รอบรั้วเมืองใต้ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับนี้ ผู้เขียนขอเข้าร่ายข่าวสังคม ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม ตามวิสัยคนหนังสือพิมพ์อาชีพ ที่เห็นมาอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น....
เรื่องของไฟใต้ หรือความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนของบีอาร์เอ็น ที่ผ่านมาแล้ว 20 ปี แต่ยังไม่มีสัญญาณ ว่าจะสามารถยุติปัญหาของไฟใต้ได้ในปี 2570 อย่างที่ฝ่ายความมั่นคง มีการตั้งเป้าเอาไว้ เพราะสถานการณ์ ในปี 2567 ที่เพิ่งจะผ่านไป ซึ่งมีการก่อการร้าย ในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ และงานการเมืองของบีอาร์เอ็นที่เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนของเอ็นจีโอต่างชาติ และองค์กรต่างๆ จากประเทศมหาอำนาจที่ให้การหนุนหลังขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นการบอกเหตุ ให้รับรู้ได้ว่าบีอาร์เอ็นยังคงเดินหน้าใช้ความรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ซึ่งล่าสุดพบว่ามีการวางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐบาลไทย ถึงปี’80 แล้ว.....
เรื่องของไฟใต้จึงยังเป็นปัญหาที่เป็นเหมือนทศนิยมที่ไม่รู้จบยิ่งได้ฟังนโยบายของรัฐบาล ผ่านทาง ภูมิธรรม เวชยชัยรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเสนาบดีกระทรวงกลาโหมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง นโยบายในการดับไฟใต้ โดยยังจะใช้นโยบายแบบเดิมๆ นั้นคือ ให้กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าดำเนินการโดยยึดสันติวิธีเป็นด้านหลัก และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำหน้าที่ด้านการพัฒนา ซึ่งนโยบายนี้ เป็นนโยบายที่ล้มเหลวมาตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อรัฐบาลยังเดินตามนโยบาย ที่เก่าๆ เดิมๆ โดยที่ไม่มีอะไรที่ใหม่กว่า ก็เท่ากับเดินไปสู่ความล้มเหลว และเดินไปตามเกมที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น เป็นผู้กำหนดเอาไว้แล้วนั้นเอง.....
ดังนั้นการที่ทักษิณ ชินวัตร ต้องออกโรง เดินทางไปพบกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย บนเรือยอชต์ ในน่านน้ำสากล ระหว่างไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เบี้องหน้าของข่าวสารที่ออกมาสู่สังคม คือเรื่องของการจับมือกับมาเลเซีย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการเมืองในประเทศกลุ่มอาเซียน ในฐานะ ที่ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย จะเป็นประธานอาเซียน และทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาของ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย แต่เบื้องลึก ของการหารือ ระหว่างคนทั้งสอง คือเรื่องของไฟใต้ ที่ลึกๆ ลงไป ทักษิณ ชินวัตร กำลังเข้ามามีบทบาทในการวางนโยบายในการดับไฟใต้ โดยผ่านการร่วมมือ จาก อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เพราะทักษิณ ชินวัตร ก็รับรู้เหมือนกับผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของไฟใต้ รับรู้ว่าการแก้ปัญหาของไฟใต้ ถ้าต้องการเห็นความสำเร็จต้องมาจากผู้นำประเทศของมาเลเซียต้องให้ความร่วมมือ.....
อย่าลืมว่าความรุนแรงของไฟใต้ระลอกใหม่ ปะทุขึ้นในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และการเริ่มมีการตกลงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกกลุ่ม เพื่อเปิดการเจรจาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งเกิดขึ้นในขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาว ของทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการเจรจาสันติภาพในครั้งนั้น แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเข้ามาดำเนินการในการสานต่อการเจรจาสันติภาพเป็นการพูดคุยสันติสุข ที่ 9 ปี ของการเป็นนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความก้าวหน้า ของการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย เป็นเพียงการพบปะ สร้างความเข้าใจ แต่ไม่มีผลสำเร็จ ถ้าเป็นการทำศึกสงคราม เป็นเพียงการขี่ม้าเลียบค่าย โดยไม่มีการประดาบเกิดขึ้น.....
ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตามอง ถึงความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาไฟใต้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ว่า ทักษิณ ชินวัตร จะให้นโยบาย ในการดับไฟใต้กับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย เสนาบดีกระทรวงกลาโหม อย่างไรกับการเจรจาสันติภาพ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อจากการพูดคุยสันติสุข ในยุคของลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการเจรจาสันติภาพ เพื่อสันติสุข...
ที่สำคัญใครจะมาทำหน้าที่ประธานฝ่ายเทคนิค แทน พล.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ อดีตแม่ทัพน้อยที่ 4 และใครจะมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแทนฉัตรชัย บางชวด ที่วันนี้อยู่ในตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ซึ่งทั้งสองตำแหน่งต้องเป็นคนที่ทักษิณ ชินวัตร ไว้วางใจ และเป็นไปตามใบสั่ง ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ต้องการ ดังนั้นในปี 2568 ทุกฝ่ายต้องเกาะติด เรื่องของไฟใต้ ที่ต้องมีการขับเคลื่อน ในเรื่องของการเจรจารอบใหม่ระหว่าง รัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น โดยมี อันวาร์ อิบราฮิบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เข้ามามีบทบาท ในการปฏิบัติการ นอกกรอบมากขึ้น....