีเงินกู้จะแสดงรายละเอียดต่างๆของสถานะของผู้กู้เช่นยอดติดค้าง ดอกเบี้ย และการชำระค่างวด เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร นำเอกสารการทำธุรกรรมการเงินของนางจันดีฯมามอบให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสะเมิง ก่อนถึงจะสามารถได้ข้อสรุปทั้งหมด และพิจารณาว่าจะมีการฟ้องร้องใคร
หลังจากเหตุกรณีดังกล่าวกับนางจันดี ได้มีผู้ได้รับผลกระทบอีกหลายพื้นที่ได้ติดต่อมา แต่อยากจะให้รวมตัวจำนวนมากแล้วพาไปร้องเรียนทันทีเลย ขณะเดียวกัน นโยบายของ ดร.วิเชียรชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสังคม ทางคดีแพ่งและอาญาอย่างเต็มที่ เพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงกฎหมาย และจะได้รับความเป็นธรรมต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี